กรมอนามัย เผยไม่กินอาหารเช้าเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเผยไม่กินอาหารเช้าอาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน พบพฤติกรรมการกินอาหารเช้าของกลุ่มวัยทำงาน ร้อยละ 59.55  กินอาหารเช้าเป็นประจำ และร้อยละ 24.09 กินอาหารเช้าเกือบทุกวัน   ในขณะที่เด็กวัยเรียนไม่กินอาหารเช้า ร้อยละ 30  โดยเฉพาะเด็กนักเรียนหญิงไม่กินอาหารเช้าถึงร้อยละ 52

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่าจากผลสำรวจพฤติกรรมการกินอาหารเช้าโดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัยในปี 2555  จำนวน 220 ตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 88.2 เป็นกลุ่มวัยทำงานอายุระหว่าง 20 -60 ปี ซึ่งกินอาหารเช้าเป็นประจำ ร้อยละ 59.55 กินอาหารเช้าเกือบทุกวัน  ร้อยละ 24.09 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเพศชายและเพศหญิง พบว่าเพศชายกินอาหารเช้าทุกวันมากกว่าเพศหญิง คือ ร้อยละ 64ในขณะที่เพศหญิงร้อยละ 57.24 และส่วนใหญ่กินข้าวเป็นอาหารเช้าเป็นประจำร้อยละ 50.45 และดื่มชา กาแฟ แทนข้าว ร้อยละ 25 รองลงมา คือนมจืดพร่องมันเนย ร้อยละ 13.64  สาเหตุส่วนหนึ่งที่กลุ่มวัยทำงานไม่ได้รับประทานอาหารเช้า คือการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบส่งผลให้การเริ่มต้นระบบเผาผลาญของร่างกายช้าลง  ร่างกายจึงรู้สึกหิวตลอดเวลา และกินอาหารในมื้อถัดไปมากยิ่งขึ้นกินจุบกินจิบ และมักเลือกเมนูอาหารที่ให้พลังงานสูงทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การอดอาหารเช้ายังเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน  เนื่องจากคนที่รับประทานอาหารเช้าเป็นประจำ จะลดภาวะผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลินหรือภาวะดื้อของอินซูลินซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานได้ถึง ร้อยละ 35 -50 และผลการวิจัยจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจในอเมริกายังพบว่าการรับประทานอาหารเช้าอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดสมองและโรคหัวใจอีกด้วย

นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่าสำหรับพฤติกรรมการกินอาหารเช้าของเด็กวัยเรียน พบว่า เด็กอายุ 6 – 11 ปีร้อยละ 30 ไม่กินอาหารเช้าและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเมื่อเด็กมีอายุมากขึ้นโดยเฉพาะเด็กนักเรียนหญิง อายุ 12 – 14 ปี ไม่กินอาหารเช้า ถึงร้อยละ 52ผู้ปกครองจึงควรให้ความสำคัญกับอาหารเช้าโดยเฉพาะในช่วงเปิดเทอมหากเด็กวัยเรียนไม่รับประทานอาหารเช้าจะส่งผลเสียต่อการเรียนและสุขภาพ

เพราะร่างกายจะทำงานเพื่อเผาผลาญตลอดเวลาแม้ในขณะหลับและเมื่อไม่ได้ทานอาหารเช้าทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารจะส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง ร่างกายอ่อนเพลีย หงุดหงิดอารมณ์เสีย อาจถึงขั้นหน้ามืดเป็นลมเพราะสมองได้รับน้ำตาลกลูโคสไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอยิ่งมีอาการในช่วงเวลาเรียน จะทำให้เด็กไม่มีสมาธิเรียนอาจเป็นโรคกระเพาะจนถึงขั้นต้องพักการเรียนได้

นายแพทย์เจษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่าอาหารเช้าเป็นมื้อที่มีประโยชน์ต่อทุกเพศทุกวัยซึ่งอาหารเช้าที่เหมาะสมสำหรับทุกกลุ่มวัยควรให้พลังงานประมาณ 400 – 450กิโลแคลอรี โดยเลือกอาหารเช้าให้มีความหลากหลาย ปรุงสุก สด ใหม่เสมอหลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปเพราะมีสารอาหารที่มีประโยชน์น้อยและมีโซเดียมสูง แต่สามารถเลือกซื้ออาหารปรุงสำเร็จที่มีขายทั่วไปได้เช่น ข้าวต้มหมู ไก่ ข้าวผัดหมูใส่ไข่ ข้าวไข่เจียว บะหมี่ผัด ข้าวหมูทอดและเพิ่มผักสด ผลไม้สดเพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วนสำหรับการเตรียมอาหารเช้าให้เด็กวัยเรียน ต้องเป็นเมนูที่ถูกหลักโภชนาการมีโปรตีนสูง และเตรียมง่าย เช่น ข้าวต้มเครื่อง โจ๊ก ข้าวผัด  อาหารประเภทซีเรียลผสมนมรสจืด ขนมปังแซนวิส     สำหรับข้าวเหนียวหมูปิ้งซึ่งเป็นเมนูอาหารเช้าที่หาซื้อได้ง่ายต้องเลือกเป็นหมูปิ้งไม้ที่ไม่ติดมัน ไม่ไหม้เกรียมจนเกินไป    และควรเพิ่มผักสดเพื่อเป็นการฝึกให้เด็กกินผักด้วยควรใช้ผักที่ไม่มีกลิ่นฉุน และรสขม เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ผักบุ้ง   แครอท หรือหั่นผักให้เป็นชิ้นเล็กเพื่อเพิ่มสีสันในเมนูอาหาร  ที่สำคัญควรเตรียมนมรสจืด 1 กล่อง และผลไม้ประมาณ 1 ผล เช่น ส้ม แอปเปิ้ล  ชมพู่ เพื่อให้เด็กได้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมและครบถ้วน

“ทั้งนี้ หลักโภชนาการที่ถูกต้องควรกินอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อโดยเฉพาะมื้อเช้าซึ่งถือเป็นมื้อที่สำคัญมากหากไม่มีเวลาเตรียมอาหารเช้าเองก็ควรจะเพิ่มเวลาซัก 10 – 20 นาทีเพื่อออกไปเลือกเมนูอาหารเช้าที่เหมาะสมนอกบ้าน  เพราะทุกวัยโดยเฉพาะเด็กวัยเรียนเป็นวัยที่ต้องการพลังงานสารอาหารที่ครบถ้วน และหลากหลายให้เพียงพอต่อร่างกาย  ควรหลีกเลี่ยงน้ำอัดลม ขมหวาน ขนมขบเขี้ยว  เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนของเด็กไทย   พร้อมทั้งควรพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง  เพราะการพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยให้สมองปลอดโปร่ง  ทำให้สมองสามารถเรียนรู้ จดจำ มีสมาธิ พร้อมเริ่มวันใหม่  ตลอดจนทำกิจกรรมการเรียนรู้กันเพื่อนได้อย่างดี ควบคู่กับสุขภาพแข็งแรงอีกด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

 

ที่มา : กลุ่มสื่อสารองค์กร กรมอนามัย

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code