กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก้วกล้า ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
ที่มา : แฟนเพจกินดีmeสุข
ภาพประกอบจากแฟนเพจกินดีmeสุข
น้ำเสียงบ่งบอกถึงความดีใจ ใบหน้ามีรอยยิ้ม แม้จะยังใช่ยิ้มที่เบ่งบานเต็มหน้า แต่ก็เป็นรอยยิ้มของความภาคภูมิใจที่รู้ว่า นับแต่นี้ไปพี่น้องทุกคน จะลืมตาอ้าปากได้แล้ว…
พี่วิมล ฝั่งทะเล วัย 53 ปี ในวันนี้คือประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก้วกล้า ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี แต่กว่าจะผ่านมาจนกลายเป็นกลุ่มวิสาหกิจ และมีที่ดินทำเกษตรปลอดสารพิษแบบนี้ได้ ไม่ได้มาง่าย ๆ
พี่วิมล และกลุ่มพี่น้องเกษตรกร 18 ชีวิต 6 ครอบครัว เป็นชาว จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นเกตรกรที่เช่าที่ดินเพื่อทำนา “ปลูกข้าว” แบบใช้สารเคมี จนวันหนึ่งที่ดินเช่าทำนาโดนเวนคืนเพื่อทำมอเตอร์เวย์ ทั้งกลุ่มจึงต้องหาลู่ทางใหม่ เมื่อได้รับการชักชวนให้มาปลูกกล้วยหอมทองที่ จ.เพชรบุรี เพื่อส่งขายประเทศญี่ปุ่น จึงตัดสินใจย้ายมา
หลังทำอยู่ได้ 8 เดือน ไม่ได้รับค่าแรง จึงขอถอนตัวออกจากผู้ชักชวน แต่ก็มีปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะปัญหาที่ทำกิน กลายเป็นว่าพี่วิมลและกลุ่มพี่น้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ สปก.โดยที่ไม่รู้ตัว
ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี พี่วิมลได้รีบความช่วยเหลือจาก "ผู้ใหญ่บ้าน" เป็นธุระจัดการเช่าพื้นที่ทำกินซึ่งเป็นพื้นที่ถูกต้องตามกฎหมายให้ใหม่ พร้อมทั้งเป็นอยู่อาศัยด้วย ขณะเดียวกันมี “กลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม เดอะบาสเก็ต” เข้ามาช่วยส่งเสริมให้คำแนะนำและหาตลาดรองรับผลผลิตให้
หลังจากใช้เวลาเพียงหนึ่งปีพลิกฟื้นที่ดินเช่า 5 ไร่ เพื่อทำเกษตรอินทรีย์ พี่วิมลและพี่น้องก็สามารถได้ซื้อที่ดินจากผู้ให้เช่าในราคา 600,000 บาท มาเป็นของพวกเขาได้
ปัจจุบันพื้นที่ 5 ไร่แห่งนี้ ทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักปลอดสารพิษกว่า 30 ชนิด เลี้ยงไก่ เลี้ยงแพะ เลี้ยงปลาเพื่อนำผลผลิตทั้งหมดส่งขายคนเมือง มีรายได้ชัดเจน และไม่ต้องกังวลต่อการถูกขับไล่เรื่องที่อยู่อาศัยอีกแล้ว
"ที่ผ่านมาเราคิดเสมอว่าอยากปลูกผักปลอดสารพิษ แต่ต้องปลูกในที่ของเราเองถึงจะคุ้ม หลังผ่านปัญหาต่าง ๆ ได้ผู้ใหญ่เข้ามาช่วยเหลือ ช่วงเช่าดินที่ตั้งใจไว้เลยว่าขอเช่าแค่หนึ่งปี เพราะปีที่สองเราจะซื้อ เป็นของเราเอง ขณะนั้นยังไม่รู้ว่าจะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน แต่เราทุกคนมีความตั้งใจ แล้วก็ทำได้เพราะทีดินแปลงนี้เพิ่งเป็นของเราเมื่อต้นปีที่ผ่านมา"
พี่น้องกลุ่มนี้ใช้หลักการช่วยกันปลูก ออมเงิน และสร้างเครดิตกับธนาคารโดยการนำเงินที่ขายผลิตผลิตได้เข้าธนาคารเพื่อให้เห็นว่ากลุ่มฯ มีรายได้จริง
หลังจากมีที่ดินเป็นของตนเองตามที่มุ่งหวัง พี่วิมลและกลุ่มพี่น้อง ได้วางแผนการปลูกผักตามออเดอร์ลูกค้า ตามที่เดอะบาสเก็ตฯ หาตลาดให้ โดยแบ่งกันปลูกผักคนละ 5-6 ชนิด ตามความถนัด ส่งผลให้มีผลผลิตได้เต็มกำลังและเต็มอัตรา ส่งลูกค้าได้ตามตั้งใจไว้
ยิ่งนับวันปริมาณความต้องการของลูกค้ายิ่งมีมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้พี่วิมลบอกไม่ได้กังวล เพราะยังมีพี่น้องที่เคยร่วมชะตากรรมผ่านความยากลำบากร่วมกันมาอยู่ที่อยุธยาอีกหลายครอบครัว เมื่อการทำการเกษตรอินทรีย์ที่นี่สำฤทธิ์ผลเช่นนี้ อนาคตจะชักชวนพี่น้องทางโน้นให้มาช่วยกันทางนี้ เพื่อจะได้เป็นพี่น้องชาวเกษตรอินทรีย์ด้วยกัน ช่วยกันผลิตผักปลอดสารพิษส่งไปให้พี่น้องคนเมืองได้ทาน
“มาถึงวันนี้ก็ดีใจที่เห็นพี่น้องมีที่ทำกินเป็นของตนเอง แต่ก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป หลังจากเพิ่มผลผลิตให้ลูกค้าแล้ว เราจะมองเรื่องการแปรรูป และการแพ็คสินค้าขายในแบบของเรา ซึ่งใช้วัสดุจากธรรมชาติทั้งหมด ล่าสุดทำไปแล้วลูกค้าชอบ เลยคิดว่าจะทำเพิ่มขึ้นอีก เพื่อให้ลูกค้าได้ทานของดีมีประโยชน์”