กสอ.จับมือ สสส. สร้างองค์กรแห่งความสุข
ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยผลสำเร็จการดำเนินโครงการส่งเสริมผลิตภาพและสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SHAP) ประจำปี 2560 สามารถเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ให้ SMEs 159 แห่ง ได้ถึงร้อยละ 7.8 คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า240 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าพัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ (SHAP Agents) จำนวน 196 คน เพื่อเป็นหน่วยส่งเสริมผลิตภาพและสุขภาวะองค์กรให้ SMEsโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตควบคู่กับการสร้างความสุขให้กับบุคลากรในสถานประกอบการ
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กสอ. ได้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมผลิตภาพและสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Happy and Productive Workplace) ชื่อย่อโครงการ SHAP ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนมิถุนายน 2559 ถึงเดือนมกราคม 2561 เพื่อสร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้เห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มผลิตภาพที่มีคนเป็นศูนย์กลาง สร้างรูปแบบการดำเนินงานสำหรับการส่งเสริมองค์กรสุขภาวะที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการเพิ่มผลิตภาพควบคู่ไปกับการสร้างความสุขให้กับบุคลากรในสถานประกอบการ
“การสร้างสุขภาวะองค์กร (Happy Workplace) เป็นกระบวนการพัฒนาคนในองค์กรอย่างมีเป้าหมายและยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร เพื่อให้องค์กรมีความสามารถและเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง นำพาองค์กรไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้การสร้างองค์กรแห่งความสุขยังช่วยสนับสนุนให้เกิด SMEs 4.0 เพราะจะทำให้เกิดการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง เช่น พัฒนาคุณภาพชีวิต ของคนทำงานปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการ การพัฒนากระบวนการทำงาน การพัฒนาให้พนักงานร่วมคิดค้นนวัตกรรม ซึ่งการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมาถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยมี SMEs เข้าร่วมโครงการนำร่องจำนวน 159 แห่ง หลังจากการดำเนินงานมีค่าเฉลี่ยความสุข HAPPINOMETER เพิ่มขึ้นทุกมิติ จากร้อยละ 59.84 เป็นร้อยละ 62.00 โดยพบว่าพนักงานมีขวัญกำลังใจและมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กรมากขึ้น มีบรรยากาศในการทำงานที่ดีขึ้น พนักงานในองค์กรทุ่มเทในการทำงานมากขึ้น มีการขาดงาน การลาป่วย การลากิจ และการลาออกลดน้อยลง ส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ถึงร้อยละ 7.8 และมีมูลค่าผลตอบแทนที่สามารถคิดเป็นเงินได้กว่า 240 ล้านบาท (ข้อมูลสถิติจากที่ปรึกษาโครงการศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล) นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเจ้าหน้าที่กรมฯ เป็น SHAP Agents จำนวน 196 คน เพื่อทำหน้าที่จัดฝึกอบรมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ : NEC โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) และโครงการพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายคลัสเตอร์อุตสาหกรรม เป็นต้น เพื่อพัฒนา SMEs ให้เป็นองค์กรแห่งความสุข รวมทั้งพัฒนารูปแบบและเครื่องมือการพัฒนาผลิตภาพควบคู่กับการสร้างสุขภาวะองค์กรใน SMEs ทั้งนี้ กรมฯ มีแผนการดำเนินงานโครงการ SHAP ร่วมกับ สสส.อีก 114 แห่ง ตั้งแต่ปี 2561-2563 โดยหวังว่าจะเป็นส่วนสำคัญ ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมีความก้าวหน้าและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” นายกอบชัย กล่าว
ด้าน นายสัมพันธ์ ศิลปะนาฏ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหาร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การดำเนินโครงการได้มีการวินิจฉัยองค์กรโดยใช้เครื่องมือ HAPPINOMETER ซึ่งค่าความสุขเฉลี่ยทั้ง 159 แห่ง ก่อนดำเนินงานมีค่าเฉลี่ยร้อยละ 59.84 โดยมีมิติค่าความสุขต่ำสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ Happy Money, Happy Relax และ Happy Society ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ SHAP Agents ได้มีการส่งเสริมการสร้างสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจ จัดฝึกอบรมความรู้และแนวทางให้กับบุคลากรของสถานประกอบการ จัดทำแผนงานส่งเสริมการสร้างสุขภาวะองค์กร ให้คำปรึกษาแนะนำ พร้อมทั้งติดตามประเมินผล คณะทำงานสร้างสุขในสถานประกอบการได้ดำเนินการทำกิจกรรมสร้างความสุข เพื่อให้เกิดสุขภาวะองค์กรและการสร้างความสุขในมิติต่างๆให้เหมาะสมกับพนักงานในสถานประกอบการนั้นๆ และได้เกิดกิจกรรมสร้างสุขที่หลากหลาย ได้แก่ 1. Happy Body เป็นการส่งเสริมให้พนักงานของ SMEs มีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งกายและจิตใจ 2.Happy Heart เป็นการส่งเสริมให้พนักงานของ SMEs มีน้ำใจเอื้ออาทร ต่อกันและกัน 3. Happy Relax เป็นการส่งเสริมให้พนักงานของ SMEs รู้จักผ่อนคลายต่อสิ่งต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต หาวิธีผ่อนคลายเพื่อรักษาความสมดุลชีวิต 4.Happy Brain เป็นการส่งเสริมให้พนักงานของ SMEs มีการศึกษาหาความรู้พัฒนาตนเองตลอดเวลาเพื่อให้เป็นมืออาชีพและทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต5. Happy Soul เป็นการส่งเสริมให้พนักงานของ SMEs มีคุณธรรม มีความซื่อสัตย์ มีความศรัทธาในศาสนา และมีศีลธรรม ในการดำเนินชีวิตนำความสุขสู่องค์กร 6. Happy Money เป็นการส่งเสริมให้พนักงานของ SMEs มีเงินเก็บ รู้จักเก็บ รู้จักใช้ ไม่เป็นหนี้ ปลูกฝังนิสัยประหยัดอดออม ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นยึดหลักคำสอนการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง 7.Happy Family เป็นการส่งเสริมให้พนักงานของ SMEs มีครอบครัวที่อบอุ่นและมั่นคง ให้ความสำคัญต่อครอบครัว 8. Happy Society เป็นการส่งเสริมให้พนักงานของ SMEs มีความรักสามัคคี เอื้อเฟื้อต่อชุมชนที่ตนทำงานและที่พักอาศัย
นอกจากนี้ โครงการ SHAP ได้ดำเนินการจัดประกวดคัดเลือกวิสาหกิจเพื่อเป็นองค์กรต้นแบบด้านการสร้างสุขภาวะองค์กรและพัฒนาผลิตภาพให้กับวิสาหกิจอื่นๆ ต่อไป และส่งเสริมให้ SMEs นำหลักการสร้างสุขภาวะองค์กรไปประยุกต์ใช้ให้แพร่หลายมากขึ้น และได้วิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จและสามารถเป็นองค์กรต้นแบบและตัวอย่างที่ดี สามารถนำไปถ่ายทอดสู่วิสาหกิจอื่นๆ ต่อไป โดยมีการมอบรางวัลให้กับวิสาหกิจ จำนวน 39 แห่ง และเจ้าหน้าที่ SHAP Agents ได้ดำเนินการปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท และเสียสละ จนบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการขับเคลื่อนและดำเนินงานต่อไป