UN และ WHO ประเทศไทย แถลงการณ์คัดค้านบุหรี่ไฟฟ้า

ที่มาและภาพประกอบ : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่


UN และ WHO ประเทศไทย แถลงการณ์คัดค้านบุหรี่ไฟฟ้า thaihealth


องค์กรระหว่างประเทศ ร่วมสนับสนุนมาตรการห้ามจำหน่าย-นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ผู้แทน UN ประจำประเทศไทย ส่งจม. ถึงนายกฯ แสดงความยินดีรัฐบาลไทยคุมยาสูบสำเร็จ พร้อมหนุนมาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้า ด้าน WHO ประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์เตือนอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าของไทย


นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ได้ส่งจดหมายถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยจดหมายระบุใจความสำคัญใจคือ หน่วยงานสหประชาชาติในประเทศไทยขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของรัฐบาลไทยในการควบคุมการบริโภคยาสูบ และขอสนับสนุนรัฐบาลไทยในการห้ามจำหน่ายและนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากนโยบายนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะปกป้องประชาชนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกป้องเยาวชนจากอันตรายของการสูบบุหรี่ทุกชนิด อีกทั้งยังเป็นเป็นไปตามบทบัญญัติของกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบที่ประเทศไทยได้ร่วมเป็นภาคีอยู่ด้วย


“หน่วยงานสหประชาชาติในประเทศไทยให้คำมั่นสัญญาที่จะสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ในการควบคุมการสูบบุหรี่ทุกประเภท และปกป้องประชาชนคนรุ่นปัจจุบัน และเยาวชนคนรุ่นใหม่จากพิษภัยของการสูบบุหรี่ และโรคไม่ติดต่ออื่น ๆ” คุณเรอโน กล่าว


UN และ WHO ประเทศไทย แถลงการณ์คัดค้านบุหรี่ไฟฟ้า thaihealth


ขณะที่ แพทย์หญิงเรณู การ์ก รักษาการผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า การสูบบุหรี่ทุกชนิดคร่าชีวิตคนไทยกว่า 70,000 คนต่อปี และก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าถึง 9.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.65 ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) การสูญเสียชีวิตและมูลค่าทางเศรษฐกิจเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ จากนโยบายที่มีความก้าวหน้าและเข้มแข็งของรัฐบาลไทย อัตราการสูบบุหรี่โดยรวมของประชากรไทยจึงลดลงในช่วงปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ากังวลว่าอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กนักเรียนไทย (อายุ 13-15 ปี) กลับเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 3.3 ในปี 2558 เป็น ร้อยละ 8.1 ในปี 2564 บุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยต่อความพยายามในการควบคุมการบริโภคยาสูบของไทย และลดทอนความสำเร็จที่สร้างมาในช่วงหลายทศวรรษ


“ผลการศึกษาหลายฉบับบ่งชี้ว่าบุหรี่ไฟฟ้า อันตรายต่อสุขภาพและไม่ปลอดภัย ถึงแม้ว่าผลกระทบในระยะยาวของบุหรี่ไฟฟ้าจะยังอยู่ในระหว่างการศึกษา แต่ก็มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นที่แสดงให้เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้นอันตราย บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เยาวชนเสี่ยงที่จะเสพติดนิโคตินไปตลอดชีวิต และกลายไปเป็นผู้ที่สูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและธรรดาไปพร้อมกัน ดังนั้น แต่ละประเทศจึงควรบังคับใช้นโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างครอบคลุมและสนับสนุนด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อลดการเสพติดนิโคตินและการการบริโภคยาสูบของประชาชนตามบทบัญญัติของกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบ” แพทย์หญิงเรณู กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code