กทม.เปิดเวทีสะท้อนชีวิตโจ๋เคยก้าวพลาดเพราะเหล้า
ก้าวที่พลาด!! เดินทางผิดนับเป็น “บทเรียน” ชีวิตราคาแพง!! แต่เมื่อยังมีลมหายใจ…ต้องลุกขึ้นสู้!! เพื่อพบกับชีวิตใหม่ เพื่อนใหม่ สังคมใหม่ เพราะชีวิตยังมีความหวัง ดั่งชีวิตของ “2 หนุ่ม” อัครพงษ์ บุญมี และ ศิรวัฒน์ พันธุ์ม่วง ที่เคยก้าวพลาดเพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์ (น้ำเมา) เกือบหมดอนาคต ณ วันนี้พวกเขากลับใจเป็นคนใหม่ที่มีคุณค่าของสังคมแต่กว่าจะมีวันนี้ได้…
นายอัครพงษ์ บุญมี อายุ 23 ปี เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งย้อนอดีตเดินทางผิดว่า ช่วงที่ผมอายุ 16 ปี พ่อแม่อบรมสั่งสอนไม่เคยรับฟัง เกเร ติดเพื่อน ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ทุกๆ วัน ทั้งที่ไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง ในที่สุดเบื่อเสียงบ่นพ่อแม่ ก็หนีออกจากบ้านมาเช่าหอพักอยู่กับเพื่อน ไม่เรียนหนังสือ ทำงานรับจ้างได้เงินมาจ่ายค่าเหล้า
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิต “อัครพงษ์” เมื่อถูกตำรวจจับ ต้องติดคุก 4 ปีข้อหาฆ่าคนตาย เพราะไปทะเลาะวิวาทกับคู่อริจนทำให้เขาเสียชีวิต หลังจากที่ดื่มเหล้ากับเพื่อน เมื่อแม่รู้เรื่องท่านก็เสียใจอย่างมาก กินไม่ได้นอนไม่หลับ หลังจากเกิดเหตุการณ์วันนั้น เพื่อนที่บอกว่าสามารถตายแทนกันได้ก็หายหน้าไปหมด
อัครพงษ์ เล่าต่อว่า ช่วง 4 ปี ที่ถูกส่งมาอยู่ที่ศูนย์ฝึกราชบุรี ไม่ต่างอะไรจากคุก อยู่ได้ 1 ปี ก็สมัครเข้ามาอยู่ที่บ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งที่นี่มีการฝึกทักษะชีวิต ฝึกให้ผมคิดอะไรได้หลายๆ อย่าง ทำให้ผมได้ร่วมเป็นวิทยากรอบรมให้น้องๆ เยาวชน ที่ก้าวพลาดเหมือนอย่างผม ให้คิดใหม่ทำใหม่ เห็นคุณค่าของตัวเอง เป็นการตอบแทนสังคมโดยการบอกให้เขาได้รู้ว่าการเป็นเหยื่อของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงครั้งเดียวจะเปลี่ยนชีวิตให้ตกต่ำได้
บทเรียนชีวิตครั้งนี้ “อัครพงษ์” ฝากไปถึงน้องๆ ว่า เยาวชนทุกคนควรให้ความสำคัญกับตัวเองให้มาก ไม่ควรติดเพื่อนในทางที่ผิด จะทำให้เสียคน อีกทั้งตนไม่อยากเห็นเยาวชนต้องเป็นเหยื่อของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยิ่งนักดื่มอายุน้อยลงเท่าไหร่ ก็จะทำให้คนบางกลุ่มที่ทำธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวยมากขึ้นเท่านั้น แต่เยาวชนควรหันมาทำประโยชน์เพื่อสังคมจะดีกว่า อย่างไรก็ตาม ในมาตรการการป้องกันปัญหานี้ ผู้ใหญ่ควรสร้างกลไกป้องกัน มากกว่าปล่อยไปตามยถากรรม รอให้เกิดปัญหาแล้วผู้ใหญ่ก็มักจะโทษเด็ก คอยตามแก้เหมือนวัวหายล้อมคอก สำหรับการจัดรับฟังเสียงจากเยาวชนในวันนี้ ถือเป็นมิติใหม่ที่น่ายินดี มากกว่าที่ผู้ใหญ่จะมาคิดแทนแล้วก็แก้ปัญหาไม่ถูกจุด
