กรุงเทพฯ เมืองสุขภาพดี

สร้างค่านิยมปรับพฤติกรรมให้ออกกำลังมากขึ้น

 

กรุงเทพฯ เมืองสุขภาพดี 

          ทั้งที่ทราบกันดีว่าการจะมีสุขภาพดี แข็งแรง ปลอดจากโรคภัยต่าง ๆ นั้น การออกกำลังกายเพื่อเปิดโอกาสให้ร่างกายได้ขยับกล้ามเนื้อมากกว่าเพียงการเดิน ยืน นั่ง หรือนอนซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวัน เป็น      หนทางที่ดีที่สุดเหนือกว่ายาขนานใด ๆ ทว่าสถิติการออกกำลังกายของ คนไทยยังคงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึงร้อยละ 70 ตลอดเวลา 7 วันในหนึ่งสัปดาห์มีคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ออกกำลังกายมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่ส่วนใหญ่ยังคงออกกำลังน้อยกว่านั้นหรืออาจถึงขั้นไม่มีโอกาสเลย

 

โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ เมืองหลวงที่ดูเหมือนว่าจะพรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งไม่เว้นแม้แต่พื้นที่สีเขียวสำหรับให้ปอดได้มีโอกาสหายใจ ที่เป็นสถานที่ซึ่งสามารถใช้บริการได้ฟรีขอเพียงแค่แบ่งเวลาในหนึ่งวันที่มีอยู่ให้เป็น แต่ทว่ายังมีคนกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ 26 ยังออกกำลังกายไม่เพียงพอกรุงเทพมหานครมีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยได้ออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างต่อเนื่อง โดยถือเป็นนโยบายสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้คนกรุงเทพฯเปลี่ยนพฤติกรรมให้การออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันให้ได้

 

ม.ร.ว.สุขุม พันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีพื้นที่ออกกำลังกายและเล่นกีฬากระจายอยู่ทั่วพื้นที่ โดยแบ่งเป็นลานกีฬา 1,264 แห่ง และสวนสาธารณะ 23 แห่ง นอกจากนี้ยังมีศูนย์กีฬาและศูนย์เยาวชนเพื่อเป็นสถานที่ให้บริการด้านกีฬา ไปจนถึงการสอนและฝึกซ้อมกีฬาขั้นพื้นฐานและการพัฒนากีฬาสู่ความเป็นเลิศไม่เพียงเท่านั้นยังมีการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสโมสรกีฬาเพื่อให้กีฬาเป็นศูนย์กลางของคนในชุมชน และเป็นการสร้างรวมทั้งปลูกฝังการล่นกีฬาและดูกีฬาให้เป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่นอีก 50 สโมสรด้วยและนั่นจึงทำให้เป็นที่มาของการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินการส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพของกรุงเทพมหานครและสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ข้อตกลงที่จะยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนและเครือข่าย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหานคร

 

กรุงเทพฯแม้จะเป็นเมืองแออัดและมีพื้นที่จำกัด แต่ก็มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามกีฬา สวนสาธารณะ ลานกีฬาของชุมชน หรือแม้แต่พื้นที่ว่างใต้ทางด่วน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ที่พร้อมจะให้บริการดูแลเรื่องการออกกำลังกายของประชาชน ดังนั้น กทม.และสสส. จึงมีนโยบายส่งเสริมให้ออกกำลังกาย ยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจัดให้มีลานกีฬา สวนสาธารณะ ศูนย์กีฬา และสโมสรกีฬา ในสังกัดกทม.กระจายทั้งหมด 50 เขต เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ จึงเกิดความร่วมมือในการสร้างกิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครระบุ

 

ด้าน นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการถ่ายทอดกีฬาประเภทต่าง ๆ มากมายซึ่งมีทั้งการแข่งขันภายในและต่างประเทศ แต่สิ่งที่ สสส.อยากบอกก็คือ ในเมื่อทุกคนชื่นชอบการชมกีฬาแล้วก็ควรที่จะชอบการออกกำลังกายด้วย อย่าเป็นเพียงการนั่งชมนั่งเชียร์เพียงอย่างเดียว

 

กีฬาไม่ใช่แค่เพียงการชมการถ่ายทอดทางทีวี หรือแม้แต่ชมในสนามเท่านั้น แต่ยังมีกีฬาเพื่อสุขภาพรวมอยู่ด้วย การที่ สสส.ร่วมลงนามในข้อตกลงกับกรุงเทพมหานครก็เพื่อที่จะมีส่วนร่วมทำให้คนกรุงเทพฯ มีสุขภาพที่สมบูรณ์มากขึ้น

 

การสำรวจพฤติกรรมการออก กำลังกายของคนไทยในปี 2550 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีจำนวนผู้ออกกำลังกายทั้งสิ้น 16.3 ล้านคน ซึ่งกลุ่มเด็กถือเป็นกลุ่มที่ออกกำลังกายมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 73 เนื่องจากอยู่ในวัยเรียน ขณะที่วัยทำงานมีอัตราการออกกำลังกายน้อยที่สุดคือ ร้อยละ 20 ทั้งที่การออกกำลังกายถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่สำคัญผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน จะมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเพียง ร้อยละ 17

 

ขณะที่ผู้ที่ไม่ออกกำลังกายจะมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยสูงถึงร้อยละ 68 หรือประมาณ 9.2 ล้านคน ของจำนวนประชากรอายุ 11 ขวบขึ้นไปองค์การอนามัยโลกแนะนำว่า หากคนทั่วไปหันมาออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที ในรูปแบบที่เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกายจะมีผลทำให้หัวใจ ปอด ทำงานดีขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคที่คนเมืองกำลังป่วยมากที่สุดในเวลานี้ อาทิ โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน มะเร็ง โรคเครียดและปัญหาสุขภาพจิต เพราะการออกกำลังกายจะให้ผลทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านสังคม และแม้แต่ด้านปัญญา

 

ความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้เป็นการสร้างค่านิยมเพื่อปรับพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯให้หันมาออกกำลังกายมากขึ้น โดยคาดว่าภายใน 1 ปีจะมีคนออกกำลังกายเป็นประจำไม่น้อยกว่า 1 แสนคน และจะมีพื้นที่เพื่อใช้ในการออกกำลังกายไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 อีกทั้งยังขับเคลื่อนเครือข่ายสุขภาพให้กระจายทั่วทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ ส่งผลดีต่อคุณภาพประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไปพร้อม ๆ กันด้วยและอีกไม่นานเมืองหลวงแห่งนี้ก็จะพลิกโฉมจากเมืองที่มีคนออกกำลังกายน้อยที่สุดมาเป็น กรุงเทพฯเมืองสุขภาพดี”.

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

Update:21-12-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

 

Shares:
QR Code :
QR Code