กพย.- สสส. เตือนคนไทยกินยาไม่ตรงกับโรค

บรรจุภัณฑ์-สรรพคุณล้าหลังทำสับสน

 

             ระบุอันตรายต่อสุขภาพ ประธานชมรมเภสัชชนบทจี้อย. ทบทวนระบบการขึ้นทะเบียนยาใหม่  เสนอถอน 4 รายการ

 

             ที่รร.ทวินทาวเวอร์ แผนงานสร้างกลไกลเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับ สำนักงานสนับสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ( สสส.) จัดประชุม การพัฒนาระบบการทบทวนทะเบียนตำรับยา  ซึ่งภายในงานมีการอภิปรายเรื่อง สภาพปัญหาทะเบียนตำรับยาที่พบในประเทศไทย  โดย ผศ.ดร.ภญ. นิยดา  เกียรติยิ่งอังศุลี  หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส.)  กล่าวว่า ประเทศไทยประสบปัญหาการใช้ยาไม่เหมาะสม ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาของระบบการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่ยังล้าหลัง ไม่ทันสมัย ซึ่งจากการสำรวจพบว่า มียาจำนวนมากที่มีสูตรยาไม่เหมาะสมต่อการใช้ในปัจจุบัน เช่น ยาปฏิชีวนะบางรายการที่ยังมีการบรรจุในรูปแบบซอง ส่งผลต่อความคงตัวของยา ทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้เร็ว ขณะที่บางรายการมีลักษณะของขวดใส่ยา กล่องบรรจุภัณฑ์   รวมทั้งชื่อทางการค้าที่เหมือนกัน แต่กลับมีตัวยาคนละชนิด ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เข้าใจผิด รับประทานยาแล้วแต่กลับไม่หาย โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นผลจากการใช้ยาไม่ตรงกับโรค และเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อสุขภาพ

 

             ผศ.ดร.ภญ. นิยดา กล่าวว่า ระบบการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่ไม่ทันสมัย เนื่องจาก ยาบางรายการได้รับการขึ้นทะเบียน ตั้งแต่ ปี 2526 และถูกจัดไว้ในกลุ่มยาทะเบียนตลอดชีพ โดยไม่ต้องต่อทะเบียน ซึ่งยาเหล่านี้ อาจไม่เหมาะสมต่อการใช้ยาในปัจจุบัน ดังนั้นจึงควรมีการเปลี่ยนระบบการขึ้นทะเบียนตำรับยาใหม่ ให้มีการต่ออายุทุกๆ 5 ปี แทนการขึ้นทะเบียนยาตลอดชีพ รวมทั้งให้มีระบบการทบทวนรายการยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ให้มีประสิทธิภาพ

 

             ภญ.ดาริน จึงพัฒนาวดี   ประธานชมรมเภสัชชนบท กล่าวว่า ปัจจุบันมียาที่ไม่เหมาะสมถูกขึ้นทะเบียนเป็นจำนวนมาก โดยยาบางชนิด ไม่ควรรับประทานคู่กัน แต่ถูกผสมลงในเม็ดยาเดียวกัน  เช่น ยาแก้ไอและยาแก้หวัด ทั้งที่ยาทั้ง 2 ชนิดมีสรรพคุณในการรักษาโรคต่างกัน เช่น ยาแก้ไอจะช่วยบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ขณะที่ยาแก้หวัดจะมีผลทำให้เสมหะมีความข้น เหนียวมากขึ้น และเมื่อถูผสมลงในเม็ดยาเดียวกัน หากผู้ป่วยมีอาการหวัดและไอพร้อมกัน จะส่งผลให้ผู้ป่วยไอมากขึ้น เนื่องจากเสมหะที่ข้นขึ้น

 

             ภญ.ดาริน กล่าวว่า ชมรมเภสัชชนบทขอเสนอให้ อย.เพิกถอนทะเบียนตำรับยาที่ไม่เหมาะสม  4 รายการ คือ 1.ยาแอสไพรินสำหรับเด็ก เนื่องจากมีข้อบ่งชี้ ห้ามใช้ยาลดไข้แอสไพรินในเด็กและวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมทั้งสตรีที่ให้-นมบุตรโดยเด็ดขาด เพราะอาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอาการรายย์ ซินโดรม (Reye’s syndrome) ขณะที่ อย.เองก็ออกประกาศห้ามขายยาแอสไพรินในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ก็ยังเห็นวางขายกันทั่วไป โดยเฉพาะยาแก้หวัดชนิดผงยี่ห้อดัง 2. ยาล้างไต ที่มีส่วนผสมของสารที่ให้สี โดยระบุว่ามีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ ผู้ใช้หลงเชื่อ คิดว่าตัวยานี้ช่วยล้างไต อีกทั้งยังมีการนำมาใช้ผิดประเภท เช่น ผู้ที่ใช้สารเสพติด ที่ต้องการให้ปัสสาวะมีสีอื่นแทนม่วง

 

             ประธานชมรมเภสัชชนบท  กล่าวว่า  ข้อ 3. ยาแก้ท้องเสียที่ผสมยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อได้รับยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น และ4.ยาปฏิชีวนะชนิดผงบรรจุซอง ซึ่งแม้บริษัทผู้ผลิตเลิกผลิตไปแล้ว แต่ อย.ก็ควรประกาศถอนทะเบียนตำรับยา เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทยากลับมาผลิตอีกภายหลัง    

 

             นอกจากนี้ อย.ควรปรับระบบพิจารณาการขึ้นทะเบียนยาใหม่ทั้งระบบ นอกจากจะพิจารณาเรื่อง สรรพคุณและความปลอดภัยของยาแล้ว จะต้องมีกระบวนการติดตามหลังจากได้รับขึ้นทะเบียนแล้ว เช่น รูปแบบของแพกเกจยา ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความปลอดภัยจากการใช้ยาที่ถูกต้อง

 

 

 

 

 

 

ที่มา: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

 

 

 

Update: 26-11-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