กระบวนการทำแผนฯ 64 สสส.
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
“ดร.สาธิต” ชื่นชมกระบวนการทำแผนฯ 64 สสส. “โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อน” เน้นปรับวิถีชีวิตสังคม เตรียมพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 1 กล่าวในการเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณากลั่นกรองร่างแผนการดำเนินงานกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 ว่า แผนการดำเนินงาน 2564 เป็นปีสุดท้ายตามทิศทาง เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ 10 ปี (2555-2564) ของ สสส. ที่ต้องการแสดงให้เห็นความพยายามและความตั้งใจ ที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย ขณะที่ต้องตั้งรับกับสถานการณ์สุขภาพ บริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่ อาทิ โควิด-19 ที่ทำให้การทำงานยากขึ้น โดยแผนการดำเนินงานปี 2564 นั้น คณะกรรมการกองทุนฯ มีมติเห็นชอบแนวนโยบายและจุดเน้นในการจัดทำแผนฯ 5 ข้อ สำคัญ คือ 1. ยึดทิศทาง เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ ระยะ 10 ปี 2. ยึดแนวนโยบาย ยุทธศาสตร์ และสถานการณ์ภาพรวมของประเทศ และทำงานเชิงรุกเตรียมพร้อมรองรับกับสถานการณ์สุขภาพ เช่น การสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อแบบใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 3. คำนึงถึงความต่อเนื่อง ยั่งยืน 4. คำนึงความแตกต่างของกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ทำงาน รวมถึงบริบททางศาสนา วัฒนธรรม ชุมชน หรือท้องถิ่น และ 5. เน้นการพัฒนาตนเองและเครือข่ายเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ในการสร้างเสริมสุขภาพ
“กระบวนการจัดทำแผนของ สสส. มีความสมบูรณ์ รอบด้าน ถูกคิดมาอย่างเป็นระบบ มีการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจัดทำแผนโดยยึดหลักธรรมาภิบาลทุกขั้นตอน อาทิ การป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน ความรับผิดชอบต่อสังคม โปร่งใส มีส่วนร่วม ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำงาน และตลอดระยะเวลาที่ได้ทำงานร่วมกัน สสส. สามารถพิสูจน์ตัวเอง และตอบข้อสงสัยของสังคมทั้งในเรื่องการใช้งบประมาณจากภาษีเหล้า บุหรี่ ผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งขอชื่นชมและขอให้ใช้จุดแข็งในการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย สร้างนวัตกรรมการทำงานสุขภาพที่ทันต่อสถานการณ์ และขับเคลื่อนให้คนไทยมีสุขภาพดีในทุกพื้นที่” ดร.สาธิต กล่าว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า แผนการดำเนินงานของ สสส. ไม่ใช่แผนปฏิบัติการแบบหน่วยงานราชการปกติ แต่เป็นแผนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ที่เริ่มต้นจากการกำหนดเป้าหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเมื่อเกิดเป้าหมายรวมกันแล้ว สสส. จะไปวิเคราะห์ช่องว่างของเป้าหมายในการทำงาน จากนั้นจึงไปกำหนดแผนการดำเนินงานที่เข้าไปเติมเต็มช่องว่าง และหล่อลื่นให้การขับเคลื่อนตามเป้าหมายชาติเกิดความสมบูรณ์ สำหรับจุดเน้นของ สสส.ในปีนี้ เน้นเตรียมความพร้อมสังคมในการรองรับโรคอุบัติใหม่อื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น เนืองจากสถานการณ์โควิด-19 สะท้อนภาพความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้าง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความตระหนักและกลไกรองรับชีวิตวิถีใหม่ นอกจากนั้นผลักดันการดำเนินงานตามแผนงานทั้ง 15 แผน อาทิ มุ่งป้องกันแก้ไขปัญหา บุหรี่ไฟฟ้า ส่งเสริมกิจกรรมทางกายตลอดช่วงวัย เชื่อมกลไกบูรณาการเครือข่าย 5 ปัจจัยเสี่ยงป้องกันโรคไม่ติดต่อ สร้างกลไกจังหวัดเข้มแข็งป้องกันปัจจัยเสี่ยง สร้างความตระหนักการรอบรู้สุขภาพ(Health literacy) ที่เหมาะสมกับกลุ่มวัย เกิดงานวิจัย นวัตกรรม การรณรงค์สื่อสาร และเครื่องมือวัดผลในประเด็นที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการบังคับใช้ พรบ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น บเคลื่อนนโยบายอาหารเพื่อสุขภาวะ ลดอัตราชุกของภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนในเด็กวัยเรียน เกิดตำบลนำร่องที่สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการสุขภาวะชุมชน เกิดการมีส่วนร่วมในการออกแบบชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่เหมาะสมกับสภาพบริบทและความต้องการของประชากรกลุ่มเฉพาะ
ทั้งนี้ ในการประชุมฯ มีกรรมการกองทุน สสส. คณะกรรมการบริหารแผน ผู้ทรงคุณวฒิจากหลากหลายสาขาวิชา ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมกว่า 150 คน เพื่อร่วมพิจารณาแผนการดำเนินงาน ประจำปี 2564 ซึ่งเป็นไปตามหลักกระบวนการมีส่วนร่วมของ สสส.