“กองบิน 7 สุราษฎร์ฯ” ตัวอย่างเครือข่ายทหาร…สร้างสุข
นอกเหนือจากหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ในยามศึกสงครามแล้ว… อีกหนึ่งหน้าที่ของ “ทหาร” ผู้รับใช้ประเทศชาติ ประชาชน และองค์กษัตริย์ ยังเป็น “ผู้สร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน”
ดังเห็นได้ชัดเจนจากกรณีมหาอุทกภัยปลาย พ.ศ. 2554 ที่เหล่าทหารหาญเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ทั้งการอพยพ ป้องกันน้ำท่วม อำนวยความสะดวกในการเดินทาง รวมไปถึงการแปรตัวเองให้เป็นครูอาสาสอนหนังสือเด็กในพื้นที่ห่างไกลกันดาราที่ทำมาเนิ่นนาน ฯลฯ
เพื่อให้บทบาทใหม่ของทหาร สามารถเสริมคุณภาพชีวิตให้แก่ตนเองและประชาชนได้เต็มศักยภาพ เป็นระบบ และต่อเนื่อง สอดคล้องกับการทำงานขององค์กรและความต้องการของชุมชน กองทัพไทยจึงจับมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ทดลองทำ “เครือข่ายทหาร…สร้างสุข” ขึ้นใน 4 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ 1.กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี 2.โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชะนี 3.โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จ.นครนายก และ 4.ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี ที่ประสบผลสำเร็จจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่กำลังพลและพร้อมขยายสู่ชุมชนรอบข้าง
โดยโมเดลหนึ่งที่น่าสนใจจนต้องนำมาขยายไว้เป็นตัวอย่าง ก็คือกรณีของ “กองบิน 7 อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี” กับธง “สร้างแนวร่วมปรับเปลี่ยนแนวคิด ปลูกจิตสำนึกการทำงานร่วมกับเครือข่าย” ในการดำเนินงานยกวิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้านในรัศมีรอบกองบิน 15-20 กม.
ทว่า ก่อนจะเอื้อมมือไปช่วยผู้อื่น กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี ก็ได้ดำเนินการสร้างเสริมสุขภาวะของกำลังพลมาตั้งแต่ พ.ศ.2546 ผ่านความเชื่อที่ว่าต้องดีจากภายในค่อยขยายสู่ภายนอก โดยใช้งบประมาณแบบบูรณาการจากกองทัพและองค์กรภาคนอกที่สนับสนุนเรื่องสุขภาวะ กระทั่งในปี พ.ศ.2553 ได้รับรางวัลหน่วยงานดีเด่นในด้านดังกล่าว และกลายเป็นต้นแบบให้แก่หน่วยงานในพื้นที่ใกล้เคียง
วกกลับมาถึงเป้าหมายใหม่ในการทำงานเพื่อสังคมที่ดีกว่าของกองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎร์ธานี หนึ่งในคณะทำงานร่วมกับกองบิน 7 ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ทหารต้องเพิ่มบทบาทของตัวเอง เหตุเพราะประชาชนในพื้นที่ยังมีรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น การบริโภคไม่เหมาะสม การพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงประชาชนไม่มีความรู้เรื่องการป้องกันโรคเท่าที่ควร ทำให้ประชาชนมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ขณะที่ รพ.มีงบประมาณไม่เพียงพอกับประชาชน และมีการเบิกงบประมาณเพื่อรักษาพยาบาลมากขึ้นทุกปี สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ จึงเห็นว่าควรเน้นการป้องกัน เพื่อไม่ให้ประชาชนเจ็บป่วย
ปัญหาที่ว่าถูกสานต่อเพื่อแก้ไขด้วยนโยบายของกองบิน โดย น.อ.ธัชชัย อัจฉริยาการุณ รองผู้บังคับการกองบิน 7 เอ่ยปากว่า ในฐานะที่เราสร้างเสริมกำลังพในองค์กรให้มีความสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และมีความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ อันจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อกำลังพลมีสุขภาพกายดี มีครอบครัวและสังคมทีดี จนไปสู่เป้าสูงสุดคือกำลังพลทำงานได้อย่างมีความสุขแล้ว ก็ถึงเวลาขยายผลที่ได้สู่รากฐานของสังคมซึ่งก็คือครอบครัวของชุมชนที่อยู่รอบๆ กองบิน
ส่วนหลักการดำเนินงานในระยะแรก ทางกองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี จะเลือกเครือข่ายเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่หลักในการสร้างเสริมสุขภาพของชุมชนก่อน เมื่อทีมงานเข้มแข็งจึงขยายเครือข่ายในพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนครอบคลุมรัศมี 15-20 กม.รอบกองบิน อันประกอบด้วยหลายภาคส่วน ทั้งด้านสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจ โรงเรียน วัด ศูนย์วิจัยด้านพันธุ์สัตว์ ประมงน้ำจืด สถานีวิทยุ สป.สช.ประจำจังหวัด
ถึงขั้นตอนปรับเปลี่ยนลงมือทำเพื่อชุมชนจากความเครียดและกังวลที่ต้องทำงานร่วมกับชุมชนเป็นครั้งแรก และมีความคุ้นกับการทำงานในระบบกองทัพตามลำดับชั้นของสายการบังคับมาตลอด ส่งผลให้คณะทำงานต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานใหม่หมด ตั้งแต่กระบวนการคิดจนถึงการปฏิบัติแต่นับเป็นโชคดีที่ทุกภาคส่วนให้ความสนใจและพร้อมใจที่จะร่วมมือทำเป็นอย่างดี
ซึ่งกิจกรรมที่กองบิน 7 ริเริ่มทำเป็นกิจกรรมแรกคือสัมมนาเปิดตัวโครงการ ให้เครือข่ายรู้สึกเป็นเจ้าของงานและมั่นใจว่ากิจกรรมที่ดำเนินการต่อไปจะไม่ล้มเลิกระหว่างทาง จากการสัมมนาทำให้ทราบด้วยว่าเครือข่ายแต่ละกลุ่มมีจุดเด่นอย่างไร และใครควรมีส่วนร่วมหลักเพื่อแก้ปัญหานั้นๆ หลังจากนั้นก็ระดมสมองรับฟังความคิดเห็นจากแต่ละฝ่ายก่อนที่จะวางจุดหมายและวิธีการทำงานร่วมกับ ตบท้ายการดำเนินงานขั้นแรกด้วยการคัดเลือกบุคคลที่เป็นที่ยอมรับและมากด้วยประสบการณ์ทำงานกับชุมชนขึ้นเป็นประธานทำงาน
นพพร ทิแก้วศรี ผู้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อถอดไว้เป็นบทเรียนให้ศึกษาแจงเพิ่มว่า ลักษณะการทำงานยกระดับคุณภาพชีวิตของกองบิน 7 จะเป็นไปในแบบตัวกลางคอยประสานกับเครือข่ายในภาพรวมใหญ่ๆ เช่น จัดสัมมนาการทำงานแบบพหุพาคีในการเสริมสร้างสุขภาพ พัฒนาเครือข่ายเยาวชนสร้างเสริมสุขภาพ จัดทำโครงการสื่อสร้างสุข พัฒนาเครือข่ายสุขภาพชุมชนเข้มแข็งด้วยเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้นและทำหน้าที่เป็นเพียงเจ้าภาพเขียนโครงการ หางบประมาณสนับสนุนการทำงานของเครือข่าย และประสานงานเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย
“ในคราวเดียวกันก็จะถึงเอาจุดเด่นที่ดีของแต่ละเครือข่ายมาเป็นต้นแบบให้เครือข่ายอื่นในหมวดเดียวกันทำตาม เช่น รพ.พุนพินเด่นเรื่องสร้างเสริมสุขภาพแรงงานนอก รพ.ท่าโรงช้างเด่นเรื่องสุขภาพดีวิถีไทย เทศบาลเมืองท่าข้ามเด่นเรื่องการเสริมให้ประชาชนดำรงชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลตะปาน เด่นเรื่องการออกกำลังกาย ลดเอว ลดพุง ลดอ้วน ก็เอามาแลกเปลี่ยนประยุกต์ปรับใช้ซึ่งกันและกัน การทำงานจึงราบรื่นและพัฒนาเพิ่มศักยภาพความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว”
เมื่อวิเคราะห์บทบาทหลักของกองบิน 7 อย่างแท้จริงในการสร้างเสริมสุขภาพใหักับชุมชน กองบิน 7 มิได้ยัดเยียดความคิด ประกาศตนเป็นผู้นำแล้วต้องทำตาม หรือล้วงลูกการทำงานของภาคีเครือข่าย แต่เปรียบได้กับคนกลางจับจิ๊กซอว์ที่มีอยู่มาต่อให้เป็นภาพชุมชนที่สมบูรณ์ แถมเน้นให้ความรู้เพื่อให้แต่ละเครือข่ายจับมือช่วยสร้างสังคมดี ชุมชนน่าอยู่ ครอบครัวแข็งแรง ในแบบยั่งยืนด้วยตัวเอง
ฉะนั้น บทสรุปความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของกองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี พบว่า นโยบายการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้มีสุขภาวะกลายเป็นนโยบายกลาง ที่ไม่ว่าผู้บังคับบัญชาหรือผู้บริหารคนใหม่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งก็จะสานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และยังได้รับความช่วยเหลือด้านวิชาการวิทยากร ที่ปรึกษา และงบประมาณบางส่วน จากกองทัพไทยและสสส. ในการผลักดันให้เกิดกองทัพยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชน ที่สำคัญคือช่วยประสานให้เครือข่ายด้านต่างๆ ที่ต่างคนต่างทำงานของตัวเอง ให้หันมาทำงานร่วมกันแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้านประชาชนเองก็ให้ความไว้วางใจหน่วยงานรัฐและรับฟังกันและกันมากขึ้น เช่นนักเรียนกล้าที่จะพูด และครูก็รับฟังความต้องการของนักเรียนมากขึ้น ในการพัฒนาการศึกษาในชุมชน
และก้าวต่อไปที่กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานีตั้งใจทำคือการเป็นพี่เลี้ยงเสริมสร้างคุณภาพชีวิตชุมชนให้กองบิน 41 จ.เชียงใหม่ ก่อนตั้งเป้าหมายอีกครั้งว่าจะพยายามสร้างชุมชนต้นแบบที่มีความเข้มแข็งด้านจิตใจ (มีภูมิคุ้มกัน) โดยใช้เครื่องมือและวิธีการที่หลากหลาย แนวทางหนึ่งคือ การแก้ไขปัญหายาเสพติดการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ผู้สูงอายุไม่ได้รับการดูแล และการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์