“กระดูกคอเสื่อม” อีกหนึ่งโรคที่ควรรู้จัก
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ
แฟ้มภาพ
คุณเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่
“ปวดคอ เคลื่อนไหวตัวได้ยาก และจะปวดมากขึ้นเวลานั่งหรือยืน
ปวดตรงกลางคอ ร้าวมาปวดที่สะบักด้านในบริเวณไหล่
ปวดร้าวลงแขนที่มือ แล้วมีอาการชาร่วมด้วย”
รู้จัก “โรคกระดูกคอเสื่อม”
ผศ.นพ.สรศักดิ์ ศุภผล ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ภาวะกระดูกคอเสื่อมนั้น พบบ่อยในผู้ป่วยสูงอายุทั้งเพศชายและหญิง โดยทั่วไปหลังจากอายุ 30 ปีขึ้นไป พบว่ามีอุบัติการณ์ของการเกิดความเสื่อมของหมอนรองกระดูกคอเพิ่มขึ้น โดยภาวะเสื่อมนี้จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น ช่วงแรกมักเป็นความเสื่อมของเนื้อเยื่ออ่อนก่อน เช่น การเสื่อมของหมอนรองกระดูกส่วนใน (Nucleus pulposus) มีการฉีกขาดของหมอนรองกระดูกส่วนนอก (Annulus fibrosus) ต่อมาเมื่ออายุเพิ่มขึ้น จะเริ่มมีการเสื่อมของกระดูกร่วมด้วย เช่น กระดูกงอก มีการเสื่อมของข้อต่อกระดูก ซึ่งในภาวะกระดูกคอเสื่อมจะพบการเสื่อมบริเวณข้อต่อที่ยึดระหว่างตัวกระดูกสันหลังชิ้นบนและล่างได้บ่อย และยังพบที่บริเวณข้อต่อกระดูกสันหลัง
นอกจากนี้ ยังพบภาวะเส้นประสาทที่คอหรือไขสันหลังคอถูกกดทับ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการชาร้าวลงแขน หรือมีอาการเดินลำบาก เป็นต้น
ลักษณะทางกายภาพของ “กระดูกคอ”
กระดูกคอประกอบด้วยกระดูกต่างๆ ทั้งหมด 7 ชิ้น เรียงต่อกันตั้งแต่ C1-C7 โดย C1 (Atlas) ต่อกับกะโหลกศีรษะ มีรูปร่างเป็นวงกลมรี ด้านหน้าของ C1 จะต่อกับ C2 (Axis) โดยมีเส้นเอ็นต่างๆ มายึดไว้ ซึ่งจะให้มีความแข็งแรง ขณะเดียวกันก็ทำให้มีการเคลื่อนไหวของ C1 และ C2 เป็นไปตามปกติ ส่วนการเคลื่อนที่ของ C1 และ C2 จะเป็นแบบหมุนเป็นหลัก
ถัดจาก C2 ลงมา กระดูกคอจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน เรียงตั้งแต่ C3-C7 โดย C7 จะมีสันกระดูกด้านหลังที่ใหญ่ ซึ่งสามารถคลำได้ง่ายจากภายนอก แนวการเคลื่อนที่ของกระดูกคอส่วนนี้จะมีทั้งการงอ ยืด ดัด และหมุน ข้อต่อต่างๆ ของกระดูก C3-C7 จะประกอบด้วย หมอนรองกระดูก ข้อต่อที่ยึดระหว่างตัวกระดูกสันหลังชิ้นบนและล่าง และข้อต่อกระดูกสันหลัง ซึ่งความมั่นคงของข้อต่อจะเกิดจากหมอนรองกระดูก ข้อต่อกระดูกสันหลัง และเอ็นที่ยึดข้อต่อกระดูกเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะเส้นเอ็นยึดด้านหลัง ซึ่งมีความแข็งแรงและช่วยป้องกันไม่ให้กระดูกคอก้มมากจนเกินไป
สาเหตุของโรค มี 2 สาเหตุ คือ
– กรรมพันธุ์ แบ่งเป็น ปัจจัยที่เกิดจากความผิดปกติขององค์ประกอบของหมอนรองกระดูก ซึ่งจะทำให้หมอนกระดูกเกิดการสลายตัวและความเสื่อมได้ง่าย อีกปัจจัยเป็นการเกิดการเชื่อมกันของกระดูกคอ ซึ่งเป็นกลุ่มอาการของโรค Klippelfein ซึ่งจะมีการเชื่อมกันของกระดูกคอ เช่น มีการเชื่อมกันของ C4-C5 ซึ่งจะส่งผลต่อข้อต่อบนล่างคือ C3-4 & C5-6 ซึ่งข้อต่อพวกนี้จะมีการเคลื่อนที่มากขึ้น ทำให้เกิดความเสื่อมมากขึ้นได้
– การใช้งาน พบว่าท่าทางต่างๆ ในชีวิตประจำวันมีผลต่อการเกิดความเสื่อมของกระดูกคอ โดยเฉพาะการใช้คอมากๆ การใช้ภาษาคอ การขยับคอที่ไม่จำเป็น รวมทั้งการใช้คอผิดวิธี เช่น นอนคว่ำอ่านหนังสือ อยู่ในท่าที่ผิดปกตินานๆ ทำงานขยับคอซ้ำในท่าเดิมๆ ซึ่งถ้าปรับนิสัยการใช้คอ การขยับคอ อาการต่างๆ เหล่านี้จะดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
กลไกการเกิดโรค
เริ่มจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกก่อน จากนั้นจะเกิดการเคลื่อนที่ของกระดูกคอรอบๆ มาก ขึ้นทำให้เกิดความไม่มั่นคงของข้อต่อ และเกิดอาการเสื่อมตามมา
อาการ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มอาการที่เกิดจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกและภาวะกระดูกที่คอโดยตรง ได้แก่ อาการปวดคอ เคลื่อนไหวได้ยาก อาการมักจะเป็นมากเวลาอยู่ในท่านั่งหรือยืน แต่ถ้านอนพักอาการจะดีขึ้น มักปวดตรงกลางคอ มีร้าวปวดมาที่สะบักด้านใน บริเวณไหล่ และมักพบการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อร่วมด้วย 2.กลุ่มอาการที่เส้นประสาทถูกกดทับ จะมีอาการปวดร้าวลงมาที่แขนและมือ อาการจะมากตอนลุกนั่งหรือยืน ซึ่งเกิดจากน้ำหนักศีรษะถ่วงให้ศีรษะกดตรงเส้นประสาทคอ ซึ่งถ้านอนพัก อาการปวดร้าวลงแขนจะดีขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดร้าวลงแขน แรกๆ จะมีอาการปวด ต่อมาจะมีอาการชาร่วมด้วย ถ้ากดนานเข้าจะพบภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ 3.กลุ่มอาการของไขสันหลังถูกกดทับ อาการปวดอาจมีไม่มาก ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการอ่อนแรง โดยเฉพาะขา เดินเซ ไม่มั่นคง มีอาการเกร็งกล้ามเนื้อ เดินลำบาก นอกจากนี้ในบางรายอาจมีอาการร่วม เช่น ในกรณีที่กระดูกคอมีกระดูกงอกอาจไปเบียดหลอดอาหาร ทำให้มีอาการกลืนลำบากได้ บางรายไปกดเส้นเลือด (Vertebral arteries) ทำให้มีอาการเวียนศีรษะ มีเสียงในหู เป็นต้น
การวินิจฉัย ส่วนมากจะใช้การซักประวัติและตรวจร่างกายก็สามารถวินิจฉัยได้ จะมีการส่งผู้ป่วยไปตรวจเพิ่มเติมก็ต่อเมื่ออาการไม่ดีขึ้น มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด หรือไม่แน่ใจในการวินิจฉัย โดยทั่วไปมักเริ่มจากการถ่ายภาพทางรังสีก่อน เพื่อประเมินดูตำแหน่งของกระดูกคอ ถ้าต้องการดูโครงสร้างภายใน รวมทั้งหมอนรองกระดูกและเส้นประสาทโดยตรง จะต้องตรวจแบบ MRI ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัย การพยากรณ์โรค และวางแผนการผ่าตัดได้ดี
