ประกาศ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
เรื่อง การคัดเลือกร้านอาหารเพื่อสุขภาพ SOOK CANTEEN
๑. ความเป็นมา
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่เบิกบานแจ่มใส และอยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมต่อการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ในช่วง ๑๖ ปีที่ผ่านมา สสส. ได้สนับสนุนให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพในหลายด้าน เช่น การเพิ่มพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ ร่วมผลักดันกฏหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สวดมนต์ข้ามปี (เพื่อลดการดื่ม) ส่งเสริมการออกกำลังกาย ฯลฯ รวมถึงการรณรงค์สื่อสารเพื่อปรับพฤติกรรมเสี่ยง อาทิ “ให้เหล้า = แช่ง”, “แค่ขยับ = ออกกำลังกาย”, “บุหรี่ เลิกยาก…แต่เลิกได้”, “ลดพุง ลดโรค” เป็นต้น ซึ่งมีส่วนช่วยปรับเปลี่ยนทัศนคติและส่งผลให้ประชาชนมีพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตามผลงานต่างๆ รวมถึงข้อมูลองค์ความรู้จากการดำเนินงานของ สสส. ที่มีเป็นจำนวนมาก ยังถูกจำกัดขอบเขตการใช้ประโยชน์ อันเนื่องจากความจำกัดของช่องทางการเผยแพร่ สสส. จึงได้เปิดดำเนินการอาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะขึ้นน ตั้งอยู่เลขที่ ๙๙/๘ ซอยงามดูพลี ถนนพระรามสี่ กรุงเทพฯ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสุขภาวะแบบ องค์รวมทั้ง ๔ มิติ คือ ด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสุขภาวะทางปัญญา โดยนำองค์ความรู้จากการทำงานของ สสส. และภาคีกว่า ๑๖ ปี มานำเสนอผ่านหลากหลายช่องทาง ได้แก่ นิทรรศการและกิจกรรมประกอบนิทรรศการ การให้บริการห้องสมุดสร้างปัญญา การฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ การเยี่ยมชมศึกษา ดูงานอาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะที่ออกแบบอาคารเพื่อให้สามารถสื่อสารและส่งเสริมการดูแลสุขภาพ เป็นต้น “ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ” เกิดขึ้นจากแนวคิด “ทุกพื้นที่คือการเรียนรู้” โดยมุ่งสร้างประสบการณ์ แรงบันดาลใจ ตลอดจนพัฒนาทักษะและเสริมสร้างความสามารถ อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมไปสู่การมีสุขภาวะอย่างยั่งยืนด้วยตนเอง ทั้งนี้ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะได้เปิดให้บริการแก่สาธารณชนมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ กว่า ๑๒๕,๙๗๐ คน (ข้อมูล ตุลาคม ๒๕๖๑ – กันยายน ๒๕๖๒) และจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมประมาณวันละ ๗๐ – ๒๐๐ คน
ในปี พ.ศ.๒๕๕๘ ศูนย์เรียนรู้ฯ ได้มีแนวคิดในการจัดทำพื้นที่เรียนรู้ด้านร้านอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อให้บริการอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งเสริมสุขภาพ คือ มีความสะอาด มีคุณภาพ ถูกหลักโภชนาการ ราคาเหมาะสม มีการแสดงปริมาณแคลอรี่ในอาหาร และเป็นพื้นที่สร้างการเรียนรู้ด้านอาหารและโภชนาการผ่านประสบการณ์จริงของผู้มาใช้บริการ รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาเมนูสุขภาพให้ผู้ใช้บริการสามารถนำกลับไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวันของตนเอง ครอบครัว และขยายผลไปสู่สังคมโดยรวม โดยปัจจุบันมีผู้เข้าใช้บริการร้านอาหารโดยเฉลี่ย ๔๐๐ คนต่อวัน
