WHO แนะกินเจปีนี้ ลดหวาน มัน เค็ม ลดโรค

ที่มา : ไทยโพสต์

แฟ้มภาพ

                    WHO แจงตัวเลขประชากรทั่วโลกจำนวนกว่า 3 ล้านคน เสียชีวิตจากการบริโภคโซเดียมที่มากเกินจำเป็น สสส.-เครือข่าย ลดบริโภคเค็ม-WHO หนุน 4 มาตรการ “ลดการบริโภคเกลือโซเดียม” ดึงผู้ประกอบการปรับสูตรอาหาร-กำหนดนโยบายจัดซื้ออาหารอ่อนเค็มในองค์กร-ติดฉลากคำเตือน/สัญลักษณ์สี-สื่อสารสร้างความตระหนักรู้ ช่วยคนไทยปรับพฤติกรรมการกิน มุ่งเป้าลดกินเค็มลง 30% ลดเสี่ยงป่วย-ตายจากโรค NCDs ภายในปี 2568 มหาวิทยาลัยมหิดลผลิตเครื่องวัดความเค็มในอาหารแบบพกพา แผนเก็บภาษีความเค็มมีผลอีก 3 ปีข้างหน้า

                    โซเดียมเป็นเกลือแร่ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ แต่มีความจำเป็นต่อร่างกายในการควบคุมความสมดุลเป็น กรด-ด่างและของเหลวในร่างกาย ช่วยรักษาความดันเลือดให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยในการทำงานของประสาท และกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ช่วยกระตุ้นให้เกิดการดูดซึมอาหารผ่านทางลำไส้เล็กและไต ช่วยให้แคลเซียมและธาตุบางชนิดสามารถละลายในเลือดได้ สิ่งที่พึงระวังก็คือ ถ้าบริโภคโซเดียมมากเกินไปกลับมีผลเสียต่อสุขภาพ เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคอัมพาต ส่งผลให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

                    ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2565 ว่าการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ลดการบริโภคเกลือโซเดียม” ในเมืองไทย เป็นภารกิจสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคโซเดียมในปริมาณมากเกินไป ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายหนา เกิดการสะสมพังผืดในกล้ามเนื้อหัวใจ ไต หลอดเลือด ซึ่งเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

                    โดยจากข้อมูลผลสำรวจปริมาณการบริโภคเกลือโซเดียมของคนไทยในปี 2563 พบว่า มีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 3,636 มก./วัน ซึ่งเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำเกือบ 2 เท่า สสส.ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข WHO และภาคี เครือข่าย เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ลดการบริโภคเกลือโซเดียม” ในประเทศไทย มุ่งเป้าปรับลดพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมของคนไทยลง 30% ภายในปี 2568 หรือบริโภคไม่เกิน 700-800 มก./มื้ออาหาร เพื่อช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้ถึง 20% รวมทั้งยังช่วยลดอัตราการตายจากโรคดังกล่าวได้ 5-7%

                    “สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย ดำเนินการรณรงค์ขับเคลื่อนสังคมลดการบริโภคเค็ม พัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ จัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น 1.ผลักดันให้เกิดมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรค NCDs 2.สนับสนุนการจัดทำยุทธศาสตร์การลดการบริโภค เกลือและโซเดียมในไทย ปี 2559-2568 3.พัฒนาสารทดแทนความเค็ม 4.พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารลดโซเดียม 5.นวัตกรรมเครื่อง ตรวจวัดความเค็มในอาหาร (CHEM Meter) 6.ระบบฐานข้อมูล โซเดียมในวัตถุดิบอาหาร-เครื่องปรุงรสในอาหารประจำภูมิภาคและอาหารแปรรูป 7.ขับเคลื่อนมาตรการภาษีโซเดียม เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร 8.สื่อสารรณรงค์แคมเปญลดเค็ม ลดโรค และลดเค็มครึ่งหนึ่ง คนไทยห่างไกลโรค ทำให้ประชาชน เกิดความรู้ความเข้าใจในวงกว้าง” ทพญ.จันทนากล่าว

                    ขณะนี้มหาวิทยาลัยมหิดลผลิตเครื่องวัดความเค็มในอาหารแบบพกพา เพียงจุ่มเครื่องมือลงไปในอาหารซึ่งเป็นของเหลว ก็จะรู้ค่าความเค็มที่เหมาะสมกับการบริโภคตามคำแนะนำของแพทย์ ขณะนี้คนสหรัฐฯ ลดบริโภคเกลือวันละ 3 กรัม ช่วยปรับลดค่ารักษาพยาบาล 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์/ปี การรณรงค์ลดการบริโภคโซเดียมในประชาชนที่มีรายได้ต่ำ รายได้ปานกลาง จะลดโซเดียมป้องกันการเสียชีวิต 14 ล้านคนใน 10 ปี ด้วยเงินลงทุนเพียง 13 บาท ถ้าคนไทยช่วยกันลดความเค็มวันละนิด ลิ้นเราจะเคยชินปรับได้ตามที่หมอให้คำแนะนำ

                    ในช่วงเทศกาลอาหารเจ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 26 ก.ย.-4 ต.ค. เป็นที่ทราบกันดีว่าอาหารเจมีรสเค็มและมัน ขณะนี้ได้ส่งทีม นักวิชาการด้านโภชนาการ สสส.รณรงค์วางแผนให้คำแนะนำกับ ผู้จำหน่ายและผู้บริโภคให้ลดความมัน ความเค็มเพื่อสุขภาพที่ดี เราไม่สามารถออกกฎข้อบังคับได้

                    พญ.โอลิเวียร์ ไนเวรัส ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประชากรทั่วโลกจำนวนกว่า 3 ล้านคน เสียชีวิต จากการบริโภคโซเดียมที่มากเกินจำเป็น ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3,600-4,800 มก./วัน WHO จึงได้ประกาศเป้าหมายลดการบริโภคโซเดียมทั่วโลกลงให้ได้ 30% ภายในปี 2568 พร้อมทั้งแนะนำให้ประชากรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,300 มก./วัน โดยเสนอมาตรการ “ลดการบริโภคเกลือโซเดียม” สำหรับผู้ประกอบการในไทย 4 ข้อ ที่จะช่วยลดบริโภคโซเดียมอย่างมีประสิทธิภาพ 1.ต้องปรับสูตรอาหาร กำหนดและตั้งเป้าหมายการลดปริมาณโซเดียมแบบบังคับ พร้อมพัฒนาเมนูลดโซเดียมในร้านอาหาร และใช้มาตรการทางการเงินจากภาครัฐ 2.นโยบายการจัดซื้ออาหารโซเดียมต่ำในองค์กร 3.ติดฉลากคำเตือนหน้าบรรจุภัณฑ์ ระบุปริมาณโซเดียมโดยสัญลักษณ์สี 4.สื่อสารรณรงค์เพื่อลดการบริโภคโซเดียม

                    รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า แนวโน้มของผู้ประกอบการด้านอาหารในประเทศไทยมีความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลสำรวจเกณฑ์ปริมาณโซเดียมสูงสุดในผลิตภัณฑ์อาหารและลักษณะทั่วไปของอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่จำหน่ายในไทย ปี 2561-2564 พบแนวโน้ม มีปริมาณโซเดียมลดลง 11.6% ในอาหารประเภทข้าวต้ม โจ๊ก บะหมี่ที่บรรจุแบบถ้วย ที่สำคัญยังพบว่ามีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพของ สสส.เพิ่มขึ้น จาก 4.5% เป็น 21.1% ในปี 2565 นี้ เครือข่ายฯ ได้ร่วมกับ สสส. ริเริ่มโครงการลดเค็มเลือกได้ เร่งขยายความร่วมมือกลุ่มผู้ประกอบการ และพัฒนาเมนูอาหารลดโซเดียม สนใจรายละเอียดติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.lowsaltthai.com