อีกหนึ่งเยาวชนที่เคยถลำลึกกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นายศิรวัฒน์ พันธุ์ม่วง นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเปิดใจยอมรับว่า ในอดีตตนเป็นนักดื่มตัวยงคนหนึ่ง ดื่มตั้งแต่อายุ 15 ปี ในช่วงชีวิตที่มีปัญหาต่างๆ ถาโถมเข้ามามาก ทั้งปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาการเรียน และที่สำคัญคือปัญหาครอบครัว เงินที่พ่อแม่ให้ใช้ไปโรงเรียนนำมาซื้อเหล้าดื่ม ดื่มบ่อยครั้งก็มีหนี้สิน จนต้องติดเงินกับร้านค้าเอาไว้ ครอบครัวต้องมาจ่ายหนี้ให้ ทำให้มีการทะเลาะ มีปากมีเสียงกันบ่อยครั้ง
เมื่อมีปัญหาทางด้านการเงินทำให้ “ศิรวัฒน์” ฉุกคิดได้ว่าต้องเลิกเหล้า อีกทั้งเห็นเพื่อนๆ ทำประโยชน์ให้สังคมได้โดยไม่ต้องดื่มเหล้า และบางคนมีเวลาว่างที่ทำงานพิเศษหารายได้ เมื่อตนเลิกเหล้าได้จึงใช้เวลาที่เคยดื่มเหล้ามาหางานพิเศษทำแทน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สุขภาพก็ดีขึ้น และปัญหาต่างๆ ที่เคยรุมเร้าก็ลดลง
“ผมอยากเชิญชวนให้เยาวชนทั้งหญิง-ชาย ไม่ควรเข้าไปทดลองดื่มจะดีที่สุด หรือคนที่ดื่มขอให้เลิก เพราะการดื่มเหล้าไม่ได้มีอะไรดีเลย แต่กลับทำให้มีผลเสียที่ตามมาหลังการดื่มและขาดสติ ผมฝากถึงผู้ใหญ่จริงจังในการดูแลแก้ไขเหล้ากับเยาวชน ตามที่มีกฎหมายอยู่แล้ว เช่น การไม่ขายเหล้าให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ให้เด็กเข้าไปสถานบริการ สถานบันเทิงต่างๆ การเข้มงวดกับการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการออกมาตรการควบคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษาด้วย
เพราะเยาวชนเปรียบเหมือนผ้าขาวที่อ่อนไหวไปกับสิ่งรอบข้างได้ง่ายการสร้างทางเลือกหรือเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้แก่เยาวชนก็เป็นเรื่องสำคัญ ผมคิดว่าการลงทุนกับเยาวชนคือการสร้างอนาคตและเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด และผู้ใหญ่อย่าคิดว่าปัญหานี้ไกลตัวเพราะบางครั้งอาจเกิดขึ้นกับลูกหลานของท่าน แล้วท่านก็จะถึงจุดไต้ตำตอว่าปัญหานี้ไม่ได้ไกลตัวเลย” ศิรวัฒน์ ฝากทิ้งท้าย
เสียงสะท้อนของ 2 หนุ่ม ผู้ก้าวพลาดเกิดขึ้นได้ เพราะสำนักงานป้องกันและบำบัดผู้ติดยาเสพติด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเวทีเปิดเสวนา “เสียงเยาวชนกับปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” และมีผู้ใหญ่ใจดี นายพีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน เมื่อเร็วๆ นี้ ที่อาคารอนุสรณ์ 100 ปีโรงพยาบาลกลาง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
update : 22-12-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน