กรมชลฯ รับมือแล้งหน้า เริ่มกักเก็บน้ำทั่วประเทศ
ที่มา: มติชนออนไลน์
แฟ้มภาพ
กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 2 – 6 ตุลาคมนี้ ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดี กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 2 – 6 ตุลาคมนี้ ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง โดยภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศา มีลมแรงและมีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง วันที่ 1 ตุลาคม มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกัน 59,328 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็น 78% ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 35,399 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับน้ำได้อีก 16,741 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 18,178ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 73% ของความจุอ่างฯรวมกัน และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 11,482 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น63% สามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 6,690 ล้าน ลบ.ม. โดยได้เริ่มเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึงนี้
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา วันที่ 1 ตุลาคม ปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ วัดได้ 561 ลบ.ม./วินาที จากวันที่ 30 กันยายน อยู่ที่ 558ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 7.27 เมตร และมีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเท่ากับเมื่อวันที่ 30 กันยายนอยู่ในอัตรา 100 ลบ.ม./วินาที รับน้ำเข้าฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกรวม 487 ลบ.ม./วินาที มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่ อ.บางไทร เฉลี่ย 335 ลบ.ม./วินาที เมื่อวันที่ 30 กันยายน อยู่ที่ 450 ลบ.ม./วินาที สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแนวโน้มลดลง
นายทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า กรมชลประทาน ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับให้รายงานสถานการณ์น้ำให้หน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกัน อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด(ปภ.) และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ยังได้กำชับให้อ่างเก็บน้ำต่างๆทั่วประเทศ เริ่มเก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯ เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้อย่างเพียงพอ ยกเว้นในพื้นที่ภาคใต้ ที่จะต้องเตรียมการเฝ้าระวังฝนตกในฤดูฝนที่กำลังจะถึงนี้อย่างใกล้ชิด