กรมอนามัย เผย 10 ปัญหาสุขภาพรุมชาวเหนือ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยคนไทยในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนยังคงประสบกับปัญหาสาธารณสุข 10 อันดับ ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อ้วนลงพุง เตรียมขับเคลื่อนอำเภอร่วมแก้ปัญหาและเฝ้าระวังสุขภาพทุกกลุ่มวัยภายใต้โครงการอำเภอสุขภาพดี 80 ปี ยังแจ๋ว
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบโล่และเกียรติบัตรบุคคลดีเด่นด้านการพัฒนางานส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่ 10 เชียงใหม่ ณ โรงแรมคุ้มภูคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ปัญหาสุขภาพของคนไทย ด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อ้วนลงพุง ยังคงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ และน่าน พบปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ 10 อันดับ ได้แก่ โรคเบาหวาน ปัญหาการฆ่าตัวตาย ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักน้อย อัตรามารดาตายสูง การดูแลผู้สูงอายุ ผลกระทบจากภาวะหมอกควัน ปัญหาการสุขาภิบาลอาหารและน้ำ การจัดการขยะภาวะโลกร้อน และฟันผุในเด็ก
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า ในปี 2556 นี้ กรมอนามัยได้เตรียมดำเนินการแก้ปัญหาสุขภาพใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ภายใต้การดำเนินงานโครงการอำเภอสุขภาพดี 80 ปี ยังแจ๋ว ให้เป็นอำเภอที่มีการวางรากฐานของระบบการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานต่าง ๆ ของกรมอนามัย เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีทักษะในการส่งเสริมสุขภาพของตนเอง สามารถมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ โดยในส่วนของสถานบริการสาธารณสุข มีมาตรฐานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเป็นร่มใหญ่และมีมาตรฐานย่อยเป็นองค์ประกอบ เช่น green & clean hospital โรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว คลินิกบริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น คลินิกคนไทยไร้พุง (dpac) เป็นต้น
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อว่า ในส่วนของสังคมชุมชนมีมาตรฐานตามสถานที่ต่างๆ (settings) เช่นสถานที่ทำงานน่าอยู่น่าทำงาน ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน วัด ชุมชน เป็นต้น ในส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 เป็นร่มใหญ่และมีมาตรฐานต่าง ๆ ของกรมอนามัย เช่น ร้านอาหารสะอาด รสชาติอร่อย ตลาดสด น่าซื้อ สวนสาธารณะน่ารื่นรมย์ สุขาสะอาด เพียงพอ และปลอดภัย (has) เพื่อส่งเสริมสุขภาพตามประเด็นปัญหา ได้แก่ โภชนาการ การออกกำลังกาย ทันตสุขภาพ อนามัยการเจริญพันธุ์ และอนามัยสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมีระบบเฝ้าระวังสภาวะสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
“ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวกรมอนามัยได้กำหนดตัวชี้วัดในการเฝ้าระวังสภาวะสุขภาพแต่ละกลุ่มวัย เริ่มตั้งแต่กลุ่มแม่และเด็ก อาทิ การขาดออกซิเจนในทารกแรกเกิดไม่เกิน 30 ต่อพันการเกิดมีชีพ ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัมไม่เกินร้อยละ 7 ให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 อัตราการตายของมารดาไม่เกิน 18 ต่อแสนการเกิดมีชีพ เด็ก 0-5 ปี มีพัฒนาการทางสติปัญญาสมวัย ร้อยละ 90 เด็กอายุ 3 ปี ปราศจากโรคฟันผุไม่น้อยกว่าร้อยละ 41
สำหรับในกลุ่มวันเรียนวัยรุ่น มีการเฝ้าระวังนักเรียนประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 ขึ้นไป ให้มีส่วนสูงตามเกณฑ์ร้อยละ 80 มีรูปร่างสมส่วนร้อยละ 77 นักเรียน อายุ 12 ปีขึ้นไป ปราศจากโรคฟันผุไม่น้อยกว่าร้อยละ 45 และให้สัดส่วนแม่อายุน้อยกว่า 20 ปีที่คลอดบุตรลดลง และกลุ่มสุดท้ายคือวัยทำงาน กำหนดให้ผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีรอบเอวปกติในผู้ชายร้อยละ 80 ผู้หญิงร้อยละ 50 กลุ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานป่วยเป็นเบาหวานไม่เกินร้อยละ 5 และผู้สูงอายุมีฟันใช้เคี้ยวอาหารได้อย่างเหมาะสมไม่น้อยกว่าร้อยละ 52” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า การขับเคลื่อนให้เกิดอำเภอสุขภาพดี 80 ปี ยังแจ๋ว สาธารณสุขอำเภอนับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่จะประยุกต์กลวิธีในการขับเคลื่อนให้สอดรับกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะต้องมีการเฝ้าระวังสภาวะสุขภาพของประชาชนในอำเภอทุกกลุ่มวัย เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยตั้งแต่ แรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ มีทักษะในการสร้างเสริมให้ตนเองมีสุขภาพดีภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
ที่มา : กลุ่มสื่อสารองค์กร กรมอนามัย