กระบอกไม้ไผ่ส่งเสริมการออม สร้างชุมชนเข้มแข็งที่บ้านตีนเป็ด ‘พังงา’

 

กระบอกไม้ไผ่ส่งเสริมการออม สร้างชุมชนเข้มแข็งที่บ้านตีนเป็ด 'พังงา
 
หากท่านเดินทางมาจากตัวเมืองพังงา มาถึงหมู่บ้านตีนเป็ด จะใช้ระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตรตลอดระยะในการเดินทาง จากตัวเมืองพังงาออกมาท่านจะรู้สึกเหมือนกับหลุดออกมายังอีกโลกหนึ่ง เพราะว่าบรรยากาศเต็มไปด้วยธรรมชาติ และหุบเขาสวยงามจริงๆ สำหรับคำว่าบ้านตีนเป็ดนั้นมาจากชาวบ้านเรียกชื่อ ต้นตีนเป็ด หรือต้นพระยาสัตตบรรณ ชาวบ้านถือว่าเป็นไม้มงคล มีความเหนียวแน่นของเนื้อไม้เปรียบได้กับว่า ชาวบ้านตีนเป็ดทุกคนมีความกลมเกลียวสามัคคี จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านตีนเป็ดนั้นเอง
 
บ้านตีนเป็ดหมู่ที่ 2 ต.ลำภี อ.ท้ายเหมือง จ.พังงามีประชากรทั้งหมด 115 ครัวเรือน 426 คน บ้านตีนเป็ดเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เดิมประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำเหมืองแร่ หลังจากราคาแร่ตกต่ำ จึงได้หันมาประกอบอาชีพด้านการเกษตรการปลูกยางพารา ปลูกปาล์ม และทำสวนผลไม้ ตั้งแต่นั้นมา
 
นายวิวัฒน์ วสันต์ ผู้ใหญ่บ้านตีนเป็ด และปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งได้ยึดแนวทางดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง และปลูกพืชหลากหลาย ดำเนินชีวิตอย่างมีสติ รอบคอบลงมือทำจากของจริง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้ นายวิวัฒน์ สามารถลดรายจ่าย โดยปลูกทุกอย่างที่กินและกินทุกอย่างที่ปลูก เพิ่มรายได้ หลังจากกิน แจกแล้วที่เหลือก็นำไปขาย จึงเป็นที่มาของโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการกระบอกไม้ไผ่ใส่เหรียญคูณสอง เป็นโครงการที่ได้ประสบผลสำเร็จและเป็นโครงการนำร่องของจังหวัดพังงา
          
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ประสบผลสำเร็จสามารถลดรายจ่ายให้กับครัวเรือน เช่น การทำปุ๋ยหมัก (หมูหลุม) การทำน้ำหมัก การปลูกผักสวนครัวการเลี้ยงไก่เบตง การเลี้ยงปลาดุก การทำน้ำยาล้างจาน การลดละเลิกอบายมุข การทำบัญชีครัวเรือน หมู่บ้านตีนเป็ดให้ความสำคัญกับการลดรายจ่ายในการซื้อปุ๋ย ดังนั้น ฐานลดรายจ่ายจึงตั้งอยู่ที่กลุ่มผลิตปุ๋ย (หมูหลุม) เป็นแหล่งที่ใช้สำหรับการเรียนรู้ได้ และนำมาใช้ในครัวเรือน ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ในสวนยางพารา สวนปาล์ม สวนผลไม้ สามารถลดรายจ่ายค่าปุ๋ยได้อย่างมาก
 
การเพิ่มรายได้ คนในชุมชนบ้านตีนเป็ด มีการจัดการรวมกลุ่มในการเพิ่มราคายางพารา ได้โดยการเปิดตลาดประมูลยางพาราแผ่นดิบ นำยางสดขึ้นในหมู่บ้าน ทำให้ราคายางเป็นที่พอใจชาวสวนยาง ด้วยระยะเวลากรีดยางน้อยจึงได้รวมกลุ่มทำอาชีพเสริมเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มทำขนม กลุ่มเพาะกล้ายาง กลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้า กลุ่มเลี้ยงปลาในกระชัง กลุ่มปลูกผักไร้ดิน
 
ในด้านการประหยัดมีการดำเนินกิจกรรมสถาบันการเงินชุมชน และกระบอกไม้ไผ่ใส่เหรียญคูณสอง ส่งเสริมให้คนในชุมชนบ้านตีนเป็ดสามารถดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนในหมู่บ้านตีนเป็ด คือ ใช้จ่ายอย่างประหยัด รู้จักเก็บ รู้จักออม มีน้อยใช้น้อย นอกจากนั้นชุมชนบ้านตีนเป็ด ได้จัดให้มีการเรียนรู้และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยปราชญ์ชาวบ้านจะเป็นจุดถ่ายทอดความรู้และวัฒนธรรมประเพณี ที่สำคัญให้แก่ลูกหลานในหมู่บ้าน ได้แก่ ระบำร่อนแร่ ตามวิสัยทัศน์ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นฐานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับพืชผักพื้นบ้านและการใช้สมุนไพรในการรักษาโรค มีการดูแลป่าภูเขา และแหล่งน้ำในหมู่บ้าน และต้นน้ำลำธาร
          
