กพย.เตือนระวัง ‘อาหารเสริม’ โฆษณาเกินจริง
หนุนใช้ยาแรงเช็กบิลโฆษณาเกินจริง กพย.เตือนระวัง ‘อาหารเสริม’
ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังสุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวถึงกรณีที่กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับสำนักงาน อย. และบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ยุติการเผยแพร่ภาพทางโทรทัศน์ดาวเทียมที่ออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์เอนไซม์เจนิฟูดส์ ซันคลาร่า และเกร็กคู เนื่องจากโฆษณาเกินความจริงว่า กพย.สนับสนุนการทำงานดังกล่าว เพื่อปกป้องสิทธิผู้บริโภคอย่างหนึ่ง ไม่ถือว่าเป็นการกระทำเกินเลย ซึ่งที่ผ่านมาการบังคับใช้เฉพาะกฎหมายของ อย. สามารถควบคุมและระงับได้เป็นครั้งคราว แต่พบว่าผู้ประกอบการมักละเมิดและกระทำผิดใหม่ๆ ตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถควบคุมได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว กพย.จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการทำงานของ กสทช. เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ตกเป็นเหยื่อโฆษณาเกินจริงเหล่านี้
“ทั้งนี้มีข้อเสนอต่อ กสทช. ดังนี้ 1.แม้จะมีการระงับการออกอากาศไปแล้ว แต่ยังต้องเฝ้าระวังติดตามการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงอย่างใกล้ชิด และยุติการเผยแพร่ทันที เพราะมักพบช่องใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา 2.เฝ้าระวังติดตามการโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางสถานีวิทยุและวิทยุท้องถิ่นเพิ่มเติม และ 3.ผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบและผู้ประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ เพื่อเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบ”
ผศ.ดร.นิยดา กล่าวต่อว่า ปัญหาการโฆษณาอวดอ้างเกินจริงของยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากการนำเสนอในที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พบว่า การโฆษณายาในช่วงปี 2549-2552 มีมูลค่าสูงกว่า 2.5 พันล้านบาทต่อปี ส่วนการโฆษณาอาหารมีมูลค่าการโฆษณาสูงถึง 1.7 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยสูงกว่าปี 2539 ถึง 12 เท่า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเสริมอาหาร จากข้อมูลบริษัทผลิตสื่อโฆษณาเพียงบริษัทเดียวในปี 2545 พบว่าการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมูลค่าสูงถึง 821 ล้านบาท เคเบิลดาวเทียมยังมีวิทยุท้องถิ่นมากกว่า 7,700 แห่ง ส่วนใหญ่จะเป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและมักโฆษณาเกินจริง อวดสรรพคุณให้เข้าใจผิดว่ารักษาโรคได้ ถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนอย่างยิ่ง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด