กลไกเสริมศักยภาพผู้สูงอายุอย่างกระปรี้กระเปร่า

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


กลไกเสริมศักยภาพผู้สูงอายุอย่างกระปรี้กระเปร่า thaihealth


ปัจจุบันมีการส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุผ่าน รูปแบบและกลไกต่างๆ มากมาย เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุ ชมรมผู้สูงอายุ หรือศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นมิติด้านสุขภาพ ด้านการมีส่วนร่วมและด้านความมั่นคงหรือการมีหลักประกันในชีวิต ทว่าการศึกษาและติดตามผลพบทั้งจุดแข็งและ จุดอ่อนที่จำเป็นต้องมีการพัฒนาการดำเนินงาน


เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเวทีสัมมนา "Active and Productive Ageing : ความท้าทายที่ไทยต้องไปให้ถึง" มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการศึกษาวิจัยภายใต้ แผนการบริหารจัดการโครงการวิจัยท้าทายไทยกลุ่มเรื่อง Active and Productive Ageing เพื่อนำมาขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมของสังคมไทยในการมุ่งสู่สังคมสูงวัยอย่างกระปรี้กระเปร่า คือ เป็นผู้สูงอายุที่ปราศจากโรค มีความสามารถในการใช้ร่างกาย สรีระวิทยา จิตใจ และสังคม ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปตามกระบวนการชราที่เกิดขึ้น ให้ทำงานได้อย่างเหมาะสม มีความสามารถทำอะไรๆ ได้ตามสิทธิที่มีอยู่ มีชีวิตที่อิสระ มีส่วนร่วม และทำได้สำเร็จด้วยตัวเอง


จากการศึกษา เรื่อง "โครงการจัดทำข้อเสนอการพัฒนาการดำเนินงานส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ" ของ รศ.ดร.อาชัญญา รัตนอุบล อาจารย์ ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะ ซึ่งเป็นการวิจัยภายใต้แผนงานบริการจัดการโครงการวิจัยท้าทายไทย กลุ่มเรื่อง Active and Productive Aging ในด้านการพัฒนาศักยภาพและบทบาทของผู้สูงอายุ โดยใช้แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแนวทางการสนทนากลุ่มเป็นเครื่องมือในการศึกษาวิจัย ในกลุ่มผู้บริหาร ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กลุ่มคนต่างช่วงวัย และผู้สูงอายุที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการดำเนินงานส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุในรูปแบบโรงเรียนผู้สูงอายุ การรวมตัวผ่านกิจกรรม การรวมตัวกับกลุ่มคนหลายช่วงวัย และ ศพอส. จำนวน 556 คน


ผลการศึกษาแบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือ 1.จากการศึกษาเอกสารเกี่ยวกับการจัดทำนโยบาย กลไก และมาตรการในการดำเนินงานส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ พบว่า มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและ ภาคประชาสังคม มุ่งเน้นด้านสุขภาพ ด้านการมีส่วนร่วม และด้านความมั่นคงหรือการมีหลักประกันของชีวิต มีการจัดทำมาตรการและออกแบบกลไกเพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการดำเนินงานส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม ทุกรูปแบบเน้นการส่งเสริมการเห็นคุณค่าในตนเอง และ 2.จากการศึกษาสภาพจริงของการดำเนินงานส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ พบว่ามีความหลากหลายของรูปแบบกิจกรรมขึ้นอยู่กับพื้นที่และหน่วยงาน องค์กรและเครือข่ายที่สนับสนุน มีการทำงานร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุ และองค์กรภาคีเครือข่าย่ตางๆ ที่เกี่ยวข้อง เน้นการส่งเสริมสังคมและสุขภาพเป็นสำคัญ ตามด้วยการส่งเสริมการมีรายได้ของผู้สูงอายุ


จากการศึกษาพบจุดเน้นและจุดอ่อนที่สำคัญของรูปแบบต่างๆ ได้แก่ 1. โรงเรียนผู้สูงอายุ มีจุดเน้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านสุขภาพและการดูแลตัวเอง โดยให้ผู้สูงอายุและชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ส่วนจุดอ่อน คือ กลไกด้านหลักประกันไม่มีความสอดคล้องกับนโยบายและมาตรการ และยังเน้นการรวมกลุ่มเฉพาะผู้สูงอายุการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิกชุมชนและการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกองทุนการออมน้อย 2. รูปแบบการรวมตัวผ่านกิจกรรม มีจุดเน้นที่สำคัญเรื่องการรวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมการเห็นคุณค่าผ่านกิจกรรม  ขณะที่จุดอ่อนอยู่ที่การนำชุมชนเข้ามาร่วมมือและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุและยังขาดการส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนการออม และ 3. รูปแบบ ศพอส. มุ่งเน้นการส่งเสริมให้มองเห็นคุณค่าในตนเองของผู้สูงอายุผ่านกิจกรรมหลากหลายทั้งด้านสุขภาพและอาชีพ และจุดอ่อนคือมีการนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและการส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนออม


ข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้มี 8 ข้อหลัก ประกอบด้วย 1. จัดดำเนินการให้เกิดการกระจาย อำนาจให้ท้องถิ่นมีบทบาทหลักในการสนับสนุนกลไกการรวมตัวกันของผู้สูงอายุในรูปแบบต่างๆ ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆในและนอกพื้นที่ 2. ส่งเสริมให้มีกิจกรรมเชิงพัฒนาที่เน้นการพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและสังคม 3. ใช้แนวคิด Ageing Friendly Learning Space ในการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่เป็นมิตรกับคน ทุกวัย 4. ส่งเสริมให้เกิดการเปิดกว้างในการรวมกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมกลุ่มที่เกิดขึ้นตามอัธยาศัยของผู้สูงอายุและคนในชุมชน และมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่ม ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนทุกวัย 5. ส่งเสริมให้คนในครอบครัวเข้าร่วมกิจกรรมกับผู้สูงอายุ เช่น การร่วมเป็นอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุอื่นๆ ที่นอกเหนือจากผู้สูงอายุในครอบครัว เป็นต้น 6. จัดดำเนินการเตรียมความพร้อมและการวางแผนชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก ด้วยการส่งเสริมให้มีหลักสูตรที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ด้านการมีส่วนร่วมกับสังคม และด้านความมั่นคงหรือหลักประกันในชีวิต 7. ส่งเสริมให้เกิดการทำงานตามแนวทางประชารัฐ คือ การร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับชุมชน สร้างเครือข่ายความร่วมมือในทุกด้านที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุ และ 8. ผู้สูงอายุ ควรสร้างเสริมพลังบวกด้วยการสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของตนเอง ปรับเปลี่ยน วิธีคิด ทัศนคติในการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างค่านิยมใหม่ของความเป็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ


จากการศึกษานี้จะเห็นได้ว่ากลไกการรวมกลุ่มในรูปแบบต่างๆ ของผู้สูงอายุ ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลไกในการพัฒนาศักยภาพ แต่ยังขาดเรื่องการเชื่อมโยงกิจกรรมเข้ากับชุมชนและการจัดตั้งการออมยังมีน้อย การจะส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุให้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจึงควรขยายจุดเด่นปิดจุดอ่อน

Shares:
QR Code :
QR Code