กลั่นประสบการณ์ 10 ปี ลด ‘เหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ’

กลั่นประสบการณ์ 10 ปี ลด ‘เหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ’

ลดบุหรี่

ห้องย่อยเรื่อง ถอดรหัสปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ : 10 ปีแห่งประสบการณ์ ‘ลดเหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ’ เริ่มต้นด้วยการถอดประสบการณ์การทำงาน ‘ลดบุหรี่’ ดร.ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและการจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวถึงสถานการณ์การสูบบุหรี่ว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมามีการลดการสูบบุหรี่ลงประมาณ 10% อย่างไรก็ตามในช่วง 2 ปีล่าสุดนั้น สถิติไม่ลดลงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักสูบหน้าใหม่

ในอดีตมาตรการควบคุมของไทยก้าวหน้าจนถูกนำไปบรรจุในกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ (fctc) ขององค์การอนามัยโลกในปี 2546 โดยเพิ่มประเด็นการป้องกันการแทรกแซงนโยบายสาธารณะของอุตสาหกรรมยาสูบด้วย แต่ก็ยังมีสิ่งที่เป็นปัญหาท้าทายคือ การบังคับใช้กฎหมายยังอ่อนการค้าเสรีเปิดให้บุหรี่ถูกเข้าประเทศ และนโยบายไปไม่ถึงชาวชนบทซึ่งสูบบุหรี่มวนเอง

ส่วนตัวอย่างการทำงานในพื้นที่ เช่น การที่ภาคีตกลงทำเรื่อง ‘3 ลด’ (ลดนักสูบหน้าใหม่ ลดผู้สูบในชนบท ลดควันบุหรี่มือสอง) ‘3 เพิ่ม’ (เพิ่มกลไกการป้องกันการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ เพิ่มผู้ขับเคลื่อนมาตรการทางสังคม เพิ่มนวัตกรรมควบคุม) รวมถึงโครงการ ‘จังหวัดปลอดบุหรี่’ นำร่อง 15 จังหวัด โดยสร้างกลไกระดับพื้นที่ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นจุดจัดการเชื่อมโยงโครงข่ายในพื้นที่

น.ส.แสงเดือน สุวรรณรัศมี ผู้จัดการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (มสพ.) กล่าวว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมขับเคลื่อนโดยเน้นเรื่องนโยบาย เพราะใช้เงินน้อยที่สุดและส่งผลเปลี่ยนแปลงมาก กระทั่งเกิด สสส. ในปี 2545 ทำให้สามารถเคลื่อนงานลงสู่ภูมิภาคได้มากขึ้น ควบคู่การผลักดันนโยบาย นอกจากนี้ยังมีงานเปลี่ยนค่านิยมของสังคมไทยซึ่งเป็นงานหนักที่ต้อง ‘ทำสงคราม’ กับบรรษัท บุหรี่ซึ่งทำ csr หนักมากภายใต้แนวคิด ‘เยาวชนในวันนี้ คือ ลูกค้าคนสำคัญในวันพรุ่งนี้’

ลดเหล้า

วงต่อมาเป็นการถอดประสบการณ์ ‘ลดเหล้า’ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ไชยสงค์ รอง ผอ.ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวในภาพรวมว่า แอลกอฮอล์ก่อปัญหาภาระโรคในสังคมไทยคิดเป็นร้อยละ10 และส่งผลกระทบอื่นด้วย เช่น ปัญหาอุบัติเหตุ ความรุนแรงในครัวเรือน ด้านการบริโภคก็พบว่า คนไทยบริโภคแอลกอฮอล์สูงมากไม่ต่างจากยุโรป สถิติทรงตัวไม่มีแนวโน้มปรับลดอย่างเด่นชัด เฉลี่ยแล้วคนไทยดื่มปีละ 24 ลิตรต่อคน (ที่ดื่ม) และยังซื้อหาได้ง่ายมาก

