กอดลูกเพิ่ม “อีคิว” ป้องกันเจ็บป่วย

กอดลูกเพิ่ม


“กรมอนามัย” ชี้เด็กอยู่กับครอบครัว แต่ยังเสี่ยงพัฒนาการล่าช้า เหตุสภาพแวดล้อมไม่ดี ผู้ดูแลเด็กอ่านหนังสือไม่ออก เศรษฐกิจขัดสน แนะสร้างความรักในครอบครัว เพิ่มการกอด ช่วยเพิ่มอีคิว ป้องกันโรคในเด็กได้


นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมสัมพันธภาพของครอบครัว ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) การเคหะแห่งชาติ และ กทม. ว่า แนวทางและรูปแบบการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยจะต้องยึดหลักการให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมสัมพันธภาพของครอบครัวและพัฒนากรอบความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนให้ครอบครัวสามารถสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับครอบครัวได้ โดยการจัดทำแผนแม่บทการส่งเสริมสัมพันธภาพของครอบครัวร่วมกัน ด้วยการสร้างความเข้าใจกับชุมชน การสำรวจเด็กปฐมวัย 0-2 ปี การสำรวจศูนย์ดูแลและพัฒนาเด็กที่มีอยู่เดิม การสร้างมาตรฐานการดำเนินงานศูนย์ดูแลและพัฒนาเด็ก และการสร้างหลักสูตรพัฒนาคุณภาพผู้ดูแลเด็ก


นพ.พรเทพ กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เมื่อ ธ.ค. 2556 พบว่า ประเทศไทยมีเด็กปฐมวัย 4,557,091 คน แบ่งเป็นเด็กอายุ 0-1 ปี จำนวน 1,481,714 คน ยังอยู่กับพ่อแม่และครอบครัว ส่วนเด็กอายุ 2-5 ปี จำนวน 3,075,377 คน บางส่วนเข้าสู่ระบบการศึกษา เช่น เป็นสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล และมีบางส่วนที่ยังไม่มีโอกาสได้รับการเตรียมความพร้อม คิดเป็นร้อยละ 13 ของเด็กปฐมวัยทั้งหมด โดยเด็กอายุ 0- 1 ปี ที่อยู่กับพ่อแม่และครอบครัวมีจำนวนมากถึงร้อยละ 32.5 ของเด็กปฐมวัยทั้งหมด แต่ตัวเลขเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่า เด็ก 0-1 ปีทั้งหมดจะได้รับการดูแลและพัฒนาที่ดี เนื่องจากมีงานวิจัยที่พบว่า เด็กที่อยู่กับครอบครัวต้องเผชิญหน้ากับปัจจัยที่มีผลต่อพัฒนาการ อาทิ ความเป็นอยู่ไม่สะอาด ส่งผลต่อสุขภาพ สภาพเศรษฐกิจที่ขัดสน ส่งผลต่อโภชนาการ สภาพแวดล้อมที่ไม่ดี อยู่ในชุมชนที่มียาเสพติด ส่งผลให้เด็กไม่ปลอดภัย ผู้เลี้ยงดูอ่านหนังสือไม่ออก ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง เด็กผูกพันกับผู้เลี้ยงดู ความผูกพันระหว่างพ่อแม่กับเด็กลดน้อยลง


“การแก้ปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัว นอกจากจะให้ความสำคัญกับการสร้างความรักความอบอุ่นแล้ว ยังเติมความรักให้แก่กันด้วยการกอด เพราะการกอดมีผลดีอย่างมากในเด็ก สามารถเพิ่มอีคิวได้ โดยเฉพาะเด็กทารกที่ได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยการสัมผัส คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยไมอามี สหรัฐอเมริกา พบว่า การสัมผัสหรือการกอดมีผลต่อกระบวนการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยของเด็ก และยังมีผลต่อการรักษาโรคต่างๆ นอกจากนี้ ยังช่วยลดช่องว่างระหว่างครอบครัว เติมเต็มความรัก สร้างความไว้วางใจให้ความรู้สึกมั่นคง การคุ้มครองสร้างความปลอดภัยให้แก่กัน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


นพ.พรเทพ กล่าวว่า การกอดยังมีผลดีต่อสุขภาพป้องกันการเกิดโรคร้าย เช่น โรคหัวใจและภาวะซึมเศร้า เพราะการกอดจะช่วยเพิ่มปริมาณฮีโมโกลบิน ในเม็ดเลือดแดง ทำให้การลำเลียงของออกซิเจนไปยังเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกายดีขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ เพราะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนออกซิทอกซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง ช่วยลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดความเครียด และการกอดคนรัก สมองจะหลั่งสารโดปามีน (Dopamine) ก่อให้เกิดความสุข ความพึงพอใจ ความกระฉับกระเฉง รวมทั้งสารแห่งความสุข ตัวอื่น ๆ เช่น สารเอนโดฟิน (Endorphin) และเซโรโทนิน (Serotonin) เป็นต้น


 


ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์


ขอบคุณภาพประกอบจาก www.mcot.net

Shares:
QR Code :
QR Code