การปฏิบัติตนเมื่อเป็นวัณโรค
ที่มา : คู่มือรู้ทันโรคและภัยสุขภาพสำหรับประชาชน โดยสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
แฟ้มภาพ
วัณโรค ติดต่อโดยการสูดอากาศที่มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไป ซึ่งเชื้อโรคชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษ คนส่วนใหญ่มักคิดว่าวัณโรคเป็นโรคเกี่ยวกับปอด แต่ความจริงแล้ว เป็นได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย
วัณโรค เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เล็กมาก คือเชื้อ Mycobacterium tuberculosis ติดต่อโดยการสูดอากาศที่มีตัวเชื้อนี้เข้าไป ซึ่งเชื้อโรคชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีความคงทนต่ออากาศแห้ง ความเย็น ความร้อน สารเคมี และอยู่ในอากาศได้นาน ยกเว้นไม่ทนทานต่อแสงแดด คนส่วนใหญ่มักคิดว่าวัณโรคเป็นโรคเกี่ยวกับปอด แต่ความจริงแล้ว เป็นได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น ที่ต่อมน้ำเหลือง กระดูก เยื่อหุ้มสมอง ปอด แต่ที่พบและเป็นปัญหามากที่สุดในปัจจุบันคือ “วัณโรคปอด” มักพบในคนแก่ คนที่ร่างกายอ่อนแอจากการเป็นโรคอื่น ๆ มาก่อน เช่น หวัด หัด ไอกรน และโรคเอดส์ และในคนที่ตรากตรำทำงานหนัก พักผ่อนไม่พอ ขาดอาหาร ดื่มเหล้าจัด หรือในคนที่มีประวัติใกล้ชิดกับคนที่เป็นโรค เช่น นอนห้องเดียวกัน หรืออยู่บ้านเดียวกัน และพบว่าผู้ป่วยโรคเอดส์เป็นวัณโรคแทรกซ้อนกันมาก และทำให้วัณโรคที่เคยลดลงมีการแพร่กระจายมากขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะทำให้แพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากติดต่อได้ง่ายโดยระบบทางเดินหายใจและมีอันตรายถึงชีวิต
อาการของวัณโรค : ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ บางรายไอแห้งๆ บางรายอาจมีเสมหะสีเหลือง เขียว หรือไอปนเลือด เจ็บ แน่นหน้าอก มีไข้ต่ำ ๆ ตอนบ่ายหรือเย็น เหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
การปฏิบัติตนเมื่อเป็นวัณโรค
- กินยาตามชนิดและขนาดที่แพทย์สั่งให้อย่างสม่ำเสมอจนครบกำหนด
- หลังกินยาไประยะหนึ่ง อาการไอและอาการทั่ว ๆ ไปจะดีขึ้น อย่าหยุดกินยาเด็ดขาด
- ควรงดสิ่งเสพติดทุกชนิด เช่น เหล้า บุหรี่ ฯลฯ
- สวมผ้าปิดจมูก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น
- เปลี่ยนผ้าปิดจมูกที่สวมบ่อย ๆ เพราะผ้าปิดจมูกเองก็เป็นพาหะได้เช่นกัน
- บ้วนเสมหะลงในภาชนะหรือกระป๋องที่มีฝาปิดมิดชิด
- จัดบ้านให้อากาศถ่ายเทสะดวก ให้แสงแดดส่องถึงและหมั่นนำเครื่องนอนออกตากแดด
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ได้ทุกชนิด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ เนื้อปลา นม ไข่ ผักและผลไม้
- นอนกลางวันอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง เพื่อนำโปรตีนจากอาหารเข้าไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
- ไม่เที่ยวในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด เพราะอาจนำเชื้อไปแพร่ให้ผู้อื่น หรือติดเชื้อโรคจากผู้อื่นเข้าสู่ร่างกายเพิ่มเติม
- ในระยะ 2 เดือนแรกหลังจากเริ่มการรักษา (เรียกว่า “ระยะแพร่เชื้อโรค”) ผู้ป่วยควรจะนอนในห้องที่มีอากาศถ่ายเท และนอนแยกห้องกับสมาชิกในครอบครัว รวมไปถึงการรับประทานอาหาร การใช้ถ้วยชามและเสื้อผ้าควรแยกล้าง หรือแยกซักต่างหาก และต้องนำไปตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค
- หลังจากแพทย์ลงความเห็นว่าพ้นจากระยะแพร่เชื้อโรคแล้ว ผู้ป่วยสามารถกลับมาทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวได้ดังเช่นเดิม เช่น การนอน การรับประทานอาหาร และซักผ้าร่วมกับสมาชิกผู้อื่น โดยในระยะนี้ผู้ป่วยต้องต้านทานยาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 4 เดือน (โรควัณโรคจะต้องใช้เวลาในการรักษาระยะสั้นที่สุด 6 เดือน ยาวที่สุด 1-2 ปี)