กระตุ้นหนอนหนังสือ ปลดล็อกเด็กไทยอ่านไม่ออก
การอ่านถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนจะสามารถเพิ่มพูนความรู้ให้ตนเองได้ในราคาถูกที่สุด แต่ปัญหาคือคนเรากลับไม่เลือกที่จะสัมผัสกับสื่อชนิดนี้ และที่สำคัญจากการตรวจสอบในบางพื้นที่ของประเทศ กลับพบว่าเด็กไทยยังอ่านหนังสือไม่ออก และสำนักงานสถิติแห่งชาติยังเปิดเผยว่า คนไทยอ่านหนังสือในปริมาณที่น้อยมาก เพียงวันละ 37 นาทีต่อวัน จึงเป็นเรื่องน่าวิตกว่า หากปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นต่อไปจะกระทบต่อทรัพยากรบุคคลที่เกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่
เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นสิ่งที่ “มโน” ไปเองทั้งสิ้น เมื่อได้ฟังข้อมูลจากนายประเสริฐ บุญเรือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ลงพื้นที่ตรวจราชการเขตตรวจราชการที่ 4 และ 5 จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เมื่อไม่นานมานี้ และพบว่ามีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้เป็นจำนวนมาก ที่น่าตกใจบางพื้นที่มีจำนวนมากถึงกว่า 1,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในชนบทห่างไกล
ขณะที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมลงไปพื้นที่แก้ไขอย่างทันอย่างท่วงที โดยเฉพาะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มอบหมายให้ “แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน” ออกไปทำงานเชิงรุกเพื่อกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน ครอบครัว เกิดการรับรู้ เรียนรู้ และมีทัศนคติแนวโน้มสู่พฤติกรรมการอ่าน พร้อมทั้งพัฒนาหนังสือ สื่อการอ่านที่มีคุณภาพ มีเนื้อหาสอดคล้องและเหมาะสม โดยมีเป้าหมายคือโรงเรียน และยังรวมไปถึงชุมชนรอบข้าง เพื่อนำสู่การสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม หลังจากลงพื้นที่ทำงาน ได้พบปัญหาสำคัญส่วนใหญ่ที่ทำให้เด็กอ่านหนังสือไม่ได้มาจาก 4 สาเหตุใหญ่ ประการแรกคือ ครอบครัวยากจน และเด็กขาดเรียนบ่อยๆ ต่อมาคือ เด็กไม่ได้พูดภาษาไทยที่บ้าน ประการที่ 3 มีปัญหาการเรียนรู้ ซึ่งมีประมาณร้อยละ 5-6 ในบางโรงเรียน หรืออาจจะมากกว่านั้น และประการสุดท้าย ครูไม่เพียงพอในการสอนหนังสือ
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานการณ์ของปัญหาในโรงเรียนระดับพื้นฐานทั่วประเทศว่า สสส.ร่วมกับเครือข่ายเสียงประชาชน (we voice) สำรวจสถานการณ์ปัญหาในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา พบว่า สิ่งที่นักเรียนเห็นว่าเป็นปัญหาในโรงเรียนมากที่สุดคือ ทัศนคติ ความทุ่มเท และอารมณ์ของครู ร้อยละ 84.9 ควบคู่กับการติดเกมของเด็ก ร้อยละ 84.2 และเนื้อหาการเรียนมีปริมาณมากไป/ไม่น่าสนใจ ร้อยละ 83.9
ปัญหาเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณภาพการศึกษาและผู้เรียนไทยด้อยกว่าประเทศอื่น สสส.จึงร่วมกับ สพฐ. สำนักงาน กศน. กระทรวงศึกษาธิการ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร เดินหน้าโครงการสถานศึกษาต้นแบบชุมชนอ่านสร้างสุขในปีนี้ขึ้น
ภายใต้แนวคิด "อ่านสร้างสุข" เพื่อสร้างกลไกและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่าน ช่วยพัฒนาศักยภาพทั้งครูและนักเรียนในด้านวิชาการและสร้างทัศนคติในทางบวก โดยเป็นกลไกที่ผสานการมีส่วนร่วมทั้งครู นักเรียน บ้านและชุมชน ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สร้างต้นแบบที่สามารถขยายผลได้มากกว่า 80 โรงเรียนทั่วประเทศ คาดว่าปีนี้จะสามารถเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 60 แห่ง ตั้งเป้า 5 ปี เราจะมีโรงเรียนต้นแบบกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ เพื่อขยายแนวคิดนี้
