“กฐินปลอดเหล้า” ประเพณีดีงามของชาวพุทธ
โดย…จิระพงค์ เต็มเปี่ยม
ปีนี้ผมได้รับซองบุญกฐิน หลายวัด ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ก็แชร์ต่อให้พรรคพวกเพื่อนฝูงร่วม สมทบคนละเล็กละน้อยตามแต่ศรัทธา แล้วส่งไปให้ต้นสังกัดองค์กฐินนั้น ขณะเดียวกันผมยังได้เดินทางไปร่วมทอดกฐินในบางวัดอันถือเป็นประเพณีที่ดีงามของชาวพุทธ
มีบทความในใจจากสำนักงาน เครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เกี่ยวกับ กฐิน ส่งมาให้ผมจะย่อๆ เพื่อเป็นประโยชน์ แก่ชาวพุทธร่วมกันว่า วัฒนธรรมไทยหลังออกพรรษา ไปแล้วก็จะมีงานบุญประเพณีที่เรียกว่า "ทอดกฐิน" ขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศ และเพื่อความต่อเนื่องในการงดดื่มเครื่องดองของมึนเมาในเทศกาลบุญกฐินปลอดเหล้า คงต้องอาศัยความร่วมมือทั้งเจ้าภาพกฐิน เจ้าอาวาส คนร่วมบุญกฐิน ชุมชน และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ให้งานบุญกฐิน เป็นงานที่ปลอดเหล้าแท้จริง เกิดกิจกรรมปลุกกระแสให้สังคมตระหนักถึงปัญหาโทษและพิษภัยที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง
หากงานบุญกฐินมีการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาอยู่ในงาน แล้วละก็ คนที่มาทำบุญอาจจะได้บาป ซึ่งไม่ต่างจาก "กฐินเมา คือ กฐินบาป" เพราะต้องไม่ลืมว่าจำนวน นักดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยิ่งมาก เท่าไหร่ ย่อมส่งผลเสียต่อสังคมสร้างปัญหาในหลายมิติ ทั้งด้านสาธารณสุข สังคม ความรุนแรง อาชญากรรม และเศรษฐกิจมากขึ้น เป็นเงาตามตัว
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) อธิบายว่า งานกฐินปลอดเหล้า ถือเป็นบทบาทที่เราทำร่วมกับสสส. มาอย่างต่อเนื่องทุกปี เพราะต้องการรณรงค์ลดละเลิกเหล้าในงานบุญประเพณี และขณะนี้ประชาชน คนทั่วไปเริ่มเดินสายทำบุญตั้งกอง กฐิน นำไปทอดตามวัดเพื่อสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมที่มีมายาวนาน และสคล.เองนอกจากการรณรงค์ในเรื่องนี้โดยเริ่มจากภาคีเครือข่ายงดเหล้าในแต่ละจังหวัดคอยช่วยเป็นแรงหนุนสำคัญ สร้างการรับรู้ ควบคู่กันไปในหลายๆ ด้าน
ทั้งมาตรการทางสังคม การ กระตุ้นให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย เพราะต้องไม่ลืมว่าสถานที่ทอดกฐินเป็นบริเวณวัด ซึ่งหากมีการจำหน่ายหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถือว่า มีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ตามมาตรา 27 และ 31 เพราะวัดหรือสถานที่ สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา เป็นเขตห้ามดื่มและซื้อขายเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่กฎหมายห้ามดื่มเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์บนรถขณะอยู่บนทาง ก็มี ผลบังคับใช้แล้วเช่นกัน การกินดื่มเมา กันบนรถโดยอ้างว่าเป็นการฉลองกฐิน นั้น ไม่สามารถทำได้เพราะมีบทลงโทษ เช่นเดียวกับการขายหรือดื่มในวัด
แรงสำคัญของงานกฐินปลอดเหล้า จะสำเร็จได้ต้องอาศัยประชาชน ที่เห็นถึงความสำคัญ เห็นถึงปัญหาและคอยช่วยเฝ้าระวัง สร้างการรับรู้ นำไปสู่การแก้ไข โดยเครือข่ายงดเหล้า พร้อมที่จะขยายแนวร่วมไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และขณะนี้ พื้นที่กฐินปลอดเหล้ามีเพิ่มขึ้นและ ครอบคลุมในหลายจังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ลำปาง น่าน แพร่ เชียงใหม่ ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนปรับเปลี่ยนค่านิยมการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในงาน บุญประเพณีต่างๆ
ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความ สิ้นเปลืองในการจัดงานแต่ละครั้งแล้ว ยังช่วยลดปัญหาที่จะตามมา เช่น ปัญหาหนี้สิน สุขภาพทรุดโทรม ปัญหาครอบครัว การก่ออาชญากรรม อุบัติเหตุและการเสียชีวิต เราพบว่า เมื่อจัดงานกฐินหรือผ้าป่าปลอดเหล้า จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเหล้า ลง 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือ ประมาณ 1-3 หมื่นบาทต่องาน ซึ่งเงินเหล่านี้ควรเป็นเงินถวายวัด ทำให้เกิดบุญ ไม่ควรเสียไปให้ธุรกิจ น้ำเมา และได้บาปแทน
งานบุญกฐินปลอดเหล้าจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่ ประเพณีอื่นๆ ที่เป็นงานสร้างสุข สร้างความปลอดภัยได้อย่างแท้จริง
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพจากแฟ้มภาพ