“กรมสวัสดิการฯ – มธ. – สสส.” ผนึกพลังเร่งสร้างต้นแบบงานความปลอดภัยตามกฎหมาย

 

“กรมสวัสดิการฯ – มธ. – สสส.” ผนึกพลังเร่งสร้างต้นแบบงานความปลอดภัยตามกฎหมาย พร้อมพัฒนาระบบตรวจสุขภาพแรงงาน นำร่อง 50 องค์กรภายในปี 2558 รับ AEC หลังวิจัยพบค่าใช้จ่ายตรวจสุขภาพพุ่งแต่ไม่คุ้มค่า

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ในงาน “10 พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” ที่อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(ส่วนแยกตลิ่งชัน) นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือ “การสร้างต้นแบบงานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” ระหว่างนายปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นายปกรณ์ กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้เกิดนวัตกรรมต้นแบบการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ และเครือข่ายขยายผลการดำเนินงานสู่สถานประกอบกิจการ ให้สามารถดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และบรรลุเป้าหมายแรงงานปลอดภัย และสุขภาพอนามัยดีอย่างยั่งยืนภายใต้การดำเนินงานร่วมกัน 4 เรื่อง คือ

1.มีคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาต้นแบบและเครือข่าย

2.พัฒนาต้นแบบการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ

3.สนับสนุนการนำต้นแบบไปใช้ในสถานประกอบกิจการ 

และ 4.สนับสนุนการประชาสัมพันธ์

สำหรับเครือข่ายในการนำต้นแบบไปใช้เพื่อการขยายผลสู่สถานประกอบกิจการ “มธ.จะศึกษาและพัฒนาต้นแบบการดำเนินงาน สร้างแนวทางเพื่อการพัฒนาเครือข่าย และพัฒนาฐานข้อมูลติดตามผลการดำเนินการ กรมสวัสดิการฯ กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนการดำเนินงานสู่สถานประกอบกิจการ และพัฒนาเครือข่ายเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน คณะกรรมการความปลอดภัยฯ ของสถานประกอบกิจการ และ สสส. สนับสนุนทรัพยากรและกิจกรรมการเผยแพร่องค์ความรู้สู่สถานประกอบกิจการกลุ่มเป้าหมาย” นายปกรณ์ กล่าว

ด้าน ดร.สุปรีดากล่าวว่า จากสถานการณ์การตรวจสุขภาพแรงงานไทยในสถานประกอบการปัจจุบันพบ 3 ปัญหาสำคัญคือ 1.สถานประกอบการมีค่าใช้จ่ายจากการตรวจสุขภาพพนักงานประจำปีที่ค่อนข้างสูง เพราะใช้โปรแกรมตรวจสุขภาพแบบเหมารวม (package) ไม่ได้ตรวจตามความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานและช่วงอายุที่เหมาะสม 2.ผลการตรวจสุขภาพประจำปี ไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลสุขภาพของพนักงาน และ 3.ไม่มีการบริหารจัดการ หรือขาดการติดตามผลการตรวจสุขภาพของพนักงานในระดับบุคคล เช่น การบันทึก ติดตามผลตลอดจนแนวโน้มความเสี่ยงของการเกิดโรค

“ความร่วมมือกันครั้งนี้จะร่วมกันพัฒนาระบบตรวจสุขภาพที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยใช้ข้อมูลวิจัยสถานการณ์การตรวจสุขภาพแรงงานไทย ร่วมกับมาตรการและนโยบายทางกฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พัฒนากลยุทธ์สร้างต้นแบบงานที่มีความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานในกลุ่มเป้าหมายหลักกว่า 50 องค์กร อาทิ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กลุ่มบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง และนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ภายใน 2 ปี หรือปี 2558 ซึ่งประเทศไทยจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อดูแลคุณภาพแรงงานป้องกันการเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศ ซึ่งจะทำให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานยิ่งขยายตัว จากที่ปัจจุบันธนาคารโลกสำรวจพบว่าประเทศไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีคุณสมบัติตรงกับงานสูงที่สุดในอาเซียน” ดร.สุปรีดา กล่าว
 

 

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

 

Shares:
QR Code :
QR Code