"ผลการศึกษาของโครงการในปี 2555-2556 พบว่า ครูและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีทัศนคติที่ดีต่อการอ่านเพื่อพัฒนาศักยภาพ และยังเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา ส่งผลให้การเรียนดีขึ้นอย่างชัดเจน สามารถลดปัญหาอ่านไม่ออก อ่านไม่คล่อง สามารถบูรณาการให้การอ่านเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนทุกวิชาได้ เกิดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านแนวใหม่จากความคิดของนักเรียนและครู สร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ที่สำคัญคือทำให้การอ่านเป็นกลไกหนึ่งที่ขับเคลื่อนระบบสุขภาวะของชาติได้" ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส.ระบุ
ทางด้านนางสาวสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการทดสอบคัดกรองนักเรียนที่อ่านหนังสือไม่ออกในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และปีที่ 6 พบว่ามีเด็กไทยอ่านหนังสือไม่ออกจำนวนมาก รวมถึงกรณีเวทีเศรษฐกิจโลกที่เพิ่งจัดอันดับปีล่าสุด 2556-2557 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยระบุว่าไทยอยู่อันดับที่ 78 ของโลก จาก 148 ประเทศ และอยู่อันดับที่ 8 ของอาเซียน ในสถิติของการอ่านหนังสือ
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านยังคงเดินหน้าสร้างสังคม "เครือข่ายชุมชนรักการอ่าน" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยปีนี้จะดำเนินการขึ้นภายในเดือนตุลาคมนี้ เป็นไปในรูปแบบการขยายผลอันเกิดจากการทำงานร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ชุมชน สถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เพื่อทำการสรุปและถอดบทเรียนความสำเร็จในการสร้าง "เครือข่ายชุมชนรักการอ่าน" อย่างชัดเจน
จากนั้นจะนำบทเรียน ประสบการณ์ส่งเสริมการอ่าน ไปจัดทำกรอบและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านการส่งเสริมการอ่านสำหรับผลักดันให้ภาครัฐกำหนดขึ้น "นโยบายหนังสือและการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย 0-6 ปี" เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการส่งเสริมการอ่านที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงต่อไปด้วย
"การผลักดันนโยบายหนังสือและการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย 0-6 ปี ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นการแก้ไขปัญหาการเรียนหนังสือด้อยประสิทธิภาพและการอ่านหนังสือไม่ออกของเด็กไทยในระยะยาว เนื่องจากการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านในเด็กวัย 0-6 ปี มีข้อมูลยืนยันแล้วว่าจะช่วยทำให้เด็กอ่านหนังสือได้โดยอัตโนมัติก่อนเข้าโรงเรียน เพราะสมองของเด็กในวันนี้เติบโตสูงสุดกว่า 80% ของชีวิตมนุษย์ และทำให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านติดตัวไปจนโต ช่วยให้เด็กเกิดจินตนาการ มีโลกทัศน์อันกว้างใหญ่ เกิดทักษะด้านภาษา และมีอุปนิสัยที่พึงประสงค์ของสังคม"
ที่ผ่านมาทางกลุ่มแผนงานส่งเสริมการอ่านได้สร้าง "เครือข่ายชุมชนรักการอ่าน" ที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด มีรูปแบบการส่งเสริมการอ่านที่น่าสนใจและหลากหลาย เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเด็กวัย 0-6 ปี
อาทิ ในจังหวัดระนอง มีการดำเนินงานของชาวบ้านในชุมชน โดยเปิดบ้านให้เป็นห้องสมุด 24 ชั่วโมง มีการจัดซื้อชุดหนังสือเด็กปฐมวัยด้วยงบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อาทิ อบต.ปลวกแดง จ.ระยอง อบต.หนองขาม จ.สุพรรณบุรี จ.สุรินทร์ และ จ.ยโสธร จัดให้มีบริการยืมหนังสือภาพให้เด็กนำไปให้พ่อแม่อ่านที่บ้าน กรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและจัดมุมหนังสือสำหรับเด็ก 0-6 ปี ในศูนย์เด็กเล็กธนบุรีรวม 7 เขต 16 ศูนย์ เขตราษฎร์บูรณะและเขตดุสิต
การทำงานไม่หยุดนิ่งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบนี้ ทำให้มั่นใจว่าสถานการณ์การอ่านหนังสือของเด็กไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้น ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพของประเทศให้สูงขึ้น
ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต