การควบคุมยาสูบกับการพัฒนาประเทศไทย 4.0

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


การควบคุมยาสูบกับการพัฒนาประเทศไทย 4.0 thaihealth


การควบคุมยาสูบกับการพัฒนาประเทศไทย 4.0


วันนี้ (24 ก.ค. 2560) ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ  โดย นพ.สุเทพ เพชรมาก  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย  ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และ ดร.นพ.ทักษพล ธรรมรังสี  ผู้อำนวยการแผนกโรคไม่ติดต่อและอนามัยสิ่งแวดล้อม องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก  ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังเปิด การประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 เรื่อง “บุหรี่ : ภัยคุกคามต่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”  จัดโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


นพ.สุเทพ เพชรมาก  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า  ประเทศไทยได้พยายามพัฒนานวัตกรรมทางกฎหมาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการควบคุมการบริโภคยาสูบและการแพร่ระบาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยยึดโยงกับสาระสำคัญ ข้อกำหนด และแนวปฏิบัติ ของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO-Framework Convention on Tobacco Control : WHO-FCTC) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีตามกรอบอนุสัญญาดังกล่าว โดย “พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560”  ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย  เมื่อวันที่ 3 มีนาคม2560 และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้รับทราบเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 โดยมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา


การควบคุมยาสูบกับการพัฒนาประเทศไทย 4.0 thaihealth


สำหรับเหตุผลที่ต้องมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 มีเหตุผลสำคัญ 4 ประการ กล่าวคือ  1) กำหนดมาตรการทางกฎหมาย โดยมุ่งหมายปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน ให้ห่างไกลจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งถือเป็นสินค้าเสพติดที่ทำลายสุขภาพ (ห้ามขาย ให้ ผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี จากเดิม 18 ปี  และห้ามธุรกิจยาสูบทำกิจกรรมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม ให้การอุปถัมภ์ หรือให้การสนับสนุนทั้งที่เป็นตัวเงิน/ไม่ใช่ตัวเงิน )  2) ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยาสูบให้มีมาตรการทางกฎหมายที่ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ และสภาพปัญหารวมถึงกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจยาสูบรูปแบบใหม่ๆ ในการเพิ่มจำนวนนักสูบหน้าใหม่ (การขยายบทนิยามผลิตภัณฑ์ยาสูบให้มีความหมายกว้างขึ้นจากกฎหมายฉบับเดิม เพื่อให้สามารถดำเนินการควบคุมผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบที่กำลังแพร่หลายในปัจจุบัน เช่น บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นต้น)  และ  3) กำหนดมาตรการในการคุ้มครองสิทธิและสุขภาพในสถานที่สาธารณะของประชาชนผู้ไม่สูบบุหรี่ (ในกรณีที่มีผู้ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท จากเดิม 2,000 บาท)  จึงถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการใช้มาตรการกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชนจากยาสูบ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต  นพ.สุเทพ กล่าว


การควบคุมยาสูบกับการพัฒนาประเทศไทย 4.0 thaihealth


ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล  รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  กล่าวว่า  การพัฒนาประเทศไทยยุค 4.0 นี้ คือ ยุคที่ต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศไทยให้มั่นคง มั่งคั่ง และ ยั่งยืน แต่การพัฒนาประเทศไทยนี้จะสำเร็จได้ยากหากประชาชนและเยาวชนยังเสพติดบุหรี่มากมายดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  เนื่องด้วยบุหรี่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ดังนี้  บุหรี่ได้ทำลายสุขภาพและชีวิตของวัยแรงงานของประเทศไทยซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ โดยบุหรี่ทำให้เกิดโรคมะเร็งถึง 12 ชนิด รวมถึงโรคหัวใจ โรคเส้นเลือกสมอง โรคถุงลมโป่งพอง และเบาหวาน  นอกจากนี้บุหรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรค ตาบอด ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง และทุกอวัยวะแก่ก่อนวัยอันควร รวมถึงทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศด้วย  มีคนไทย 1 ล้านคนที่มีชีวิตอยู่แต่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่เกิดจากบุหรี่  บุหรี่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยถึงปีละ 50,000 คน คิดเป็นการเสียชีวิตวันละ 140 คน และผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่นี้เฉลี่ยแล้วอายุสั้นลง 12 ปี อีกทั้งยังป่วยหนักเฉลี่ย 2.5 ปีก่อนจะเสียชีวิต 


