กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์บ้านบากันเคย
ที่มา : แฟนเพจสุขภาวะชุมชน โดย หนังสือ "วิถีชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานราก: จัดการนํ้า"
ภาพประกอบจากแฟนเพจสุขภาวะชุมชน
เมื่อปี 2538 ทรัพยากรสัตว์น้ำในอ่าวตันหยงโปลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากชาวประมงต่างถิ่นเข้ามาทำประมงแบบล้างผลาญ เช่น การใช้เรืออวนรุนประมาณ 300 กว่าลำ เข้ามาในเขตน่านน้ำ ทำให้สัตว์น้ำขนาดเล็กถูกทำลาย หน้าดินเสีย หญ้าทะเลตาย พะยูน เต่าทะเล ปลาโลมาอพยพไปอยู่ที่อื่น ส่งผลต่ออาชีพประมงพื้นบ้าน
แม้จะมีการปราบปรามติดต่อกัน 7-8 ปี ก็ไม่สำเร็จ ชาวบ้านในพื้นที่จึงปรึกษาหาวิธีว่าจะจัดการอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้ทรัพยากรถูกทำลายมากไปกว่านี้ โดยมีสมาชิกเริ่มแรก 5 คน ช่วยกันผลักดันรณรงค์ในพื้นที่ และทำให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่และร่วมรับประโยชน์มาตลอด โดยร่วมกันพัฒนาพื้นที่นี่้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อที่คนในชุมชนจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปรับจ้างทำงานที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย
กลุ่มอนุรักษ์บ้านบากันเคยมีการพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านประมงอาสาขึ้นมาในปี 2549 จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ ธนาคารกั้ง และธนาคารปูไข่ ในปี 2550 จัดตั้งกลุ่มรีสอร์ทชุมชน ในปี 2551 นอกจากนี้ยังมีกลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนซ่อมแซมเรือประมงพื้นบ้าน กลุ่มเด็กและเยาวชนบ้านบากันเคย กลุ่มผู้สูงอายุผลิตหมวก (ตุดง) และกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านบากันเคย พร้อมกับมีการกำหนดกฎกติกาของพื้นที่ เช่น ห้ามทำประมงในพื้นที่ที่ ห่างจากฝั่ง 300 เมตร เพื่อเป็นที่เพาะพันธุ์สัตว์น้ำและอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน จัดให้มีการวางปะการังแบบพื้นบ้าน เพื่อเป็นสถานที่ให้สัตว์น้ำเข้ามาวางไข่ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน มีการแบ่งโซนการใช้เครื่องมือประมงในแต่ละประเภท มีการปลูกป่าชายเลนเพิ่ม โดยผู้ที่ตัดไม้ชายเลนมาใช้สอย 1 ต้น ต้องปลูกเพิ่ม 10 ต้น โดยจะปลูกเพิ่มเติม ปีละ 2 ครั้ง มีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ปีละ 2 ครั้ง พร้อมออกตรวจตราป้องปรามผู้ประกอบอาชีพ ประมงที่ใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง รวมทั้งผลักดันให้กลุ่มเด็กและเยาวชนบ้านบากันเคยเข้ามามีบทบาท เพื่่อที่จะเป็นการสืบทอดองค์ความรู้ตลอดจนสามารถเป็นไกด์นำเที่ยวแก่ผู้ที่แวะมาเยี่ยมเยียนในพื้นที่อีกด้วย
ปัจจุบันเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจฐานราก จึงมีการตั้งศูนย์การท่องเที่ยวชุมชนบ้านบากันเคย และสภาองค์กรชุมชนตำบลตันหยงโป เป็นตัวขับเคลื่อน ประสานกับทุกๆ กลุ่มในชุมชนให้ก้าวเดินไปพร้อมกัน โดยมีการนำสินค้าของกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่มาจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว และมีการประสานกับกลุ่มต่างๆ ภายในตำบล ในการผลิตอาหารทะเลแปรรูป ถือเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับคนทั้งตำบล ทำให้ตำบลตันหยงโปมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการท่องเที่ยวชุมชน