กรมราชทัณฑ์+สปสช. บริการสุขภาพผู้ต้องขังอย่างเท่าเทียม

ที่มา :  เว็บไซต์แนวหน้า


กรมราชทัณฑ์+สปสช. บริการสุขภาพผู้ต้องขังอย่างเท่าเทียม thaihealth


แฟ้มภาพ


อธิบดีราชทัณฑ์ เผยคุกแออัด ก่อปัญหาสุขภาวะ เหตุผู้ต้องขังตายปีละพันราย-ป่วย5หมื่นคน สปสช.คาดสถานพยาบาลเรือนจำกลางบางขวางขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำและส่งต่อทั่วไปใน ระบบสปสช.ช่วยลดปัญหาได้


พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนาเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงสถานพยาบาลเรือนจำกลางบางขวาง ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำและส่งต่อทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ


โดย พ.ต..อ.ณรัชต์ กล่าวว่า ขณะนี้จำนวนผู้ต้องขังเกินกว่าพื้นที่ห้องขังรองรับ3 เท่า โดย 1 ห้องขัง จะมีผู้ต้องขังกว่า 100 คนและใช้เวลาในเรือนนอนวันละ 14 ชั่วโมง จากสภาพความแออัดดังกล่าวที่คล้ายกับโรงเรือนเลี้ยงหมูหรือเข่งปลาทูจึงเกิดปัญหาสุขภาวะตามมา ทั้งนี้ สถิติประมาณการแต่ละปีมีผู้ต้องขังเสียชีวิตประมาณ 1,000 คน มีอัตราการเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลราว 50,000 คนซึ่งโรคพบมากที่สุดในเรือนจำ 3 อันดับแรก คือ วัณโรค เอดส์ และหลอดเลือดหัวใจ


พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์มีความพยายามที่จะผลักดันให้นักโทษได้รับการดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ญาติผู้ต้องขังสบายใจได้ถ้าผู้ต้องขังเจ็บป่วยจะได้รับการบริการรักษา สุขภาพอย่างเท่าเทียม กับคนภายนอก แตกต่างเพียงมีกำแพงกั้นจากภายนอกเท่านั้นโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงยุติธรรมโดยกรมราชทัณฑ์ และสปสช. กระทรวงสาธารณสุข จะ ช่วย ให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยในอนาคตจะขยาย ไปยังสถานพยาบาลในเรือนจำอื่นต่อไป


ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การร่วมมือในการให้บริการสาธารณสุข ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดังกล่าว เพื่อบริหารจัดการระบบบริการสาธารณสุขให้ผู้ต้องขังสามารถ เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้มากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันมีจํานวนผู้ต้องขัง จำนวน 6,020 คน ที่สามารถเลือกลงทะเบียนกับหน่วยบริการเรือนจํากลางบางขวาง ทั้งนี้ เมื่อสถานพยาบาลเรือนจําบางขวางขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำ ปฐมภูมิและหน่วยรับส่งต่อ จะได้รับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวและงบจ่ายตามผลงาน เป็นการหนุนเสริมให้หน่วยบริการ สามารถจัดบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


"เป้าหมายของรัฐบาลคือต้องหยุดการแพร่ระบาดควบคุมวัณโรคในเรื่องจำทั่วประเทศให้ได้ เนื่องจากเรือนจำเป็นที่รวมของคนจำนวนมาก นักโทษบางรายป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเป็นพาหนะของวัณโรค สปสช.จึงต้องเข้ามาควบคุม โดยกำหนดให้นักโทษทุกคนต้องสุ่มตรวจเสมหะ รายที่พบเชื้อต้องรับยาต่อเนื่องตามคอร์สในการรักษา 3 – 6 เดือน เมื่อหายขาดยังต้องตรวจซ้ำเป็นประจำ โดยหลังจากยกระดับหน่วยบริการเรือนจำบางขวางได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนกับสปสช.แล้วจะพยายามขยายไปถึงเรือนจำอื่นๆ ที่มีความพร้อมเพื่อให้เป็นที่รับรู้ของสากลว่าไทยดูแลผู้ต้องขังตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ป่วยหนักต้องได้รับการรักษาเฉพาะทางหรือต้องผ่าตัดต้องส่งต่อไปให้ รพ.พระนั่งเกล้า ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์และโรงพยาบาลเฉพาะทางอื่นๆ" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