การคุกคามทางเพศ ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

การคุกคามทางเพศ ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม thaihealth


ยังมีคนอีกไม่น้อย ที่เข้าใจว่า “การคุกคามทางเพศ”หมายถึงการ “ล่วงละเมิด ข่มขืนผู้อื่นอย่างไม่เต็มใจ” ซึ่งในความหมายที่แท้จริงนั้น มิได้มีความหมายรุนแรงถึงขนาดนั้น แต่ คำว่า “คุกคามทางเพศ” มีความละเอียดอ่อนมากกว่า มีเจตนารมณ์ที่จะยุติความรุนแรงทางเพศและมีเป้าหมายเพื่อสร้างพฤติกรรมที่ดีให้กับสังคมระหว่างเพศ


“การคุกคามทางเพศ” ถือเป็นปัญหาหนึ่งในสังคม แม้จะเป็นการกระทำที่อาจจะไม่ได้ส่งผลรุนแรงทางด้านร่างกาย แต่เป็นการล่วงเกินทางด้านวาจา สายตา การกระทำ รวมไปถึงการแสดงออกทั่วไปที่มีลักษณะเข้าข่ายการคุกคามทางเพศ ที่ดูแล้วขาดความงดงาม เช่น การฉวยโอกาส สัมผัสร่างกายผู้อื่นอย่างมีนัยทางเพศ การตั้งใจยืนหรือนั่งใกล้ชิดเกินไป การพูดจาหยอกล้อหยาบคาย พูดเกี้ยวพาราสี การใช้สายตาลวนลาม เป็นต้น โดยที่การกระทำของ “ผู้กระทำ”เป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์แก่ผู้ถูกกระทำ


จึงเป็นที่มาของ “โครงการป้องปรามและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในการทำงาน” โดยความร่วมมือขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กับมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร และแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้มีการศึกษาและริเริ่มโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา


ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานส่งเสริมสุขภาวะผู้หญิงฯ เล่าว่า โจทย์ข้อแรก คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับพนักงานในองค์กร ได้มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นและตระหนักว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งในการดำเนินงานช่วงปีแรกๆ ได้เริ่มขึ้นในองค์การขนส่งฯ ที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องปรามและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน โดยมีผู้แทนประสานงานกองและผู้แทนสายการเดินรถ (ตาสับปะรดประจำสาย) ดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนงานให้มีประสิทธิภาพ แต่ถึงแม้ว่าจะมีนโยบายที่ชัดเจนก็ยังพบปัญหาว่า มีช่องว่างในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการรับเรื่องร้องเรียน จึงนำมาสู่การจัดทำนโยบายและระเบียบปฏิบัติที่สมบูรณ์และรัดกุมเพื่อมอบให้กับผู้บริหาร และพร้อมจะประกาศใช้ ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายนเป็นต้นไป ล่าสุดได้จัด“พิธีมอบนโยบายและแนวปฏิบัติเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ขสมก.” ขึ้น ณ อาคารการคุกคามทางเพศ ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม thaihealthสำนักงานใหญ่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


นางสาวศิริพร บุญเปี่ยม ผู้อำนวยการสำนักบริหารการเดินรถ และประธานคณะกรรมการป้องปรามฯ เล่าว่า นโยบายฉบับนี้จะเป็นแนวทางการปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับผู้ถูกคุกคามทางเพศ โดยมีช่องทางการร้องเรียน, มาตรการลงโทษผู้กระทำผิด, มาตรการเยียวยาผู้ร้องเรียน รวมทั้งส่งเสริมให้พนักงานมีความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในทิศทางเดียวกัน


“ที่ผ่านมาผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ต้องการให้ผู้กระทำผิดวินัยได้รับโทษที่รุนแรง เพียงแค่ต้องการให้หยุดการกระทำเท่านั้น” ประธานคณะกรรมการป้องปรามฯยืนยัน เพิ่มเติม


ปัจจุบันการ คุกคามทางเพศ มิได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะในองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เท่านั้น แต่ในสถานที่อื่นๆ ยังคงมีปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ถูกซุกซ่อนเอาไว้


นางสาวนัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าวเสริมยืนยันว่า การถูกคุกคามทางเพศในองค์กรไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะใน ขสมก. เท่านั้น แต่เชื่อเหลือเกินว่า มีอยู่ในทุกองค์กร เพียงแต่มันแก้ไขยากตรงที่ไม่มีพยาน หลักฐาน หรือคนที่มาช่วยยุติปัญหา โดยเฉพาะในที่ทำงานที่มีความกดดันเรื่องของอำนาจระหว่างหัวหน้างานกับลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงาน และโดยเฉพาะระหว่างเพศ เพราะผู้หญิงจะต้องอายกว่าผู้ชาย จึงกลายเป็นปัญหาที่ถูกซุกเอาไว้


“การแก้ปัญหาเหล่านี้สำคัญที่สุดคือการสร้างความตระหนักของทุกคนในองค์กร ตั้งแต่ระดับบริหาร ไปจนถึงระดับพนักงาน มันถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะเรื่องการคุกคามทางเพศที่เราอาจจะเคยมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยนี้หากปล่อยปละละเลย มันจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานในอนาคตอย่างแน่นอน”


เมื่อมองกันลึกๆ ดังที่กล่าวมานี้ ทำให้เห็นว่าการคุกคามทางเพศในที่ทำงานเป็นปัญหาของทุกคน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง ซึ่งถ้าทุกคนมีความเข้าใจ ตระหนักรู้และช่วยกันดูแลจัดการ ก็จะเกิดผลลัพธ์ที่ดี และยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ปรากฏขึ้นในองค์กรแต่ละแห่งอีกด้วย


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code