กายภาพบำบัด รับมือสูงวัยติดเตียง

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า


กายภาพบำบัด รับมือสูงวัยติดเตียง thaihealth

แฟ้มภาพ


สธ.หนุนใช้กายภาพบำบัด รับมือสังคมผู้สูงอายุ ติดเตียง-ติดบ้าน


ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมกายภาพบำบัดแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ภายใต้แนวคิด "งานบริการกายภาพบำบัดและการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ" กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ภายในปี 2568 นี้ จะมีผู้สูงอายุประมาณ 14.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด กล่าวคือจะมีผู้สูงอายุ 1 คนในประชากรทุก 3 คน การจัดการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวจึงเป็นเรื่องสำคัญ ประกอบกับการตรวจคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุของกระทรวงสาธารณสุข 6,394,022 คน พบว่า เป็นผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง กลุ่มติดบ้าน ติดเตียง ที่ต้องได้รับการบริการด้านสุขภาพและสังคมประมาณ 1.3 ล้านคน กระทรวงสาธารณสุขจึงดำเนินงาน โครงการพัฒนาระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุข สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ตำบล (Long Term Care) จัดระบบการดูแลที่มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน เป็นบริการเชิงรุกให้บริการถึงบ้าน เน้นการ ส่งเสริมสุขภาพและดูแลผู้สูงอายุให้ได้รับการดูแล จากทีมสหวิชาชีพ จากหน่วยบริการปฐมภูมิ อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ


โดยการดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพแข็งแรง ส่วนหนึ่งคือการทำกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าจะก่อนป่วย หลังป่วย ต้องอาศัยการทำกายภาพบำบัด เพื่อเป็นความหวังและกำลังใจสำคัญร่วมกับการให้ยา โดยในปีนี้จะดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะ พึ่งพิงทั่วประเทศ 100,000 คนในพื้นที่ 1,000 ตำบล และจะขยายให้ครอบคลุมครบทุกตำบล 100 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2561 เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง กลายเป็นผู้สูงอายุติดบ้าน และจากผู้สูงอายุติดบ้าน เป็นติดสังคม ติดชุมชน ให้ออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็น ประโยชน์ต่อสังคมได้ ทั้งนี้ชุมชนต้องให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนกิจกรรมให้ผู้สูงอายุดูแลกัน เพราะผู้สูงอายุจะเข้าใจกันและกันมากที่สุด


อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมและพัฒนาความรู้ ที่ทันสมัยแก่นักกายภาพบำบัด ถือเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางสุขภาพ ตั้งแต่การตรวจประเมินวินิจฉัย การบำบัดรักษาความ บกพร่องของร่างกาย การแก้ไขฟื้นฟูความเสื่อมสภาพ ตลอดจนความพิการของร่างกาย การส่งเสริมป้องกันปัญหาทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ผู้ที่เข้ารับ การบริการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดปัญหาการบาดเจ็บ หรือการเจ็บป่วยเรื้อรัง รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการใช้ยาอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับประชาชน สังคมและประเทศ


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code