กฐินหมวกกันน็อก
นับแต่มีกฎหมายบังคับใช้ให้ผู้ขับและผู้นั่งด้านหน้ารถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย กับผู้ขับขี่จักรยานยนต์และผู้ซ้อนท้ายต้องสวมหมวกนิรภัย ปรากฏว่าผู้ขับรถยนต์และผู้นั่งด้านหน้าปฏิบัติตามกฎหมายมากกว่า
อาจด้วยเหตุผลบางประการที่ไม่เหมือนกัน คือการคาดเข็มขัดนิรภัยทำง่ายกว่าสวมหมวก ทั้งหากไม่คาดเข็มขัดรถยนต์บางรุ่นจะมีเสียงหรือ ไฟเตือน แต่การสวมหมวก กันน็อกไม่มีสัญญาณเตือน
มูลนิธิไทยโรดส์สำรวจข้อมูลเมื่อ พ.ศ.2554 พบว่า มีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกกันน็อกมากถึงร้อยละ 54 และชมรมคนห่วงหัวในมูลนิธิเมาไม่ขับ พบว่าเด็กที่ผู้ปกครองปล่อยให้ใช้จักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวก กันน็อกร้อยละ 93 ด้วยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุขจึง พบว่าในแต่ละปีเด็กไทยหัวถูกน็อกพื้นจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ 5,000 ราย
นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการชมรมคนห่วงหัว ให้ความเห็นว่า พ่อแม่จะทะนุถนอมและเลี้ยงดูลูกตั้งแต่เป็นเด็กเล็กอยู่อย่างดี พาไปรับวัคซีนป้องกันโรคร้ายครบถ้วน เมื่อเด็กโตขึ้นรัฐมีสวัสดิการด้านการศึกษาให้เด็กเรียนฟรี ถึงขั้นแจกแท็บเล็ตให้เด็กประถมศึกษาปีที่ 1
แต่ทราบไหมว่าขณะนี้มีเด็กไม่น้อยตกอยู่ในภาวะเสี่ยงหัวน็อกพื้นจากการเดินทางโดยจักรยานยนต์ เพราะพ่อแม่เองมิได้คาดการณ์ว่าจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับบุตรหลานของตน หากเกิดขึ้นก็คิดว่าเป็นเวรกรรม หรือโชคชะตา จึงไม่คิดจะป้องกัน ทั้งที่หมวกกันน็อกช่วยลดการบาดเจ็บทางสมองได้ถึงร้อยละ 67
ชมรมคนห่วงหัวมีการรณรงค์ให้ผู้ขับขี่และซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์โดยเฉพาะเด็กสวมหมวกกันน็อกมาสองสามครั้งแล้ว ครั้งนี้จึงร่วมกับสำนักพุทธศาสนา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือให้เด็กมีหมวกกันน็อกสวมใส่มากขึ้น ผ่านการทำบุญ เชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนทำบุญแนวใหม่ ถวาย “สังฆทานหมวก” ให้หมวกกันน็อกเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยวัตถุเพื่อให้สงฆ์นำไปมอบแก่เด็กที่มีความต้องการต่อไป
ที่สำคัญ ตำรวจต้องเข้มงวดกับการไม่สวมหมวกกันน็อกทั้งกับผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายด้วยวิธีการใดก็ได้ เพื่อให้เด็กไทยของเรามีนิสัยสวมหมวกกันน็อก ก่อนที่หัวจะน็อกพื้น
ที่มา : ปันสุข