กทม. สร้างความมั่นใจเทศกาลตรุษจีน กินเป็ด-ไก่ ไร้ไข้หวัดนก

 

กทม.เข้มงวดแผงจำหน่ายและโรงฆ่าสัตว์ปีก เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก พร้อมให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคกินเป็ด-ไก่ได้อย่างปลอดภัย ในช่วงเทศกาลตรุษจีน

วันที่ 6 ก.พ. 56 นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร กทม. ผู้บริหารสำนักอนามัย และเจ้าหน้าที่สำนักอนามัย ลงพื้นที่ตรวจสถานที่จำหน่ายสัตว์ปีกและโรงฆ่าสัตว์ พร้อมทั้งให้คำแนะนำด้านสุขลักษณะที่ถูกต้องแก่ผู้ประกอบการ และรับฟังความคิดเห็นตลอดจนปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างขวัญ และกำลังใจให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญในการประกอบการให้ถูกสุขลักษณะ และให้ความร่วมมือในการปรับปรุงสถานประกอบการให้เป็นไปตามที่ กทม.กำหนด เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่สะอาด ปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนก และเชื้อโรคต่างๆ พร้อมจัดรถตรวจสอบคุณภาพอาหารเคลื่อนที่ เก็บตัวอย่างอาหารในตลาด เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนสารเคมีในอาหาร ณ ตลาดสามย่าน เขตปทุมวัน และสถานประกอบการฆ่าสัตว์ ณ ถนนมังกร เขตสัมพันธวงศ์

รองปลัด กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้เข้มงวดตรวจสุขลักษณะของสถานประกอบการ ที่จำหน่ายสัตว์ปีกในเรื่องของความสะอาดของสถานที่ อุปกรณ์ การวางสินค้าที่รอการจำหน่าย การจัดเก็บ ความสะอาดของรางระบายน้ำ และถังรองรับมูลฝอย รวมทั้งสุขวิทยาส่วนบุคคลของผู้จำหน่ายสัตว์ปีก ซึ่งปกติ กทม. มีการตรวจเฝ้าระวังทั่วกรุงเทพฯ เป็นประจำอยู่แล้ว และในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ ซึ่งมีประชาชนซื้อเป็ด ไก่ ประกอบพิธีไหว้เจ้าและบริโภคจำนวนมาก จึงได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังไข้หวัดนกและตรวจสถานที่จำหน่ายอาหารอย่างเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เขต และสำนักอนามัยลงพื้นตรวจอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดรถตรวจสอบคุณภาพอาหารเคลื่อนที่ เก็บตัวอย่างอาหารในตลาดเพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนสารเคมีในอาหาร เช่น สารฟอร์มาลีน บอแรกซ์ สารฟอกขาว สารกันรา และจุลินทรีย์ในอาหาร เพื่อสร้างความมั่นใจและคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคอีกด้วย

นอกจากนี้ กทม. ยังมีมาตรการเฝ้าระวังโรคระบาดในสถานประกอบการฆ่าสัตว์ ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีสถานที่ประกอบการฆ่าและชำแหละสัตว์ปีก จำนวน 39 แห่ง โดยจะมีสัตวแพทย์ลงพื้นที่ตรวจเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ก่อนมีการฆ่า และมีการกวดขันให้สถานประกอบการฆ่าสัตว์ดำเนินการตามคำแนะนำด้านสุขลักษณะ ในการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทการฆ่าสัตว์ปีก เช่น ปรับปรุงพื้นที่สถานประกอบการไม่ให้มีรอยแตก ชำรุด เพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด การแบ่งพื้นที่ประกอบการเป็นสัดส่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อน ไม่นำไก่ที่มีลักษณะผิดปกติมาชำแหละ ทำความสะอาดสถานที่อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งไม่ไปประกอบการบนพื้นของสถานประกอบการ อีกทั้งพนักงานต้องสวมอุปกรณ์ป้องกัน ได้แก่ ผ้าปิดปาก ผ้ากันเปื้อน ถุงมือ รองเท้าบูท เพื่อป้องกันตนจากโรคไข้หวัดนกและเชื้อโรคต่างๆ

ทั้งนี้ ประชาชนควรบริโภคเนื้อสัตว์ปีกที่ปรุงสุกเท่านั้น และเลือกเป็ด ไก่ ที่ไม่มีสีคล้ำ ไม่มีจุดจ้ำหรือเลือดออก เลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วย หรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ หากต้องสัมผัสกับสัตว์ปีกให้สวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ และล้างมือทุกครั้งหลังการสัมผัสสัตว์ปีก หากมีอาการเป็นไข้ ไอ โดยเฉพาะผู้มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ ฆ่า ขนส่ง ขนย้าย และขายสัตว์ปีก หรือผู้เกี่ยวข้องกับสัตว์ปีกให้รีบพบแพทย์ทันที

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

 

Shares:
QR Code :
QR Code