การรักษา แนะนำผู้ป่วยไม่ให้ใช้คอ ใช้ภาษาคอมากเกินความจำเป็น จัดสรีระร่างกายในชีวิตประจำวันให้ถูกต้อง หลีกเลี่ยงการแหงนคอ การก้มคอนานๆ พยายามให้กระดูกคอตั้งตรงหรือก้มไปข้างหน้าเล็กน้อย เลิกสูบบุหรี่ เพราะจะมีผลโดยตรงกับหมอนรองกระดูกและเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงระบบประสาท เน้นการรับรู้การดำรงสติในการใช้คอ ในบางรายอาจใช้ที่พยุงคอช่วยได้ในระยะสั้นๆ การให้ยากลุ่ม Corticosteriod ในระยะเวลาสั้นๆ ช่วยในการลดบวมของเส้นประสาทได้ กลุ่มยา NSAID สามารถช่วยลดปวดได้ โดยให้เป็นระยะเวลาที่ไม่นาน นอกจากนี้ยาในกลุ่มยาต้านเศร้า ยากันชักบางตัวสามารถช่วยลดอาการได้ การทำกายภาพบำบัด เช่น การดึงคอ สามารถทำได้ แต่ไม่ควรใช้แรงมากเกินไปในการดึง ถ้าดึงแล้วมีอาการอ่อนแรงมากขึ้นหรือชามากขึ้นให้หยุดดึงทันที
การผ่าตัด ถ้าการรักษาข้างต้นไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงมากหรืออ่อนแรงเร็ว มีอาการกดไขสันหลังชัดเจน ก็เป็นข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด การผ่าตัดส่วนมากเป็นการนำส่วนที่กดเส้นประสาทออก และป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง
การป้องกัน
– ในแต่ละวันของการทำงาน ไม่ควรก้มหน้านานเกินไป ทุกๆ 30 นาที ควรเปลี่ยนอิริยาบถด้วยการเงยหน้าประมาณ 3-5 นาที และไม่ควรก้มๆ เงยๆ คอมากเกินไป จะทำให้เกิดอาการปวดคอได้
– หากต้องเดินทางไกลๆ ควรหาหมอนรองคอ เพื่อป้องกันอาการปวดคอในระหว่างที่นอนหลับ แล้วคอพับลง จะช่วยป้องกันอาการปวดคอได้ทางหนึ่ง
– เลือกใช้หมอนที่รองรับสรีระของคอได้พอดี มีความนุ่มพอดี ไม่นิ่มหรือแข็งจนเกินไป รวมถึงควรเลือกเตียงที่มีความนุ่มพอดีด้วยเช่นกัน
– หมั่นบริหารกล้ามเนื้อคอทุกวัน วันละ 5-10 นาที โดยมีท่าในการบริหารง่ายๆ ดังนี้ @ เอามือยันด้านข้างศีรษะ ออกแรงต้านกันสักครู่ นับถึง 5 เปลี่ยนเป็นมือซ้ายทำแบบเดียวกัน ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง วันละ 3 ครั้ง@ ก้มหน้าเล็กน้อย เอามือออกแรงต้าน นับถึง 5 แล้วกลับท่าเดิม พักสักครู่ ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง วันละ 3 ครั้ง@ เงยหน้าไปทางด้านหลังอย่างช้าๆ จนสุด ค้างในท่านั้นสักครู่ ค่อยก้มหน้ากลับสู่ท่าปกติ ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง วันละ 3 ครั้ง- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที 3 วันต่อสัปดาห์
แม้ว่า “โรคกระดูกคอเสื่อม” จะมีความอันตราย และสามารถเป็นได้ตั้งแต่อายุไม่มาก แต่หากเราใส่ใจสุขภาพคอ ไม่ทำพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ และหมั่นบริหารกล้ามเนื้อคออยู่เสมอ ก็จะช่วยป้องกันโรคนี้ได้