กลุ่มผ้าทอบ้านป่าแดง
ที่มา : วิถีชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานราก : ผ้าพื้นเมือง โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และประชารัฐ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
บ้านป่าแดง หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 6 ตำบลหนองพะยอม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร มีพื้นเพเป็นชาวไทยพวนที่อพยพมาจากอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
ซึ่งร้อยทั้งร้อยมีอาชีพเกษตรกรรม แต่คนกลุ่มนี้มีภูมิปัญญาการทอผ้าติดตัวมา ทอเพื่อใส่กันเอง กระทั่งกาลเวลาพาให้เสื่อมคลายลงไป ด้วยแต่ละบ้านต้องทำนามากขึ้นเพื่อส่งเข้าตลาด มิใช่ส่งเข้าครัวเรือนตัวเองเช่นแต่ก่อน
กระทั่งวันหนึ่งที่ข้าวประสบปัญหา คนในหมู่บ้านจึงได้เริ่มทอผ้าออกจำหน่ายเป็นรายได้เสริม มีการรวมกลุ่มลงเงินหุ้นเพื่อบริหารจัดการ แต่ทอกันตามบ้าน โดยสมาชิกจะนำผลิตภัณฑ์มาขายที่กลุ่ม ทั้งนี้กลุ่มได้สนับสนุนทั้งในด้านการผลิต การจัดการ รูปแบบ การพัฒนาคุณภาพฝีมือ และให้บริการเงินทุนหมุนเวียนแก่สมาชิก
ผ้าทอพื้นเมืองบ้านป่าแดงเป็นการทอผ้าด้วยกี่กระตุก อันเป็นเอกลักษณ์ เน้นความประณีต สวยงาม มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ มีความคงทน สีไม่ตก เนื้อผ้าไม่หดตัว ทั้งยังมีราคาถูกกว่าผ้าทอด้วยมือของที่อื่น ด้วยคุณสมบัติต่างๆ นี้เอง ที่ทำให้ผ้าทอด้วยมือของบ้านป่าแดง อำเภอตะพานหิน เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย มีชื่อเสียงขจรไกลจนถึงประเทศในทวีปยุโรป เช่น อิตาลี และฝรั่งเศส
ผลิตภัณฑ์ผ้าทอป่าแดงเป็นผ้าที่มีความยาวมากกว่าผ้าทอปกติ คือมีความกว้าง 0.90 เมตร และมีความยาว 4.00 เมตร สามารถนำไปตัดเป็นชุด เพื่อนำไปสวมใส่ในวาระสำคัญต่างๆ โดยมีลวดลายที่ทำกันมาแต่บรรพบุรุษ เช่น ลายเครือเถา ลายเรขาคณิต ลายดอกไม้ ลายสัตว์ นอกจากนี้ยังมีประเภทพิเศษที่มีตัวอักษรตามที่ลูกค้าต้องการ ทั้งนี้ต้องขึ้นกับความชำนาญของผู้ทำด้วย
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้า มีตั้งแต่โครงกี่ทอผ้า รางกระสวย ข้อยึดรางกระสวย ใบพัดม้วนด้าย ลูกกลิ้งม้วนผ้าพร้อมไม้ขัด ลูกกลิ้งโยงตะกอ เท้าเหยียบ ไม้ร้อยม้านั่ง คันกระตุก
ขั้นตอนการทอผ้า มีตั้งแต่การกรอด้าย การเดินด้ายยืน หรือค้นเส้นด้ายยืน การร้อยฟันหวี หรือการหวีเส้นด้าย การเก็บตะกอ การมัดลายมัดหมี่ (การเตรียมมัดหมี่) การย้อมด้ายมัดหมี่ การปั่นหมี่ การทอผ้าเป็นผืนผ้า
ทั้งนี้ เพื่อให้การทอผ้ายังคงอยู่ในพื้นที่ คนตำบลหนองพะยอมจึงปลูกฝังให้บุตรหลานได้เรียนรู้การทอผ้าจากครอบครัว ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนวัดป่าแดงได้จัดหลักสูตรการทอผ้าให้แก่นักเรียน เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบทอดการทอผ้าให้คงอยู่สืบไป