กรมสุขภาพจิตเผย ยอดเด็กติดเกมพุ่ง 6 เท่า
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
"กรมสุขภาพจิต" เผยผลสำรวจพบเด็กติดเกมพุ่ง 6 เท่าตัว อายุน้อยสุดแค่ 5 ขวบ เผย 3 เกมฮิต “ต่อสู้-สงคราม-สปอร์ต” ก่อปัญหามาสุด พบเสี่ยงโรคจิตเวชอื่นๆ แนะผู้ปกครองเลือกเกม-กำหนดเวลาเล่น
นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์ของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ในปี 2560 พบเด็กป่วยเป็นโรคติดเกม รายใหม่เข้ารับการรักษา 129 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 6 เท่าตัว ซึ่งจนถึงขณะนี้มีเด็กที่ป่วยโรคติดเกมรวม 429 ราย หรือ 1 ใน 3 ของเด็กป่วยโรคทางจิตเวชทั้งหมด มากเป็นอันดับ 3 รองจากโรคสมาธิสั้น และปัญหาพฤติกรรมดื้อรั้น โดยพบในเด็กผู้ชายมากกว่าหญิงอัตรา 7 ต่อ 1 อายุน้อยสุด 5 ขวบ มากสุด 17 ปี ทั้งนี้เด็กที่ป่วยใช้เฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง โดยเล่นที่บ้านร้อยละ 97 และเล่นที่โรงเรียน ร้อยละ 72อย่างไรก็ตามผลการศึกษาของทีมจิตแพทย์เด็กฯ พบว่า เด็กในกลุ่มอายา 7-12 ปี ที่ป่วยเป็นโรคติดเกมจะพบร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่นๆ ด้วยถึง 3-8 โรค ซึ่งพบมากที่สุดคือโรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้าโรควิตกกังวล นอกจากนั้นยังมีเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ การเขียนการอ่านจะด้อยกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน 2 ชั้นปี คิดเป็นร้อยละ 35 ส่วนเด็กในกลุ่มอายุ 13-17 ปี จะพบโรคทางจิตเวชร่วมมากถึง 8 โรค ได้แก่สมาธิสั้น ปัญหาการเรียนรู้ โรควิตกกังวลกลัวเข้าสังคม ย้ำคิดย้ำทำ ซึมเศร้า โรคอารมณ์ 2 ขั้ว โรคจิตหวาดระแวง และโรคลมชักด้วย
ด้าน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ กล่าวว่า ในปี 59 คาดว่ามีเด็กไทยเข้าข่ายติดเกมแล้วแต่ยังไม่ถึงขั้นป่วยประมาณ 1.6 ล้านคน โดยเกมที่ทำให้ติดและมีผลกระทบมี 3 ชนิดคือเกมยิงต่อสู้ เกมโมบาชนิดที่เป็นสงคราม การต่อสู้ออนไลน์ และเกมประเภทสปอร์ต โดยเด็กอายุ 7-12 ปี นิยมเล่นเกมยิงต่อสู้ อายุ 13-17 ปี ซึ่งมีไอคิวระดับเลิศเฉลี่ย122 คะแนน นิยมเล่นเกมโมบา เช่น ROV, LOL เป็นต้น โดยเด็กจะเล่นเกมวันละ 1-4 เกม ทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายพ่อแม่ ทำลายข้าวของร้อยละ 42 รองลงมาคือพฤติกรรมไม่ไปโรงเรียนร้อยละ39 พยายามฆ่าตัวตาย ฆ่าเพื่อน ร้อยละ 2 และหนีออกจากบ้านและออกจากการศึกษาภาคบังคับ ร้อยละ 4 ส่วนสาเหตุหลักเกิดจากการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่เหมาะสมของครอบครัวเช่น ขาดวินัย ไม่มีข้อกำหนดการเล่นเกม ซึ่งพบว่ามีสูงถึงร้อยละ 72
ทั้งนี้อาการโรคติดเกม คือ เล่นเกมมาก หงุดหงิดถ้าไม่ได้เล่น มีปัญหาการเรียน ซึมเศร้า กังวล ก้าวร้าวไม่ฟังใคร ซึ่งจะสามารถรักษาได้ด้วยยา การบำบัดจิตใจ พฤติกรรมบำบัดครอบครัว มีค่ารักษาประมาณ 50,000 – 250,000 บาทต่อคนต่อปี โดยใช้เวลาการรักษานาน 6 เดือนขึ้นไป อย่างไรก็ตามขณะนี้สถาบันฯ อยู่ระหว่างการออกแบบการคัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยงติดเกมร่วมกับครูและการบำบัดครอบครัวในโครงการความร่วมมือ 1 รพ. 1 โรงเรียนซึ่งจะช่วยให้เด็กเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นเหมือนโรคหรือความรุนแรงอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบกับการเรียน
พญ.วิมลรัตน์ กล่าวอีกว่า ข้อแนะนำการดูแลลูก คือ 1.เลือกเกมให้ลูก 2.กำหนดเวลาเล่น เด็กเล็กไม่เกินครึ่งชั่วโมง เด็กโตไม่เกิน 1 ชั่วโมงครึ่ง และ 3. ไม่ให้มีเครื่องเล่นเกมในห้องนอน ขณะเดียวกันต้องเสริมให้เด็กมีกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น อ่านหนังสือ ช่วยงานบ้าน เล่นกีฬา ส่วนมาตรการทางสังคมควรส่งเสริมให้มีเครือข่ายเยาวชนเข้มแข็งไม่ยุ่งเกี่ยวกับเกม ส่งเสริมเกมสร้างสรรค์ที่พัฒนาทั้งความคิด ความรู้ คุณธรรม และมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการใช้สื่อออนไลน์อย่างจริงจัง