การดำเนินงานที่ผ่านมาใช้แนวคิดพื้นฐาน ‘สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา’ ประสานงานระหว่างหน่วยวิชาการ ภาครัฐและเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และพบว่า มาตรการเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือมาตรการด้านอุปทาน เช่น มาตรการทางภาษี การจำกัดการเข้าถึง

นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคส.) กล่าวว่า เครือข่ายเริ่มทำงานปี 2546 พร้อมกับการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ปัจจุบันมีศูนย์ประสานงานภูมิภาค 8 แห่งเป็นกลไกบริหารจัดการมีประชาคมงดเหล้าทุกจังหวัด ทำงานร่วมกับเอ็นจีโอและหน่วยด้านนโยบาย ที่ผ่านมามีบทบาทสำคัญในการรวบรวมรายชื่อสนับสนุนกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งประกาศใช้ปี 51 หลังจากนั้นก็มีบทบาทในการผลักให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่มีผ่านการร้องเรียน สิ่งที่น่าห่วงคือ การค้าเสรีและการท่องเที่ยวเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล แต่เป็นความยากลำบากของเครือข่ายในการผลักดันการลดเหล้า

ลดอุบัติเหตุ

วงสุดท้ายคือประสบการณ์ ‘ลดอุบัติเหตุ’ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า โดยภาพรวม ไทยยังสอบตกเรื่องมาตรการต่างๆ เช่น การจำกัดความเร็ว การดื่มแล้วขับฯ ที่ผ่านมาอุบัติเหตุถูกมองเป็นปัญหาของปัจเจก และไม่ค่อยมีการพูดถึงปัจจัยเสี่ยงเชิงโครงสร้าง วัฒนธรรม วิธีคิด ปัจจุบันยูเอ็นเริ่มรณรงค์ให้จับตาปัจจัยเสี่ยง 5 เสาหลัก ได้แก่ แผนงานลดอุบัติเหตุ มาตรฐานโครงสร้างพื้นฐาน มาตรฐานยานพาหนะ การเตรียมความพร้อมคนขับรถ มาตรการรองรับเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

สิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งของปัญหาคือ ทัศนคติเรื่องอุบัติเหตุ โพลล์สำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 26 เห็นว่า อุบัติเหตุเป็นเรื่องเวรกรรม นอกจากนี้ยังเห็นว่าพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เป็นเรื่องเล็ก ประกอบกับท้องถิ่นเองก็พยายามอำนวยความสะดวกด้วยการขยายถนนและยุบฟุตบาท สุดท้ายคือสื่อมวลชนที่ไม่ตระหนักถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง

นพ.วิวัฒน์ คีตมโนชญ์ แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) กล่าวว่า โครงสร้างการจัดการปัญหาอุบัติเหตุเป็นโครงสร้างแนวตั้งซึ่งไม่ค่อยเคลื่อนอะไรได้มาก เช่น พ.ร.บ.จราจรทางบก ปี 2522 กว่าจะออกกฎกระทรวงกำหนดเรื่องหมวกนิรภัยใช้เวลา 13 ปี

ดังนั้น หากไม่มีภาควิชาการ ประชาสังคมช่วยขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ก็จะไปไม่ถึงไหน สสส. จึงเป็นนวัตกรรมที่สำคัญมาก ในการหนุนหน่วยนโยบายต่างๆ และเครือข่ายในพื้นที่ ตัวอย่างของจังหวัดภูเก็ตพบว่า การทำงานแนวราบกับภาคีต่างๆ สร้างความก้าวหน้าได้มาก โดยหัวใจสำคัญคือ การใช้ข้อมูลเพื่อเห็นปัญหา พัฒนาคนและเครือข่าย หานวัตกรรมในการทำงาน ปัจจุบันภาคีในภูเก็ตตั้งเป้าหมายร่วมกันว่า จะลดอุบัติเหตุลง 4 เท่าภายใน 2 ปี

 

 

ที่มา : จดหมายข่าว “มหามวลมิตร” เวทีครบรอบ สสส. 12 ปี ฉบับที่ 1

 

Shares:
QR Code :
QR Code