นอกจากนั้น ชาวบ้านตีนเป็ดมีการใช้วิถีชีวิตด้วยการเอื้ออารีต่อกัน ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดสวัสดิการของหมู่บ้าน การเตรียมความพร้อมการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของคนในชุมชน ซึ่งในหมู่บ้านมีการจัดตั้งกองทุน เช่นกองทุนแม่ของแผ่นดิน ด้านสวัสดิการ ช่วยเหลือยามเจ็บไข้ ในกรณีคลอดบุตร เสียชีวิต และมอบทุนการศึกษา
          
สำหรับโครงการ “กระบอกไม้ไผ่ใส่เหรียญคูณสอง” นั้นหมู่บ้านแห่งนี้ได้รับการคัดเลือกจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ร่วมกับพัฒนาชุมชนอำเภอท้ายเหมือง ท่านนายอำเภอท้ายเหมือง ธนาคาร ธ.ก.ส.พังงา และสมาคมสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดพังงา คัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านนำร่อง ซึ่งมีนายวิวัฒน์ วสันต์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านตีนเป็ด เป็นแกนนำในการดำเนินโครงการกระบอกไม้ไผ่ใส่เหรียญคูณสอง โดยตั้งใจว่าในช่วงหน้าแล้ง อยากจะทำให้ชาวบ้านมีเงินเก็บ เพราะการทำสวนยางพารานั้น ชาวบ้านจะกีดยางได้เฉพาะในช่วงหน้าแล้ง ช่วงนั้นชาวบ้านก็จะมีรายได้มาก สามารถเก็บออมได้ จึงคิดหาวิธีการออมให้กับชาวบ้าน โดยการทำโครงการกระบอกไม้ไผ่ใส่เหรียญคูณสอง
 
กระบอกไม้ไผ่ส่งเสริมการออม สร้างชุมชนเข้มแข็งที่บ้านตีนเป็ด 'พังงา
        
 นอกจากจะให้ชาวบ้านมีเงินเก็บแล้ว ยังเป็นการฝึกให้ชาวบ้านมีความซื่อสัตย์ มีวินัย รู้จักและมีนิสัยในการออม และได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2550 ในปีแรกนั้นมีสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 114 คน คิดเป็นครัวเรือนละ 1 กระบอก การทำโครงการในปีแรกก็ประสบผลสำเร็จเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ บางรายสามารถทำได้เกินเป้าที่ตั้งไว้ และได้มีโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่สอ งมีสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการประมาณสองร้อยกว่ากระบอก ซึ่งครอบครัวหนึ่งเข้าร่วมโครงการมากกว่าหนึ่งคน ก็ประสบผลสำเร็จเช่นกัน และปีที่สามจะมีการผ่ากระบอกไม้ไผ่ในวันที่ 5 ธันวาคม 2553 หลังจากการผ่ากระบอกไม้ไผ่แล้วก็จะเปิดรับสมัครสมาชิกเข้าร่วมโครงการเป็นปีที่ 4 เพิ่มขึ้นอีก
 
ที่เรียกว่าคูณสองก็คือเดือนที่ 1 ออม 100 บาท เดือนที่ 2 ออม 200 บาท เดือนที่ 3 ออม 400 บาท เดือนที่ 4 ออม 800 บาท เดือนที่ 5 ออม 1,600 บาท เดือนที่ 6 ออม 3,200 บาท คือคูณสองขึ้นเรื่อยๆ ไปจนกว่าจะครบกำหนดในการผ่ากระบอกไม้ไผ่ ซึ่งกำหนดไว้ระยะเวลาในการผ่ากระบอกไม้ไผ่คือทุกๆ 6 เดือน และหลังจากนั้น จะนำเงินที่ได้ไปฝากกับกองทุนหมู่บ้านบัญชีฝากเป็นชื่อของชาวบ้านเองในแต่ละรายบุคคลไป หรือบัญชี 1 และจากนั้นทางคณะกรรมการก็จะนำเงินนี้ไปฝากกับ ธ.ก.ส. อีกครั้งหนึ่งในชื่อของบัญชีกองทุนหมู่บ้านตีนเป็ด ส่วนดอกเบี้ยนั้นชาวบ้านก็จะได้รับผลเหมือนเดิม สำหรับเงินกองทุนหมู่บ้านนี้หากสมาชิกท่านใดเดือดร้อน ก็สามารถที่จะกู้ยืมได้เช่นกัน โดยจะคิดดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี
          
ขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการกระบอกไม้ไผ่ใส่เหรียญคูณสองนั้นก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร ก่อนอื่น แต่ละคนต้องเตรียมกระบอกไม้ไผ่มาคนละหนึ่งกระบอกสำหรับกระบอกไม้ไผ่นั้นก็หาได้ไม่ยากเป็นกระบอกไม้ไผ่ตงซึ่งก็หาได้ง่ายและไม่สิ้นเปลืองในการซื้อหาเพราะมีอยู่ภายในหมู่บ้านอยู่แล้ว และก็นำมาตัดสำหรับการทำกระบอกไม้ไผ่ออมสิน และหลังจากนั้นก็เข้ามารับฟังขั้นตอนของการเข้าร่วมโครงการว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เมื่อเข้าใจในการเข้าร่วมโครงการแล้วจึงไปลงทะเบียนแจ้งชื่อแจ้งเป้าหมายในการออมว่าจะเริ่มต้นในการออมเท่าไหร่ กับเจ้าหน้าที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้จดบันทึก และจะนำสติกเกอร์มาแปะเอาไว้กับกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งรายละเอียดในสติกเกอร์ที่แปะไว้ก็จะบอกว่าในแต่ละเดือนเราจะต้องใส่เงินในกระปุกออมสินเท่าไหร่ และผู้เข้าร่วมโครงการก็จะนำกระปุกไม้ไผ่นั้นกลับบ้าน สำหรับสติกเกอร์ที่ทางเจ้าหน้าที่แปะไว้ให้นั้นก็เปรียบเสมือนกับสัจจะที่ชาวบ้านมีไว้ให้กับตัวเองว่าจะต้องทำให้ได้ตามที่ให้สัญญาไว้เป็นการฝึกให้ทุกคนมีนิสัยในการออม มีความซื่อสัตย์ และมีสัจจะกับตัวเองอีกด้วย
          
นายวิวัฒน์ บอกว่า การจัดทำโครงการกระบอกไม้ไผ่ใส่เหรียญคูณสอง เพื่อฝึกให้เกษตรกรในหมู่บ้านตีนเป็ดให้ได้รับการปลูกฝังนิสัยการออม มีการใช้จ่ายเงินอย่างพอเพียงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการฝึกตนเองให้มีความซื่อสัตย์เคารพในกฎระเบียบที่กำหนดไว้ร่วมกันและสามารถเป็นแบบอย่างให้แก่เด็ก และเยาวชนได้สำหรับโครงการดังกล่าว เกิดจากการประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านบ้านตีนเป็ด ที่กำหนดให้มีโครงการกระบอกไม้ไผ่ใส่เหรียญคูณสองขึ้น โดยให้สมาชิกเกษตรกรหมู่บ้านตีนเป็ดใช้ไม้ไผ่ ซึ่งเป็นวัสดุพื้นบ้านที่หาได้ง่ายและมีอยู่ทั่วไป นำมาดัดแปลงเป็นอุปกรณ์สำหรับสะสมเงิน
 
โดยกำหนดหลักการไว้ว่า สมาชิกผู้เข้าโครงการต้องมาลงทะเบียนไว้กับคณะกรรมการหมู่บ้านฯและต้องตั้งเป้าหมายยอดสะสมเงินไว้ที่จำนวนเท่าไหร่ในช่วงระยะเวลา 6 เดือน เมื่อครบกำหนดจึงมาทำการประเมิน และทำการผ่ากระบอกไม้ไผ่ โดยสมาชิกที่สามารถสะสมเงินได้ตามเป้าที่เคยลงทะเบียนไว้กับกรรมการฯ จะได้รับเงินรางวัลอีกจำนวนหนึ่ง ต่อจากนั้นก็นำเงินของแต่ละเกษตรกรไปฝากไว้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งโครงการดังกล่าวได้กำหนดให้เป็นโครงการนโยบายของหมู่บ้านต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
 
นายวีระพล แก้วมณี ผอ.สนง.ธ.ก.ส.จังหวัดพังงา กล่าวว่า ภายหลังจากเกษตรกรผ่ากระบอกไม้ไผ่ก็จะนำเงินมาฝากกับ ธ.ก.ส. ซึ่งในแต่ละครั้งมีจำนวนเงินเกือบล้านบาท ขณะเดียวกัน ทาง ธ.ก.ส.ก็ได้นำโครงการ จับรางวัลออมทรัพย์ทวีโชค โดยเกษตรกรท่านใดนำเงินมาฝากกับ ธ.ก.ส. จำนวน 2,000 บาท มีสิทธิ์จะได้รับคูปองมาจับรางวัลได้ โดยจัดปีละ 2 ครั้ง ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาเดียวกับการผ่ากระบอกไม้ไผ่ ตามโครงการกระบอกไม้ไผ่ ใส่เหรียญคูณสองพอดี สำหรับรางวัลประกอบด้วย รางวัลที่ 1 รถมอเตอร์ไซค์ รางวัลที่ 2 ตู้เย็น รางวัลที่ 3 โทรทัศน์และยังมีรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย
 
      
 
 

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ โดย ขนกวรรณ พรหมทอง

Shares:
QR Code :
QR Code