กฎหมายคุมโฆษณาเหล้าใช่ทางออกจริงหรือ??
“ไม่ว่าจะวันไหน เทศกาลใดคนไทยก็เมา” ถึงแม้ว่าหน่วยงานต่างๆ จะออกมารณรงค์ให้คนไทย “ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” อย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่จำนวนผู้ดื่มก็ยังคงไม่ลดลงแถมยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ สวนทางกับอายุของคนเราที่นับวันกลับน้อยลง น้อยลงทุกวัน…ซึ่งเหตุที่ยังคงเป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบรรดาธุรกิจน้ำเมาหัวใสจ้องแต่จะหากำไรจากช่องโหว่ทางกฎหมายไทยนั่นเอง
กลยุทธ์รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ เรียงคิวกันออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่ม “ยอดขาย” ให้กับสินค้า ถึงแม้บางวิธีจะผิดกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อมองถึงผลที่ตอบรับกลับมา “คุ้มค่า” พอที่จะให้ธุรกิจเหล่านี้เดินหน้าสร้างแบรนด์ให้กับสินค้าของตนต่ออย่างไม่ลืมหูลืมตา เห็นได้จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 52 ที่พบว่า มีผู้ร้องเรียนถึงการกระทำผิด พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของบริษัทน้ำเมา โดยพบจากหนังสือพิมพ์สูงถึง 2,308 ครั้ง นิตยสารจำนวน 1,179 ครั้งและอินเทอร์เน็ตจำนวน 5,729 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นการกระทำผิดด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพราะที่ผ่านมา ยังมีการทำโฆษณาทั้งรูปแบบการจัดคอนเสิร์ต กีฬา หรือกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งมีการตั้งบูธ โดยธุรกิจน้ำเมาให้การสนับสนุน เพียงเพื่อหวังสร้างภาพลักษณ์และผลกำไรเท่านั้น บางแห่งในงานมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมอยู่ด้วย ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย โดยที่ผู้จัดงานไม่เคยรับผิดชอบกับปัญหาที่ตามมาเลย
นี่ยังไม่รวมถึงสื่อใหม่ๆ อย่าง Face book, twitter ที่มีการสร้างแบรนด์ของสินค้ากันอย่างโจ่งครึ่มผ่านอินเตอร์เน็ท อาศัยช่องว่างทางกฎหมายโฆษณาแบรนด์ของตนต่อไป หากยังคงปล่อยปัญหาไว้เช่นนี้ ผลกระทบหนักที่จะเกิดขึ้นคงหนีไม่พ้น “เยาวชน” อีกเช่นเคย ต้องเดินเรียงคิวสมัครเป็นนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน
เมื่อการโฆษณามีอิทธิพลกับผู้บริโภคมากขนาดนี้ หากยังปล่อยปละละเลยไม่มีการควบคุมคง “ไม่ได้” แล้วเป็นแน่ …หลังจากมีการผลักดันกฎหมายลูกเรื่องการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ล่าสุด ก็เห็นผล เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ตั้งกฎกระทรวงว่าด้วยการ “กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการแสดงภาพสัญลักษณ์เพื่อประกอบการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. …” โดยสรุปใจความได้ว่า
บริษัทเหล้าเบียร์สามารถใช้สัญลักษณ์หรือโลโก้ได้ สำหรับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในเชิงสร้างสรรค์สังคมได้ แต่ต้องไม่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือคุณภาพของเครื่องดื่มและไม่สามารถใช้ภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ได้
สำหรับการใช้โลโก้ในการโฆษณาผ่านสื่อทีวี วิดีโอ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ นั้น กำหนดว่าภาพ
โลโก้จะต้องมีขนาดไม่เกิน 5% ของพื้นที่โฆษณาทั้งหมด และให้แสดงโลโก้ได้ไม่เกิน 5% ของเวลาโฆษณาทั้งหมดแต่ต้องไม่เกิน 2 วินาที ส่วนเวลาในการออกอากาศนั้น สามารถโฆษณาได้ตั้งแต่ 4 ทุ่มไปจนถึงตี 5 โดยโลโก้ในการโฆษณาจะทำได้เฉพาะช่วงท้ายโฆษณาเท่านั้น
ส่วนในกรณีของสื่อสิ่งพิมพ์ การใช้โลโก้ในการโฆษณาต้องมีขนาดไม่เกิน 5% ของพื้นที่โฆษณาทั้งหมด และห้ามโฆษณาที่ปกหน้า ปกหลัง คู่หน้ากลาง หรือสิ่งที่ห่อหุ้มสื่อสิ่งพิมพ์ดังกล่าว หากเป็นสื่ออื่นที่นอกจากสื่อดังกล่าว ร่างกฎกระทรวงระบุว่าต้องมีขนาดไม่เกิน 3% ของพื้นที่โฆษณาในสื่อนั้น ๆ
สำหรับกรณีของภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านค้าปลีกนั้น ไม่สามารถโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในทุกกรณี เนื่องจากกฎหมายอนุญาตให้โฆษณาได้เฉพาะบริษัทผู้ผลิตเท่านั้น
เมื่อมีกฎหมายออกมาถึงขนาดนี้แล้ว … อย่างน้อยๆ ก็คงทำให้สังคมเบาใจลงได้บ้างว่าจะสามารถควบคุมจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ลงได้ไม่มากก็น้อย อีกทั้งทุกช่วงเทศกาลเมื่อเราเปิดรับฟังข่าวสารจำนวนความสูญเสียที่มี “แอลกอฮอล์” เป็นต้นเหตุคงลดลงตามไปด้วย
แต่ถึงอย่างไร…ต่อให้ภาครัฐออกกฎหมายมาควบคุมอีกกี่ฉบับก็ตาม หากบรรดาธุรกิจน้ำเมาทั้งหลาย ต่างก็ยังคงคิดถึงแต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหลัก ไม่มีจิตสำนึกต่อสังคม พยายามหาช่องทางใหม่ๆ มาเพื่อหลอกล่อให้คนหันไปเป็นทาสของน้ำเมาอยู่เช่นเคยแล้วล่ะก็…ปัญหาก็คงจะเกิดขึ้นซ้ำๆ ให้ตามแก้กันไม่รู้จักจบสิ้นเป็นแน่
ที่มา: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th
Update:05-04-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่