“กลุ่มคนที่ถูกลืม” เข้าไม่ถึงสิทธิสุขภาพ

ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


“กลุ่มคนที่ถูกลืม” เข้าไม่ถึงสิทธิสุขภาพ thaihealth


แฟ้มภาพ


นักวิจัยเผยประชากรกลุ่มเปราะบาง “คนชายขอบ-ไร้รัฐ-ข้ามเพศ-พ้นคุก” ยังมีปัญหาเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ แนะต้องเพิ่มการเข้าถึงสิทธิ รับบริการมีคุณภาพตรงความต้องการกับปัญหา สวรส. แนะคลอดนโยบายสาธารณะ 


นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ นักวิจัยภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานประชุมย่อยคู่ขนานหัวข้อ “The last mile of UHC in Thailand, Do we reach the vulnerable” ในงานประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2560 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ประชากรกลุ่มเปราะบาง หมายถึง กลุ่มประชากรที่มีความอ่อนแอ มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกชักจูง ครอบงำ และคุกคามจากปัจจัยเสี่ยงด้านต่างๆ เช่น สุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น และขาดศักยภาพในการจัดการกับปัจจัยเสี่ยง ทั้งนี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “ศึกษาแนวคิดและแนวทางปฏิบัติเพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของประชากรกลุ่มเปราะบางด้านสุขภาพในระดับพื้นที่ของประเทศไทย”


เพื่อถอดบทเรียนจากโครงการพัฒนาสุขภาพในชุมชน เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของประชากรกลุ่มเปราะบาง ในบริบทของประเทศไทย ใน 8 พื้นที่ ได้แก่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก, อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น, อ.ด่านซ้าย จ.เลย, อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา, อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์, อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี, อ.กงหรา จ.พัทลุง และ อ.คลอง ขลุง จ.กำแพงเพชร


ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ นักวิจัยภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากการทบทวนวรรณกรรมต่างประเทศและสังเคราะห์จากกรณีศึกษาในประเทศไทย ทีมวิจัยเสนอเกณฑ์พิจารณาประชากรกลุ่มเปราะบางด้านสุขภาพของไทย มีอย่างน้อย 3 กลุ่ม คือ 1. ประชากรชายขอบ ซึ่งอาจถูกตีตรา หรือถูกเลือกปฏิบัติจากสังคม หรือถูกกักกันออกจากสังคมในทางใดทางหนึ่ง เช่น คนยากจน คนไร้รัฐ ชาติพันธุ์กลุ่มน้อย แรงงานข้ามชาติ เด็กกำพร้า คนข้ามเพศ เกย์ เลสเบียน ผู้ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศ ผู้ขายบริการทางเพศ ผู้ใช้ยาเสพติด ผู้เคยได้รับโทษจำคุก หรือพ้นโทษแล้ว เป็นต้น ถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่ควรคิดต่อว่าในประเทศไทยจะจัดระบบบริการที่เป็นธรรมให้ได้อย่างไร


2. ประชากรซึ่งมีความต้องการทางด้านสุขภาพ แต่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ เช่น ผู้ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ประชากรซึ่งมีถิ่นที่อยู่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น และ 3. ประชากรซึ่งมีความเสี่ยงต่อการถูกทอดทิ้ง หรือการถูกกระทำทารุณหากไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพในระยะยาว เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการทางกาย ผู้พิการทางจิตเวช ผู้ป่วยติดบ้าน ผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น กลุ่มนี้อาจจะดูไม่มีความเสี่ยงเพราะเราเข้าใจว่ามีระบบการบริการสุขภาพรองรับแล้ว แต่หากขาดการจัดการที่ดี ประชากรกลุ่มนี้อาจได้รับบริการที่มีคุณภาพไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการทางด้านสุขภาพในระยะยาว


“แม้ประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และมุ่งเน้นในเรื่องของการจัดสิทธิให้มีความครอบคลุม แต่ประเด็นสำคัญ คือ เมื่อคนไทยมีสิทธิแล้ว สามารถเข้าถึงสิทธิที่รัฐจัดให้ได้หรือไม่ และเมื่อเข้าถึงสิทธิได้แล้ว จะได้รับบริการที่มีคุณภาพและเป็นธรรมตอบสนองตรงต่อความต้องการ หรือปัญหาทางด้านสุขภาพที่แท้จริงของเขาเพียงใด เช่น คนที่อยู่ห่างไกลได้สิทธิบัตรทอง แต่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาใช้สิทธิใน รพ. ที่อยู่ห่างไกลจากภูมิลำเนา หรือแม้มีสิทธิแต่ไม่มีผู้ให้บริการสุขภาพอยู่ในพื้นที่ ไม่มีผู้เชี่ยวชาญในการตอบสนองปัญหาสุขภาพอย่างมีคุณภาพ หรือไม่มีระบบส่งต่อการดูแลที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ” นพ.บวรศม กล่าวและว่า นโยบายส่วนกลางยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ ปัจจุบันเราพยายามลดความแตกต่างของสิทธิด้านสุขภาพระหว่าง 3 กองทุนหลักภาครัฐ แต่ไม่ได้เน้นการพัฒนาระบบการดูแลประชากรกลุ่มเปราะบาง ซึ่งแฝงอยู่ในผู้มีสิทธิของทั้ง 3 กองทุนดังกล่าว


นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผอ.สวรส. กล่าวว่า จากการวิจัยจึงมีข้อเสนอให้ประเทศไทยต้องมีนโยบายสาธารณะที่ชัดเจนสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบาง โดยพิจารณาถึงความต้องการทางสุขภาพเพื่อการจัดระบบบริการที่เหมาะสม โดยประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ หากเราประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องประชากรกลุ่มเปราะบางให้เป็นโอกาสของการพัฒนานโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะทำให้เกิดความสำเร็จและเป็นความยั่งยืนมากขึ้น

Shares:
QR Code :
QR Code