กรมปศุสัตว์ยันหนักแน่นไม่มีหวัดนก
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
ขอยืนยันว่าไม่มีการปิดข้อมูลการระบาด และในปี 2560 และไม่มีการรายงานการระบาดของไข้หวัดนกแน่นอน ประเทศไทยไม่มีรายงานการระบาดมาตั้งแต่ปี 2552
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ยันไม่มีการระบาดของไข้หวัดนกในปี 2560 แน่นอน ชี้มีมาตรการดูแลเข้มงวด วอนประชาชนรับฟังข่าวจากกรมปศุสัตว์เป็นหลัก เผยไทยเตรียมส่งไก่ไปจีนล็อตแรก 28 มี.ค.นี้ 14 ตู้คอนเทนเนอร์ มูลค่า 35 ล้านบาท ส่วนผู้หวังดีที่เตือนสถานการณ์ พร้อมชี้แจงให้เข้าใจ ด้าน "หมอธีระวัฒน์" ยันได้ข้อมูลระบาดจริงแถวโคราช มีสัตว์ชนิดอื่นตายด้วย เป็นสัญญาณแสดงถึงการปรับเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมให้สามารถติดสัตว์ตระกูลใหม่ได้ ยกจีนพบเชื้อ H7N4 จุดน่ากลัวคือติดเชื้อจากคนสู่คน
น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีและโฆษกกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวออกมาว่ามีการระบาดของไข้หวัดนกในปี 2560 แต่ไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนให้รับทราบ ว่า ขอยืนยันว่าไม่มีการปิดข้อมูลการระบาด และในปี 2560 และไม่มีการรายงานการระบาดของไข้หวัดนกแน่นอน ประเทศไทยไม่มีรายงานการระบาดมาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งการที่ควบคุมโรค ได้เราก็ต้องมีการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ทั้งกรมอนามัย กรมควบคุมโรค อย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสวน สัตว์ มหาวิทยาลัย ตามหลักการการจัดการระบบแบบสุขภาพหนึ่งเดียว หรือที่เรียกว่า One Health อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นประเทศส่งออกสัตว์ปีกอันดับ 4 ของโลก ดังนั้นสำคัญที่สุดคือเป็นโรคจากสัตว์ที่กระทบชีวิตมนุษย์ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด และหากเกิดการระบาดก็จะกระทบกับระบบเศรษฐกิจทั้งการท่องเที่ยว การส่งออกสัตว์ปีก จึงต้องควบคุมเพื่อไม่ให้เกิด
น.สพ.สมชวนกล่าวว่า การดำเนินงานนั้นมีหลายมาตรการ และมีกฎหมายหลายฉบับกำกับชัดเจน ตลอดห่วงโซ่การผลิต เช่น พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ทั้งการเลี้ยงที่มีมาตรฐานฟาร์ม การตรวจเชื้อโรคจุลินทรีย์ และสารตกค้าง มีโครงการเฝ้าระวังแบบบูรณาการเชิงรุกทั้งทางด้านอาการ โดยส่งเจ้าหน้าที่และอาสาปศุสัตว์เคาะประตูบ้านสอบถามอาการสัตว์ปีกป่วยตายและเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการปีละ 2 ครั้ง โดยการเก็บตัวอย่างปีละเกือบแสนตัวอย่าง และหากพบว่ามีอาการเข้าข่ายตามนิยาม จะมีการทำลายสัตว์ปีกนั้นทันที เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการเก็บตัวอย่างจากโรงฆ่าสัตว์ การตรวจสอบตลาดขายสัตว์ปีกมีชีวิต ตลาดขายสัตว์ปีกสวยงามทั้งหลายเพื่อนำไปเลี้ยง และการตรวจสอบสัตว์ปีกตามสวนสัตว์ การควบคุมตรวจสอบสัตว์ปีกอพยพตามร่วมกับกรมอุทยาน ด้วย "กรมปศุสัตว์มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ รวมทั้งมีการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการป้องกันควบคุมโรคหวัดนกมาเยอะมาก เพราะเราทราบดี ว่าช่วงที่เจอวิกฤติโรคระบาดนั้นกระทบกับทั้งชีวิตมนุษย์ อุตสาหกรรมการส่งออกที่มีมูล ค่าเป็นแสนล้านบาทในแต่ละปี และการท่องเที่ยว ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าประเทศไทยมีระบบการป้องกันที่เข้มงวด ไม่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนก และหากเป็นเรื่องระบาดในสัตว์ ขอให้รับฟังข่าวสารจากกรมปศุสัตว์เป็นหลัก เพราะมีหน้าที่หลักในการดูแลสัตว์ มีขั้นตอนการปฏิบัติและประสบการณ์ในการป้องกันควบคุมโรคระบาดสัตว์ ผ่านคณะทำงาน ทั้งปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัด ภาคีเครือข่าย" รองอธิบดีฯ กล่าว
น.สพ.สมชวนกล่าวอีกว่า ส่วนที่มีผู้หวังดีกังวลว่ามีการปิดข้อมูล ซึ่งจะกระทบต่อการดำเนินการเตรียมความพร้อมป้องกันโรคระบาดในคนนั้น ทางกรมปศุสัตว์ก็ต้องขอบคุณ และขอให้ติดต่อประสานงานโดยตรงกับกรมปศุสัตว์ ซึ่งพร้อมจะเข้า ไปชี้แจงให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะเห็นว่าเป็นความหวังดีเพื่อประ โยชน์ของประชาชนเช่นเดียวกับกรมปศุสัตว์ แต่หากมีข่าวการระบาดแบบนี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ส่งผลกระทบกับการส่งออกสัตว์ปีกที่ไทยเป็นอันดับ 4 ของโลก และต่อเนื่องถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยด้วย และในวันที่ 28 มี.ค.นี้ ก็จะมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ นายลักษณ์ วจนานวัช เป็นประธานพิธีปล่อยตู้คอนเทนเนอร์บรรจุเนื้อ ไก่เที่ยวปฐมฤกษ์ ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ด่านเชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นด่านที่จะใช้ ส่งออกสัตว์ปีกไปยังประเทศจีน เที่ยวปฐมฤกษ์ จำนวน 14 ตู้ มูลค่า 35 ล้านบาท นับได้ว่าทุกประเทศทั่วโลกให้การยอมรับในการปลอดโรคระบาดหวัดนก และคุณภาพมาตรฐานการผลิตเนื้อสัตว์ปีกของไทย
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ให้ข้อมูลและความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องไข้หวัดนกในสัตว์ปีก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ว่า หากไม่ได้แจ้งให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบเมื่อสัตว์ป่วยและตายอาจเอาไปชำแหละและกินต่อ และอาจจะคิดว่าไม่จำเป็นต้องแจ้งทางการ นอกจากนี้คนโคราชที่ทำงานสวน ให้ที่บ้านสัปดาห์ละครั้งเล่าให้ฟังว่า ไก่หลังบ้านตาย และไก่ของเพื่อนบ้านตายเป็นฝูงโดยไม่ทราบ สาเหตุ จึงได้แจ้งให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เข้า ไปตรวจสอบ ซึ่งในพื้นที่ไม่มีหน่วยงานราชการใด รวมทั้งกรมปศุสัตว์ใดทราบมาก่อน และเมื่อเข้าไปสำรวจก็พบว่าเป็นไข้หวัดนก ซึ่งลักษณะสายพันธุ์น่าจะมีความรุนแรงแน่
ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า ในขณะเดียวกันที่สวนสัตว์ โคราชนอกจากสัตว์ปีกแล้ว ยังมีสัตว์อื่นล้มตาย เช่น เสือ ปลา และอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมให้สามารถติดสัตว์ตระกูลใหม่ได้ และเป็นการเตือนที่สำคัญของการเข้าสู่มนุษย์ โดยเกิดขึ้นประ มาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคมของปี 2560 และเท่าที่ทราบจากการประชุมร่วมกันของกรมควบคุมโรคและกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็พบข้อมูลว่ามีการติดเชื้อในหลายจังหวัด แต่สามารถควบคุมได้ทันท่วงที อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมเหล่านี้เห็นชัดจากการที่มีรายงานในประเทศจีนถึงไข้หวัดนก H7N4 ในคน ซึ่งแม้มีอาการไม่มากมาย ทางการจีนได้ประกาศทั่วไป และฮ่องกงได้ออกมาตรการเข้มงวด ซึ่งในขณะนั้นเป็นเทศกาลตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2561
ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวอีกว่า การแจ้งข้อมูลดังกล่าวเพื่อให้ ประชาชนในพื้นที่ตระหนัก และในพื้นที่อื่นๆ ระวังเชื้อที่อาจลุก ลามเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งประ ชาชนก็หวังพึ่งข้อมูลจากทางการ เพราะไม่มีทางทราบจากที่อื่น และข้อมูลเหล่านี้ต้องมีการแจ้ง กับหน่วยงานสาธารณสุขในคน เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวแม้จวบจนกระทั่งปัจจุบัน ไม่มีใคร ทราบถึงเรื่องไข้หวัดนกในสัตว์ปีก จากประกาศกระทรวงสาธารณสุขถึงโรงพยาบาลในสังกัด ซึ่งหาก มีการแจ้งคนที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ ก็ให้ระวังไปถึงไข้หวัดนกด้วย และควรระวังโดยการแยกผู้ป่วยด้วย เนื่องจากระดับของโรคจะมีความเข้มข้นต่างกันอย่างชัดเจน
"เพราะคำเตือนเหล่านี้มีมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นโรคซิกา โรคเมอร์ส MERS และในสมัย 2-3 ปีที่แล้ว คือ อีโบลา แต่ถ้าปรากฏข้อมูลว่าเป็นไข้หวัดนกจริง บุคลากรทางสาธารณสุขจะไหวตัวทันทีเรื่องของการแพร่เข้าสู่คน และการควบคุมไม่ให้เกิดโรคในคน แม้แต่มีอาการน้อยนิดก็ตาม เพราะจะลามจากจุดเดียวไปทั่วโลกคือการติดต่อจากคนสู่คน และคิดว่าการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปิดเผยข้อมูลเพราะกลัวจะส่งไก่ดิบออกนอกประเทศไม่ได้ โดยประเมินเป็นมูลค่าแสนล้าน ซึ่งอาจทำ ความเสียหายให้บริษัทเอกชนเทียบกันไม่ได้เลยกับโรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วประเทศไทยและลามไปทั่วโลก และถูกจารึกว่าเป็นไข้หวัดไทยเหมือนกับไข้หวัดสเปนในอดีตที่คร่าชีวิตคนไป 30 ล้านคน" ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว.