“การตลาดขนมเด็ก” ยุติปัญหาเด็กอ้วนล้นโลก

รัฐต้องควบคุมการขายอาหารคุณค่าโภชนาการต่ำแก่เด็ก

“การตลาดขนมเด็ก” ยุติปัญหาเด็กอ้วนล้นโลก 

          แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ(คคส.)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการประชุมนานาชาติเรื่อง ASEAN Coference on Marketing of Food to Children ระหว่างวันที่ 28-29 กุมภาพันธ์ 2551 ณ กรุงเทพฯ โดยร่วมมือกับองค์กรภาคีในประทศ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กรมประชาสัมพันธ์, หน่วยปฎิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หน่วยงานร่วมจัดงานจากต่างประเทศประกอบด้วย the International Association for the Study of Obesity(IASO), UK National HeartForum, Consumers International(CI) and South East Asian Consumer Council (SEACC) โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

 

          การจัดประชุมนานาชาติครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้ในเรื่องกฎเกณฑ์หรือมาตรการดูแลการตลาดในอาหารที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ ASEAN และเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะของประเทศต่างๆ  โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 150 คน ทั้งในประเทศและต่างประเทศคือประเทศสมาชิกอาเซียน, ผู้แทนองค์การอนามัยโลก(WHO/SEARO), อังกฤษ, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย ซึ่งมาจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคสุขภาพอนามัยเด็ก สื่อโฆษณาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักวิชาการผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน เนื้อหาหลักจะเป็นเรื่องการนำเสนอสภาพปัญหาและแนวทางออกเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพเด็กจากการทำตลาดหรือกิจกรรมส่งเสริมการขายอาหารในกลุ่มเด็กของภาคธุรกิจ ซึ่งกระตุ้นให้มีการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำหรืออาหารที่อาจเป็นโทษแก่ร่างกายเมื่อบริโภคในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น

 

          ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์เกี่ยวกับสภาพปัญหาหรือผลกระทบของการส่งเสริมการขายอาหารที่มีผลกระทบต่อเด็กในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในระยะสั้นและระยะยาวรวมถึงแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศต่างๆ ดูตัวอย่าง เช่น ข้อมูลการวิจัยขององค์การอนามัยโลก(WHO/SEARO) ที่ระบุว่าประเทศไทยมีผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักมากเกินมาตรฐานในลำดับต้นๆ ของเอเชีย สัดส่วนสูงร้อยละ 38 ซึ่งสูงกว่าประเทศอินโดนีเซีย ศรีลังกา หรือเนปาล และยังมีการศึกษาวิจัยที่คาดการณ์ภาวะโรคอ้วนในช่วงปี ค.ศ.2000-2030 เปรียบเทียบระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาพบว่า ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนามีอัตราส่วนของคนเป็นโรคอ้วนสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว

 

          ที่ประชุมมีความเห็นสอดคล้องกันว่า การส่งเสริมการขายหรือการตลาดอาหารที่ให้พลังงานสูงแต่คุณค่าทางโภชนาการต่ำ(energy – dense nutrien poor – EDNP) เช่น อาหารที่มีรสหวาน มัน เค็มจัด จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก ผู้เข้าร่วมประชุมจึงเห็นพ้องกันในการจัดทำ “คำประกาศกรุงเทพฯ” (Bangkok Call to Action) ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปคือ หน่วยงานภาครัฐจะต้องมีการควบคุมการส่งเสริมการขายอาหารที่ให้พลังงานสูงแต่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำทุกรูปแบบแก่เด็กที่ไม่เกิน 18 ปี

 

โดยรัฐบาลจะต้องออกกฎหมายควบคุมรูปแบบและวิธีการตลาดอาหารที่มุ่งเป้าไปยังเด็ก, สนับสนุนให้มีฉลากโภชนาการที่ผู้บริโภคเข้าใจง่าย, มีการตรวจสอบ เฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และสนับสนุนการให้ความรู้แก่เด็กในโรงเรียนเพื่อให้เห็นพิษภัยของการโฆษณา การตลาดอาหารดังกล่าว นอกจากนั้น ผู้ประกอบธุรกิจไม่ควรโหมรณรงค์ในการส่งเสริมการขายอาหารประเภทนี้แก่เด็ก ด้านของภาคประชาสังคม กลุ่มผู้บริโภค เครือข่ายนักวิชาการจะต้องให้การสนับสนุนการควบคุมการตลาดในอาหารและเครื่องดื่มที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นเด็ก ข้อสำคัญคือการประสานความร่วมมือของหน่วยงานระหว่างประเทศคือ องค์กรอนามัยโลก, คณะทำงานโภชนาการของสหประชาชาติ, UN FAO, Codex Alimentarius, องค์การการค้าโลก(WTO) และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการจัดทำ “เกณฑ์จริยธรรม ว่าด้วยการตลาดอาหารและเครื่องดื่มต่อเด็กในระดับสากล” (Internation Code of Marketing of Foods and Beverages to Children) ซึ่งมีผลบังคับในระดับสากลและสามารถปกป้องเด็กจากการตลาดข้ามพรมแดน

         

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

 

 

Update:29-07-51

Shares:
QR Code :
QR Code