กระตุ้นครอบครัวไทยรู้เท่าทัน ‘NCDs’ หยุดมหันตภัยโรคร้าย
หากเอ่ยถึงกลุ่มโรค NCDs (NonCommunicable diseases) หรือชื่อเรียกในภาษาไทยว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สังคมไทยเคยได้ยินผ่านๆ แต่อาจจะไม่สนใจ แต่หากบอกว่ากลุ่มโรคนี้ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด อาจทำให้ใครหลายคนหันกลับมาให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มโรคที่นำไปสู่เบาหวาน หลอดเลือดสมองและหัวใจ ถุงลมโป่งพอง มะเร็ง ความดัน และอ้วนลงพุง
ด้วยเหตุนี้เอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงรณรงค์ให้คนไทยทุกคนให้ตระหนักถึงกลุ่มโรคร้ายชนิดนี้ พร้อมหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวด้วย
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ตลอด 10 ปีในการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย พบคนไทยต้องเผชิญกับภัยเงียบ โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือกลุ่มโรค NCDs ที่มีสถิติผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ
จากข้อมูลสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศปี 2552 ไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคกลุ่มนี้ถึง 14 ล้านคน เสียชีวิตมากกว่า 300,000 คน หรือร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยของประชากรทั้งโลกถึงร้อยละ 10 และมากกว่าครึ่งเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 200,000 ล้านบาทต่อปี
สำหรับ 6 โรคในกลุ่มโรค NCDs ที่มีอัตราเสียชีวิตสูงสุดคือ โรคเบาหวาน หลอดเลือดสมองและหัวใจ ถุงลมโป่งพอง มะเร็ง ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน
จาก 6 ปัจจัยเสี่ยงคือ เหล้า บุหรี่ อาหารหวาน มัน เค็มจัด ออกกำลังกายไม่เพียงพอ ความเครียด และกรรมพันธุ์ โดยรณรงค์ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองในสิ่งเหล่านี้ ช่วยลดโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคได้ถึงร้อยละ 80
ขณะที่ นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ (สวน.) กล่าวเสริมในงานเปิดตัวหนังสือ “รายงานสถานการณ์โรค NCDs วิกฤติสุขภาพ วิกฤติสังคม” เมื่อไม่นานมานี้ว่า หนังสือดังกล่าวเป็นรายงานสถานการณ์และแนวโน้มของกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรค NCDs ฉบับแรกของไทย
ซึ่งโรคนี้จัดเป็นฆาตกรอันดับหนึ่ง คร่าชีวิตคนไทยปีละ 300,000 คน มากกว่าสาเหตุอื่นๆ รวมกัน 3 เท่า และยังก่อปัญหาและภาระกับคนรอบข้าง ทำลายคุณภาพประชากร และก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล รัฐต้องแบกรับต้นทุนที่เกิดจากโรคนี้ถึง 200,000 ล้านบาทต่อปี เฉลี่ยคนไทยต้องแบกรับ 3,182 บาทต่อคนต่อปี โดยค่าใช้จ่ายร้อยละ 80 จะหมดไปในช่วง 2 ปีสุดท้ายของชีวิต ทั้งที่หากรัฐจะลงทุนเพื่อป้องกันจะใช้งบประมาณ 12 บาทต่อคนเท่านั้น
ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังคิดเป็นร้อยละ 73 เทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลกอยู่ที่เพียงร้อยละ 63 สาเหตุสำคัญ คือ เด็ก ผู้หญิง ดื่มเหล้า สูบบุหรี่มากขึ้น เหตุเพราะคนไทยกินอาหารรสหวาน มัน เค็มเพิ่มมากขึ้น 2 เท่า แต่กินผักผลไม้ และมีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายลดลง คือ ดูทีวี
เล่นคอมพิวเตอร์ โดยใช้เวลาต่อชั่วโมงต่อวันมากขึ้น ขณะที่การคัดกรองและดูแลรักษาผู้มีความเสี่ยงและผู้ป่วยยังทำได้ไม่มีประสิทธิภาพนัก ที่สำคัญคือ มักไม่รู้ว่าตัวเองป่วย โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 60 ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย การแก้ปัญหานี้จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะหน่วยงานด้านสาธารณสุข
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอายุคนยืนยาวขึ้น มีการรักษาที่ครอบคลุมมากขึ้น แต่ยังทำให้เกิดปัญหาโรค เพราะไม่มีการรักษาลึกลงไปถึงพฤติกรรมและทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งกำลังจะมีการเปลี่ยนทัศนคติของแพทย์ให้เปลี่ยนการรักษา
โดยเน้นพฤติกรรมและการให้ความรู้ประชาชน ส่วนสังคมก็ต้องเปลี่ยนแปลงด้วย เช่น สินค้าทำลายสุขภาพ ซึ่งจะมีการทำ พ.ร.บ.ควบคุมโรคไม่ติดต่อ เพื่อดูแลปัจจัยเสี่ยง เช่น การเก็บภาษีตามอัตราการเติมน้ำตาล โซเดียม เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมได้ ในที่สุดต้องทำให้หน้าที่การดูแลสุขภาพเป็นของคนไทยทุกคน
นายสุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาโรคเรื้อรังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย และทำเวทีกลางให้เกิดการแก้ปัญหาร่วมกัน เช่นเดียวกับกรรมการชาติ แต่ต้องทำให้เกิดการขยับเขยื้อนได้จริง
ซึ่งปัจจุบันสังคมไทยตระหนักถึงปัญหาโรค NCDs มากขึ้น ว่าเกิดจากพฤติกรรม โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า กินอาหารรสหวาน มัน เค็ม และมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ซึ่งองค์การสหประชาชาติเล็งเห็นว่าปัญหาสุขภาพกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย จำเป็นต้องใช้เครื่องมือ เช่น มาตรการทางภาษีและราคา การควบคุมการโฆษณา การจำกัดการเข้าถึง และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ประสานเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภาคราชการ ภาควิชาชีพสุขภาพ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เพื่อรวมลดปัจจัยเสี่ยงและการป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิผลต่อไป
“NCDs เป็นโรคที่ค่อยๆ เป็น และเป็นแล้วเรื้อรัง ทำให้คนไทยยังไม่ตื่นตัวในเรื่องนี้ ทั้งที่แต่ละปีมีคนตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจำนวนมาก รวมทั้งต้องใช้งบประมาณในการดูแลผู้เจ็บป่วยอีกมหาศาล” นายสุปรีดาระบุ
การไม่ยอมออกกำลังกาย ไม่ใส่ใจสุขภาพ ดื่มสุรา สูบบุหรี่ กินอาหารรสหวาน มัน เค็มจัด ตามใจปาก และความเครียด เป็นต้นเหตุของกลุ่มโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด แต่สิ่งที่จะหยุดโรคเหล่านี้ได้ “คือตัวคุณเอง” จะกล้าลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือไม่
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์