ทั้งนี้ สสส. ตระหนักถึงความสำคัญ ในการบริหารจัดการธุรกิจอาหารและโภชนาการ ที่ต้องอาศัยบุคลากร ที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ตรง มีความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของอาหารต่อสุขภาพ และมีทักษะความสามารถในการบริหารจัดการร้านอาหาร และการพัฒนาเมนูอาหารเพื่อสุขภาพที่มีความหลากหลาย จึงเป็นที่มาของการจัดให้มีกระบวนการคัดเลือกผู้บริหารจัดการร้านอาหารเพื่อสุขภาพในศูนย์เรียนรู้สุขภาวะของ สสส. ในครั้งนี้
๒. วัตถุประสงค์
๒.๑ เพื่อจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีคุณภาพความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค
๒.๒ เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพที่ผู้บริโภคสามารถนำกลับไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
๒.๓ เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงด้านอาหารเพื่อสุขภาวะที่สอดคล้องวิถีชีวิต (Lifestyle) ของผู้บริโภค
๓. รายละเอียดพื้นที่และครุภัณฑ์
๓.๑ พื้นที่ประมาณ ๒๕๐ ตารางเมตร โดยมี ๑๗๒ ที่นั่งพร้อมโต๊ะรับประทานอาหาร ประกอบด้วย
๑. โซนอาหารตามสั่ง
๒. โซนก๋วยเตี๋ยว
๓. โซนอาหารปรุงสำเร็จ (ข้าวราดแกง)
๔. โซนสลัดบาร์
๕. โซนผักผลไม้สด
๖. โซนยำ/ส้มตำ
๗. โซนขนมหวานไทย (น้ำแข็งใส/ขนมน้ำกะทิ)
๘. โซนตู้แช่ ประกอบด้วย เบเกอรี่เพื่อสุขภาพ ผลไม้พร้อมทาน ฯลฯ
๓.๒ สสส.จะให้การสนับสนุนพื้นที่ และครุภัณฑ์ (ที่มีอยู่เดิม เช่น อุปกรณ์เครื่องครัว ชุดจานชามช้อนตามรายการที่จะแสดงให้ทราบ) โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อส่งเสริมการจำหน่ายและบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพในราคาที่เหมาะสม โดยใช้วัตถุดิบที่มีความสะอาดปลอดภัยตามที่กำหนด ทั้งนี้ผู้เสนอต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการบริหารจัดการธุรกิจอาหาร ระบบการจัดการขยะ การดูแลความสะอาดบริเวณพื้นที่โดยรอบ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในพื้นที่ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าแก๊ส ค่าวัตถุดิบ อุปกรณ์ประกอบอาหาร เป็นต้น
๔. ข้อกำหนด
๔.๑ ระยะเวลาเปิดดำเนินการ :
– วันจันทร์ – วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐ – ๑๖.๓๐ น.
– วันเสาร์ ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐ – ๑๖.๐๐ น.
๔.๒ ราคาจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพแต่ละชนิดให้เป็นไปในราคาที่เหมาะสม โดยมีข้อกำหนดดังนี้
๔.๒.๑ อาหารเพื่อสุขภาพสำหรับบุคคลทั่วไป (แสดงรายการเมนูอาหารที่จะจำหน่ายทั้งหมดประจำสัปดาห์ พร้อมทั้งต้องมีการเปลี่ยนหมุนเวียนเมนูอาหารไปจากเดิมอย่างน้อย ๒๐% ของทุกสัปดาห์)
-ข้าวราดแกง ๑ อย่าง ราคา ๓๕ บาท, ๒ อย่าง ๔๐ บาท, ๓ อย่าง ๔๕ บาท
-ก๋วยเตี๋ยว ราคา ๓๕-๔๕ บาท
-สลัดบาร์ ถ้วยเล็ก (ขนาด ๕ นิ้ว) ไม่เกิน ๓๐ บาท
-มีผักสดพื้นบ้านตามฤดูกาล และแกงจืดให้ตักรับประทานได้ฟรี โดยไม่คิดเงินเพิ่ม
ในกรณีที่มีการขายอาหารตามสั่งหรือเมนูพิเศษที่ไม่เป็นไปตามราคานี้ ขอให้ร้านค้าตั้งป้ายแสดงราคาอย่างชัดเจนพร้อมแจ้งให้ผู้บริโภคทราบก่อนเลือกซื้อ
๔.๒.๒ อาหารเพื่อสุขภาพสำหรับเด็กและเยาวชน (กรณีที่มีเข้าชมนิทรรศการเป็นหมู่คณะ) ราคา ๒๕ – ๓๐ บาท
๔.๓ อาหารที่จำหน่ายต้องคำนึงถึงอาหารเพื่อสุขภาพเป็นหลัก โดยวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารต้องเป็นวัตถุดิบที่สด สะอาด มีคุณภาพดี และมีความปลอดภัย เช่น การใช้ข้าวปลอดสารพิษหรืออินทรีย์ ผักและผลไม้ตามฤดูกาลที่มีการล้างทำความสะอาดอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งต้องทำงานร่วมกับ สสส.ในการวิเคราะห์และแสดงข้อมูลพลังงานของอาหารเป็นแคลอรี่ในแต่ละเมนูอาหาร
๔.๔ ประเภทอาหารเพื่อสุขภาพที่จำหน่ายต้องครอบคลุมถึง อาหารข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง อาหารประเภทเส้น ขนมหวานไทย (น้ำแข็งใส/ขนมน้ำกะทิ) ผลไม้ เบเกอรี่เพื่อสุขภาพ อาหารมังสวิรัติ และงดขายเครื่องดื่มทุกชนิด อาหารทุกเมนูที่จัดทำต้องมีรสชาติอร่อย โดยปรุงรสไม่ให้หวาน มัน หรือเค็มจนเกินไป โดยผู้ประกอบการและทีมงานจะต้องผ่านการอบรมตามที่ สสส.จัดให้ และผู้ประกอบการและทีมงานต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมอนามัย (ข้อมูลอ้างอิงตาม link http://foodsan.anamai.moph.go.th/main.php?filename=standard_cfgt )
๔.๕ อาหารพร้อมรับประทาน เช่น แซนวิช ผลไม้ตัดแต่งพร้อมทาน ขนม รวมทั้งผัก-ผลไม้สด ต้องมีการติดราคา และอาหารที่มีอายุในการบริโภคจำกัด เช่น แซนวิช จะต้องติดฉลากแสดงข้อมูลวันที่ผลิตและวันที่หมดอายุ
๔.๖ ผู้ได้รับคัดเลือกต้องดำเนินการจัดระบบการจัดการขยะในพื้นที่ที่รับผิดชอบ โดยมีข้อตกลงและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการจัดการและขนย้ายขยะที่เกิดจากการจัดบริการอาหาร ร่วมกับการจัดการขยะของ สสส.
๔.๗ ระบบการชำระเงินภายในร้านอาหารเป็นรูปแบบของบัตรเติมเงิน และเงินสด ทั้งนี้ ในส่วนของการใช้ระบบบัตรเติมเงิน สสส. จะเป็นผู้ดำเนินการอบรมการใช้งานและการบำรุงรักษาอุปกรณ์ระบบบัตรเติมเงินให้จำนวน ๑ ครั้ง จึงขอให้ผู้ได้รับคัดเลือกจัดหาพนักงานเข้ารับการฝึกอบรมและกำกับดูแลให้มีการใช้และการบำรุงรักษาอุปกรณ์อย่างถูกต้อง
๔.๘ ผู้เสนอจะต้องดูแลรักษาความสะอาดพื้นที่ดำเนินงานและดูแลครุภัณฑ์ของสำนักงานไม่ให้เกิดความเสียหายตามแนวทางปฏิบัติของงานอาคาร
๔.๙ ผู้ได้รับคัดเลือกจำเป็นต้องบริหารจัดการด้านพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
๔.๑๐ การแต่งกายของผู้ประกอบการต้องถูกต้องตามหลักสุขอนามัย ได้แก่ สวมหมวกและผ้ากันเปื้อน การใส่ผ้าปิดปากสำหรับผู้ให้บริการอาหารหน้าร้าน
๔.๑๑ ผู้ประกอบการเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ต่อไปนี้ ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าแก๊ส โดย สสส. มีมิเตอร์แยกตามรายละเอียดในภาคผนวก
๕. คุณสมบัติผู้เสนอ
๕.๑ เป็นบุคคลธรรมดาที่บรรลุนิติภาวะแล้ว หรือเป็นคณะบุคคล นิติบุคคล ตามกฎหมายที่จดทะเบียนในประเทศไทย
๕.๒ มีบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการดำเนินงานด้านการผลิต จำหน่าย และบริหารจัดการธุรกิจอาหาร อย่างน้อย ๑ ปี (แสดงเอกสารใบประกอบการฯเพื่อใช้ในการพิจารณา) และต้องเป็นผู้ดำเนินการเองโดยไม่จัดจ้าง/แบ่งย่อยให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทน/ดำเนินการร่วม
๕.๓ ต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงานของทางราชการและได้แจ้งเวียนชื่อแล้ว หรือไม่เป็นผู้ที่ได้รับผลของการสั่งให้นิติบุคคลหรือบุคคลอื่นเป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการ
๕.๔ ต้องไม่เป็นผู้ที่ได้รับเอกสิทธิหรือความคุ้มกันซึ่งอาจปฏิเสธไม่ยอมขึ้นศาลไทย เว้นแต่รัฐบาลของผู้เสนอได้มีคำสั่งให้สละสิทธิความคุ้มกันเช่นว่านั้น
๕.๕ ต้องไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันกับผู้เสนอรายอื่น ณ วันที่ประกาศรับข้อเสนอ
๖. เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก
ขั้นตอนที่ ๑ คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโดยตรวจสอบคุณสมบัติของร้านค้าจากเอกสารที่นำส่งไว้ น้ำหนักรวม ๑๐๐ คะแนน โดยจะคัดเลือกร้านค้าที่มีคะแนนรวมสูงสูดไม่เกิน ๓ ราย ประกอบด้วย
๖.๑ ประวัติและมีประสบการณ์การดำเนินงานด้านการผลิต จำหน่าย หรือบริหารจัดการธุรกิจอาหาร และสามารถอ้างอิงธุรกิจที่ดำเนินการจำหน่ายอาหารในปัจจุบันได้ น้ำหนัก ๒๐ คะแนน
๖.๒ แผนการบริหารจัดการ น้ำหนัก ๗๐ คะแนน ดังนี้
๖.๒.๑ แผนการดำเนินงานตามข้อกำหนด (๓๐ คะแนน)
๖.๒.๒ แผนการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ การประกอบอาหาร และแหล่งที่มาของวัตถุดิบ (๒๐ คะแนน)
๖.๒.๓ แผนระบบการจัดการขยะภายในพื้นที่ดำเนินการ (๑๐ คะแนน)
๖.๒.๔ แผนกำลังคน (๑๐ คะแนน)
๖.๓ ข้อเสนอพิเศษอื่นๆ ( เช่น โปรโมชั่น หรือ กิจกรรมพิเศษ) น้ำหนัก ๑๐ คะแนน
ขั้นตอนที่ ๒ คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกกำหนดให้ร้านค้าที่ผ่านการคัดเลือกขั้นตอนที่ ๑ นำเสนอรายการอาหารที่จัดจำหน่าย ตัดสินผลการคัดเลือกโดยพิจารณาจากการลงคะแนนโหวตของเจ้าหน้าที่ทั้งองค์กร โดยมีหลักเกณฑ์คือผู้ชนะต้องได้คะแนนโหวตสูงสุด เว้นแต่มีผู้ได้รับคะแนนโหวตเท่ากัน คณะกรรมการจะพิจารณาตัดสินอีกครั้ง
ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าสู่ขั้นตอนที่ ๒ ของการคัดเลือก ต้องจัดเตรียมอาหารตามประเภทที่จะมีการจำหน่ายจริงใน SOOK Canteen ดังนี้
๑. ข้าวเปล่า และกับข้าว อย่างน้อย ๒ รายการ
๒. ก๋วยเตี๋ยว
๓. ขนมไทย
หมายเหตุ
๑. เจ้าหน้าที่ สสส.ที่จะโหวตจำนวนประมาณ ๒๐๐ คน ดังนั้น คณะกรรมการจะแจ้งจำนวนผู้รับบริการอาหารให้ผู้ผ่านการพิจารณาขั้นตอนที่ ๑ แต่ละรายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน (คาดว่าขั้นตอนที่ ๒ จะดำเนินการภายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๓)
๒. สสส.จะสนับสนุนงบประมาณในการจัดเตรียมอาหารให้กับผู้ผ่านการคัดเลือกขั้นตอนที่ ๑ หัวละ ๒๐๐ บาท
๓. ผู้ผ่านการคัดเลือกขั้นตอนที่ ๑ ต้องจัดเตรียมภาชนะบรรจุอาหารส่วนกลาง (เช่น ถาดใหญ่,หม้อต้มก๋วยเตี๋ยวและถังแก๊ส) พร้อมทั้งผู้ให้บริการอาหาร (บุฟเฟ่ต์) โดย สสส.จัดเตรียมภาชนะและอุปกรณ์สำหรับรับประทานอาหารรายบุคคล
๗. รูปแบบการนำเสนอ และระยะเวลาการพิจารณา
๗.๑ ผู้ประสงค์ที่จะเข้าร่วมเสนองาน โปรดแสดงความจำนง โดยระบุชื่อร้านค้า พร้อมชื่อและนามสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์มือถือที่สามารถติดต่อได้ โดยลงทะเบียนผ่านทาง E-mail โดยลงทะเบียนผ่านทาง E-mail: [email protected] ตั้งแต่วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๓ – ๓๐ เมษายน ๒๕๖๓
๗.๒ ชี้แจงรายละเอียดขอบเขตงาน วันอังคารที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ตั้งแต่เวลา ๑๓.๓๐ น. เป็นต้นไป ณ ห้องประชุม ๓๐๒ สสส. อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ เลขที่ ๙๙/๘ ซอยงามดูพลี ทุ่งมหาเมฆ สาทร กทม.๑๐๑๒๐
๗.๓ ยื่นซองเอกสารวันอังคารที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐ น.ถึง ๑๒.๐๐ น. (วันเดียวเท่านั้น) ที่ ศูนย์ธุรการ (ชั้นB1) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ เลขที่ ๙๙/๘ ซอยงามดูพลี ทุ่งมหาเมฆ สาทร กทม. ๑๐๑๒๐
เอกสารระบุหน้าซองเอกสารให้ชัดเจนว่า “งานคัดเลือกร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ” และจัดทำเอกสารโดยแยกเอกสารออกเป็น ๑ ชุด ตามรายละเอียด ดังนี้
๗.๓.๑ ข้อมูลนำเสนอ (ตามเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อ ๖)
– เมนูอาหารที่จะจัดจำหน่าย พร้อมระบุราคา ได้แก่ ประเภท คุณภาพ ปริมาณ ราคา และรสชาติ ทั้งนี้ ขอให้มีการนำอาหารตัวอย่าง มาจัดแสดงต่อกรรมการ จำนวน ๑ – ๒ เมนู
– แผนการบริหารจัดการ
– แผนระบบการจัดการขยะภายในพื้นที่ที่รับผิดชอบ
– แผนการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ การประกอบอาหาร และแหล่งที่มาของวัตถุดิบ เช่น ไม่นำของค้างคืนมาขายในวันถัดไป ไม่นำวัตถุดิบที่หมดอายุแล้วมาประกอบอาหาร ฯลฯ
๗.๓.๒ กรณี เป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการผลิต จำหน่าย หรือบริหารจัดการธุรกิจอาหารจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ขอให้นำเสนอประวัติและตัวอย่างผลงานของบริษัท แนบมาด้วย
๗.๓.๓ แนบหลักฐานสำคัญ (สำเนาเอกสารทุกแผ่นให้ลงรายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง)
• กรณีที่ผู้เสนอเป็นนิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนสามัญ, ห้างหุ้นส่วนจำกัด, บริษัทจำกัด)
(๑) สำเนาหรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล / วัตถุประสงค์แนบท้ายหนังสือรับรอง (มีอายุไม่เกิน ๓ เดือน)
(๒) สำเนาหนังสือบริคณห์สนธิ (มีอายุไม่เกิน ๓ เดือน)
(๓) สำเนาบัญชีรายชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ (ถ้ามี)
(๔) สำเนาบัญชีผู้มีอำนาจควบคุม และบัญชีรายชื่อ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ถ้ามี)
(๕) สำเนาใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.๒๐)
(๖) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่จะเซ็นสัญญากับ สสส. (ต้องเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น)
ในกรณีมีการมอบอำนาจ ต้องมีเอกสารเพิ่ม ดังต่อไปนี้
– สำเนาหนังสือมอบอำนาจ
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้มอบอำนาจ
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ
– สำเนาบัตรประชาชนของพยาน ๑ ท่าน
– อากรแสตมป์ ๓๐ บาท
(ผู้ประกอบการ/ผู้มีอำนาจเป็นผู้รับรองสำเนาถูกต้อง เอกสารทุกฉบับต้องประทับตราบริษัทและลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง อย่างละ ๑ ฉบับ)
• ในกรณีผู้เสนอเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
(๑) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจ
(๒) สำเนาใบทะเบียนพาณิชย์ (ถ้ามี)
(๓) สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี (ใบการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม) (ถ้ามี)
(๔) สำเนาข้อตกลงที่แสดงถึงการเข้าเป็นหุ้นส่วน (ถ้ามี)
(๕) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เป็นหุ้นส่วน
• ในกรณีผู้นำเสนอเป็นบุคคล
(๑) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
(๒) สำเนาทะเบียนบ้าน
(๓) คำรับรองยินยอมให้ทำนิติกรรมของคู่สมรส (ถ้ามี)
๗.๔ ประกาศผลผู้ที่ได้รับการคัดเลือกทางโทรศัพท์ และทาง www.thaihealth.or.th ภายในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓
๘. เงื่อนไขเพิ่มเติมในการพิจารณา
๘.๑ หากผู้เสนอราคารายใดมีคุณสมบัติไม่ถูกต้องตามที่กำหนด หรือยื่นหลักฐานไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วน สสส.จะไม่รับพิจารณาข้อเสนอโครงการรายนั้น เว้นแต่เป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือกรณีมิใช่สาระสำคัญ ทั้งนี้เฉพาะที่พิจารณาเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อ สสส. เท่านั้น
๘.๒ ในการทำสัญญาหรือข้อตกลง สสส. มีสิทธิต่อรอง หรือให้ผู้เสนอราคาชี้แจงข้อเท็จจริง รายละเอียดของแผนงาน สภาพ ฐานะ หรือข้อเท็จจริงอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับผู้เสนอได้
๘.๓ สสส. มีสิทธิที่จะไม่รับข้อเสนอใดข้อเสนอหนึ่ง หรือข้อเสนอทั้งหมดก็ได้ และอาจพิจารณาเลือกจำนวน หรือประเภท หรือเฉพาะรายการหนึ่งรายการใด หรืออาจจะยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างโดยไม่พิจารณาคัดเลือกได้ ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของ สสส. และเป้าหมายของงานเป็นสำคัญ และให้ถือว่าการตัดสินของ สสส. เป็นเด็ดขาด ผู้เสนอจะเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ มิได้
๘.๔ ในกรณีที่ผลงานของผู้เสนอ อยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย ทาง สสส. มีสิทธิ์ยกเลิกสัญญา และจัดจ้างผู้เสนอแผนงานรายใหม่มาดำเนินการแทน
๙. ข้อตกลงเพิ่มเติมในการทำสัญญา
๙.๑ สัญญามีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ ๒ ปี ( เริ่มตั้งแต่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ จนถึง ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๔) ทั้งนี้ หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประสงค์จะยุติสัญญานี้ สามารถกระทำได้โดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้อีกฝ่ายหนึ่งรับทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๔ เดือน ทั้งนี้ผู้ได้รับการคัดเลือกจาก สสส. แล้ว จะต้องผูกพันตามประกาศนี้และตามข้อเสนอที่ได้รับการคัดเลือก โดยผู้ได้รับการคัดเลือกต้องทำสัญญาภายในระยะเวลา และปฏิบัติตามที่ สสส. กำหนดตลอดอายุของสัญญา
อนึ่งหากเกิดปัญหา อุปสรรค หรือเหตุสุดวิสัย ไม่สามารถดำเนินการตามที่ระบุไว้ในสัญญาได้ ผู้ได้รับการคัดเลือกจะต้องแจ้งต่อ สสส. เพื่อขอเปลี่ยนแปลง แก้ไข โดยดำเนินการให้อยู่ในกำหนดระยะเวลาของสัญญา กรณีมีข้อสงสัยให้ถือว่าคำวินิจฉัยของ สสส. เป็นข้อยุติ
๙.๒ ผู้ได้รับการคัดเลือกต้องยื่นเงินประกันความเสียหายต่อ สสส. เป็นจำนวนเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) ในรูปแบบของหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร หรือ แคชเชียร์เช็ค หรือ พันธบัตรรัฐบาลไทย โดย สสส. จะมอบคืนเมื่อหมดภาระผูกพันทางสัญญา ทั้งนี้ หากผู้ได้รับการคัดเลือกกระทำการหรืองดเว้นกระทำการผิดไปจากข้อกำหนดหรือเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งตามประกาศนี้ เป็นเหตุทำให้พื้นที่ ครุภัณฑ์ และการดำเนินงานของ สสส. เสียหาย สสส.มีสิทธิ์ริบเงินประกันทันที และหากมีค่าเสียหายเพิ่มเติมผู้ได้รับคัดเลือกต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวแก่ สสส.ทุกประการ
๙.๓ ผู้ได้รับคัดเลือกและผู้สัมผัสอาหารต้องผ่านการอบรมหลักสูตรสุขาภิบาลอาหารของกรุงเทพมหานครหรือกระทรวงสาธารณสุข และตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง
๙.๔ นอกจากผู้ได้รับคัดเลือกต้องจัดเตรียมอาหารสำหรับขายหน้าร้านแล้ว ต้องจัดเตรียมอาหารสำหรับการจัดประชุมภายใน สสส.เฉลี่ยเดือนละประมาณ ๗๐๐ ที่ (จำนวนอยู่ที่การจัดประชุม) โดยมีประเภท จำหน่ายบัตรอาหาร,จัดเตรียมเป็นชุดเพื่อเสิร์ฟในห้องประชุม และบุฟเฟ่ต์
๙.๕ สสส. ขอสงวนสิทธิ์ในการเข้าพื้นที่ เพื่อวัตถุประสงค์ด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่รับผิดชอบ รวมทั้งการปรับปรุงพื้นที่เพื่อสร้างเสริมการเรียนรู้
๙.๖ สสส. จะจัดให้มีการติดตามประเมินคุณภาพของร้านอาหารและการบริการเป็นประจำทุก ๓ เดือน เพื่อนำมาใช้พัฒนาและปรับปรุงคุณภาพ
๙.๗ อื่นๆตามที่ สสส.กำหนด เช่น ลดการใช้พลาสติก ห้ามใช้กล่องโฟม เป็นต้น
๑๐. สถานที่ติดต่อเพื่อขอทราบข้อมูลเพิ่มเติม หรือเสนอแนะวิจารณ์ หรือแสดงความคิดเห็นโดยเปิดเผยตัว
ฝ่ายอำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ เลขที่ ๙๙/๘ ซอยงามดูพลี แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๒๐ โทรศัพท์หมายเลข ๐-๒๓๔๓-๑๕๐๐ ต่อ ๓๔๐๗ โทรสารหมายเลข ๐-๒๓๔๓-๑๕๐๑ ทั้งนี้ ภายใน ๕ วัน นับตั้งแต่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ประกาศในเว็บไซต์ www.thaihealth.or.th
๑๑. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่
นางสาวฐิติมา แสงรักษา
ฝ่ายอำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ เลขที่ ๙๙/๘ ซอยงามดูพลี
แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๒๐
โทรศัพท์หมายเลข ๐-๒๓๔๓-๑๕๐๐ โทรสารหมายเลข ๐-๒๓๔๓-๑๕๐๑
โทรศัพท์มือถือ ๐๘๗-๕๑๐-๐๒๗๑
E-mail: [email protected]
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า .