กางเต็นท์เที่ยวหนาว เสี่ยงโรค’ไข้รากสาดใหญ่’
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
แนะนักท่องเที่ยวกางเต็นท์เที่ยวหนาว ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบนพื้นหญ้า และระมัดระวังตัวไรอ่อน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคสคับไทฟัส หรือไข้รากสาดใหญ่
นายบัญชา รามศิริ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีอากาศหนาวเย็นมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม กระทั่งมาในช่วงกลางเดือน พ.ย.ก็มีฝนตกลงมาบ้าง หลังจากฝนหยุดแล้ว สภาพอากาศก็หนาวเย็นมากขึ้น นักท่องเที่ยวก็เดินทางมาท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสอากาศหนาวบริเวณจุดชมวิวกิ่วลม และลานกางเต็นท์ ซึ่งมีทะเลหมอกสวยงาม ทั้งฝั่งอำเภอแม่แตง และอำเภอปาย จำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเช้าเวลาประมาณ 06.50 น. ท้องฟ้าตอนบนเปิดสามารถมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นได้ ก็มีนักท่องเที่ยวออกมายืนรอชมความงามตอนพระอาทิตย์ขึ้น และถ่ายภาพเป็นที่ระลึกจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งจากสถิตินักท่องเที่ยวที่เดินทางขึ้นมาในห้วงวันหยุดที่ผ่านมา เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 5,044 คน ต่างชาติ 118 คน มาพักค้างแรม 164 คน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ได้ออกดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
นอกจากที่อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังแล้ว ก็ยังมีที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก อ.ฝาง อุทยานแห่งชาติดดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง และสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ.ฝาง ก็มีนักท่องเที่ยวแห่สัมผัสอากาศหนาว และนอนกางเต็นท์จำนวนมากเช่นกัน และคาดว่าในห้วงวันหยุด 24-25 ธ.ค. ซึ่งจะตรงกับวันคริสต์มาส ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จะมีนักท่องเที่ยวมาสัมผัสอากาศหนาวและร่วมเคาท์ดาวน์บนยอดดอยเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน
ด้าน นพ.วิทยา หลิวเสรี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเหนืออากาศเริ่มหนาวเย็นลงแล้ว โดยเฉพาะบนยอดดอยสูง ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ นิยมมากางเต็นท์ หรือตั้งแคมป์นอนพัก เพื่อสัมผัสกับธรรมชาติและอากาศที่หนาวเย็น จึงขอแนะนำให้นักท่องเที่ยวและประชาชนที่จะไปกางเต็นท์ หรือตั้งแค้มป์ในป่า ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบนพื้นหญ้า แต่งกายให้มิดชิด สวมถุงเท้าหุ้มปลายขากางเกง ทายาป้องกันแมลงกัดตามแขนขา และระมัดระวังตัวไรอ่อน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคสคับไทฟัส หรือไข้รากสาดใหญ่ ที่มักอาศัยในขนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู กระแต เป็นต้น และชอบกัดบริเวณ ขาหนีบ เอว ลำตัวแถวใต้ราวนม รักแร้ จะปล่อยเชื้อริกเก็ตเซียเข้าสู่คน ทำให้ผู้ที่ถูกกัด มีไข้สูง ตัวร้อนจัด หนาวสั่น ปวดศีรษะบริเวณขมับและหน้าผากอย่างรุนแรง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว ปวดกระบอกตา มีแผลคล้ายถูกบุหรี่จี้ มีสีแดงคล้ำ เป็นรอยบุ๋มแต่ไม่คัน ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20 อาจมีอาการแทรกซ้อนอย่างรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ และอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ โดยพบผู้ป่วยโรคสครับไทฟัสมากที่สุดในภาคเหนือ และภาคตะวันอกเฉียงเหนือ ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันแต่มียารักษาให้หายได้ นักท่องเที่ยวและประชาชนควรสังเกตอาการของตนเอง หากกลับจากเที่ยวป่าหรือกางเต็นท์นอนตามพื้นหญ้า ภายใน 2 สัปดาห์ และพบว่าตัวเองมีอาการตามที่กล่าวมา ควรรีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเข้าไปในป่าให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องและทำการรักษาได้อย่างถูกวิธี.