ในด้านภัยคุกคามต่อความมั่งคั่ง การสูญเสียจากการสูบบุหรี่ในประเทศไทยคำนวณแล้วคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ถึงปีละเกือบ 75,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 0.78% ของ GDP ของประเทศไทย  ส่วนในด้านภัยคุกคามต่อความยั่งยืนนั้น บุหรี่กำลังจะทำลายเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศไทยอย่างรุนแรง  โดยผลสำรวจในปีพ.ศ. 2557 พบว่า มีเยาวชนถึง 200,000 คน เป็นนักสูบหน้าใหม่ หรือ คิดเป็น 547 คนต่อวัน   และยังพบว่าเยาวชนไทยที่ติดบุหรี่มีพฤติกรรมเสี่ยงอีกหลายประการที่เพิ่มขึ้นกว่าเยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่ เช่น ดื่มสุรา 3.5 เท่า  ใช้ยาเสพติด 17.0 เท่า  เที่ยวกลางคืน 3.2 เท่า  มีเพศสัมพันธ์ 3.7 เท่า  และเล่นการพนัน 3.3 เท่า เป็นต้น  และที่สำคัญคือเด็กไทยที่สูบบุหรี่ 7 ใน 10 คน จะเสพติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต ไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้  บุหรี่จึงเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างแท้จริง  ซึ่งข้อมูลล่าสุดปีพ.ศ. 2558 พบว่ามีคนไทยสูบบุหรี่อยู่ถึง 11 ล้านคน จึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและร่วมมือช่วยกันทำให้คนไทยเลิกสูบบุหรี่กันได้เป็นล้านๆคนอย่างจริงจัง  ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว


การควบคุมยาสูบกับการพัฒนาประเทศไทย 4.0 thaihealth


ดร.นพ.ทักษพล ธรรมรังสี  ผู้อำนวยการแผนกโรคไม่ติดต่อและอนามัยสิ่งแวดล้อม องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก  เปิดเผยว่า  องค์การอนามัยโลกขอชื่นชมรัฐบาลไทยและแสดงความยินดีกับสังคมไทยสำหรับกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ที่จะเป็นกลไกหลักในการปกป้องประชาชนไทยจากพิษภัยจากบุหรี่ ซึ่งผลิตภัณฑ์ยาสูบจัดเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ผลลบจากการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบส่งผลต่อประเทศในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ SDG ในเกือบทุกเป้าหมาย การลงทุนด้านยาสูบเป็นเรื่องที่สังคมได้ไม่คุ้มเสีย มูลค่าผลเสียในระยะยาวต่อสังคมโดยรวมจากภัยยาสูบสูงกว่าผลประโยชน์ที่มีหลายเท่า ยาสูบเป็นปัจจัยลบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่ประเทศไทยสูญเสียวัยทำงานไปถึงปีละประมาณ 30,000คน ผลทางสุขภาพจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบก่อภาระค่ารักษาพยาบาลทั้งต่อครอบครัวและสังคมไทยโดยรวมเป็นมูลค่าสูงกว่ามูลค่าภาษีสรรพสามิตที่รัฐบาลไทยจัดเก็บได้ ยาสูบยังก่อปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมทั้งคุณภาพของน้ำ ดิน การทำลายป่าไม้ และอากาศ อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการกำจัดความยากจน คุณภาพชีวิต การศึกษา ความปลอดภัย และความเหลื่อมล้ำในสังคม การควบคุมยาสูบอย่างจริงจังถือเป็นการลงทุนทางสังคมที่สร้างผลตอบแทนที่สูงมากคืนกลับให้กับสังคม ประชาชนที่ยากจนและเยาวชนเป็นกลุ่มประชากรที่ได้รับผลประโยชน์จากการควบคุมยาสูบเป็นพิเศษ  ดังนั้นองค์การอนามัยโลกจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยผนวกการควบคุมยาสูบในกลไกในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน


 

Shares:
QR Code :
QR Code