                    ขณะนี้ผู้ประกอบการบะหมี่สำเร็จรูปภายในประเทศลดปริมาณโซเดียม 2% ส่งผลให้ยอดขายดีขึ้นเป็นเรื่อง win-win ด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่บะหมี่นำเข้าจากญี่ปุ่น เกาหลี จีน ยังไม่ได้ลดโซเดียม ดังนั้นขอให้ช่วยกันบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศที่มีโซเดียมต่ำ ขณะเดียวกันก็รณรงค์ให้ลดปริมาณโซเดียมในอาหารแช่เย็น แช่แข็ง ขนมกรุบกรอบ โจ๊กซอง ในกรณีที่ผู้ผลิตไม่ได้ลดจำนวนโซเดียมภายในซองดังที่ฉลากกำกับระบุไว้นั้นเป็นเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะต้องเข้าไปสำรวจตรวจสอบ ส่วนความผิดนั้นต้องดูข้อกฎหมายในการลงโทษ

                    ขณะนี้ อ.ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ เชฟกูรูสอนด้านการทำอาหาร ได้สอนวิธีการปรับสูตรอาหารลดโซเดียมให้ภัตตาคาร ร้านค้าอาหารไทย จีนตามสั่งกว่า 60 ร้านค้า ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคเป็นการสนับสนุนให้ทำอาหารที่ดีเพื่อสุขภาพ ได้รับตราสัญลักษณ์สุขภาพ  ต่อไปจะขยายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ด้วย

                    ส่วนการเก็บภาษีความเค็มนั้น ยังไม่มีผลบังคับใช้ในวันนี้ แต่จะมีผลต้นปีหน้า และส่งผลให้มีการเก็บภาษีในอีก 3 ปีข้างหน้า หากปรับเพิ่มภาษีในจังหวะนี้ จะกระทบกระเทือนต่อผู้บริโภคที่ต้องรับภาระเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การปรับสูตรลดโซเดียมไม่ได้ใช้ในเครื่องปรุงรส เพราะ อย.ยังไม่ได้ออกกฎหมายควบคุมแต่อย่างใด แต่ภาษีจะมีผลบังคับใช้กับเครื่องปรุงอาหารที่มีฉลากพร้อมบริโภคที่ขายในร้านสะดวกซื้อ ไม่ใช่ตามร้านอาหารริมทาง อาหารตามสั่ง หรือภัตตาคารแต่อย่างใด

                    การเลือกเก็บภาษีโซเดียมขณะนี้ได้มีการหารือกับกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ด้วยข้อมูลคำแนะนำจาก WHO ในการ ลดปริมาณโซเดียมในบะหมี่สำเร็จรูป โจ๊ก อาหารแช่เย็น แช่แข็ง อย่างไรก็ตามขณะนี้ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือลดปริมาณโซเดียมลงจากเดิมแล้ว

                    อนึ่ง ผลการศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เครือข่ายลดบริโภคเค็ม พบว่า ค่ามัธยฐานปริมาณโซเดียมในอาหารกึ่งสำเร็จรูปในปี 2564 เท่ากับ 1750.0 มิลลิกรัม/100 กรัม มีแนวโน้มลดลงร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับปี 2561 ประเภทข้าวต้มหรือโจ๊ก เส้นชนิดบะหมี่ ภาชนะบรรจุแบบถ้วย และอาหารที่ผลิตในประเทศไทยและจีน ส่วนค่ามัธยฐานปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์เดียวกันในปี 2561 และ 2564 ไม่เปลี่ยนแปลง มี 19 รายการที่ปรับสูตรปริมาณโซเดียมลดลง และสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เป็นร้อยละ 21.1 ในปี 2561 และปี 2564 ทั้งในประเภทบะหมี่และข้าวต้มหรือโจ๊ก รวมถึงอาหารที่ผลิตในประเทศไทย

Shares:
QR Code :
QR Code