05 ก.พ. 62 8,905 ครั้ง ที่มา : : กรมการแพทย์ แพทย์ เผยภาพผู้ป่วยเลือดกำเดาไหลและเยื่อบุตาอักเสบ จาก PM 2.5 ไม่ได้พบกับคนทั่วไปอาจเกิดได้กับผู้ที่เป็นภูมิแพ้ แพทย์ เผยภาพผู้ป่วยเลือดกำเดาไหลและเยื่อบุตาอักเสบจากผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ไม่ได้เกิดขึ้นกับบุคคลทั่วไป อาจเกิดได้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรังแนะกลุ่มเสี่ยงหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง ช่วยลดผลกระทบจาก PM 2.5 วันนี้ (4 กุมภาพันธ์ 2562) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีการนำเสนอภาพข่าวพบผู้ป่วยมีอาการเลือดกำเดาไหลและเยื่อบุตาอักเสบมีเลือดออกในตา และให้ข้อมูลว่าเป็นผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 นั้น ขอเรียนว่าอาการดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นกับบุคคลทั่วไป แต่อาจเกิดได้กับกลุ่มเสี่ยง โดยข้อมูลวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาให้ข้อมูลไว้ว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กPM 2.5 ที่พบในปริมาณมากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกับประชาชนในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคภูมิแพ้ หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ที่ผ่านมามีการศึกษาในต่างประเทศที่ยืนยันว่ามีอุบัติการณ์ของโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นจริง ทั้งภูมิแพ้จมูกอักเสบกำเริบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ หอบหืดกำเริบ โรคถุงลมโป่งพองกำเริบเฉียบพลัน ดังนั้น ในช่วงที่มีปัญหามลพิษผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีความไวต่อการเกิดโรค (Hypersensitive) เมื่อสัมผัสกับฝุ่นก็จะไปกระตุ้นให้โรคกำเริบได้ ส่งผลให้เกิดการอักเสบมากขึ้นและทำให้เลือดฝอยบริเวณจมูกมีการอักเสบแตกง่าย อย่างไรก็ตาม อาการเลือดกำเดาไหลและเลือดออกในเยื่อบุตา ยังมีเหตุอีกหลายปัจจัยที่ไม่ได้มาจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร และกรมควบคุมมลพิษอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ สื่อสารแจ้งเตือนประชาชน พร้อมให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนผ่านทุกช่องทางสื่อ ทั้งสื่อหลักและสื่อโซเชียล จัดทำแนวทางการดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยงและจัดทีมปฏิบัติการลงพื้นที่ พร้อมทั้งจัดตั้ง “คลินิกมลพิษ” ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ เน้นการทำงานด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ประเมินสถานการณ์มลภาวะ ประเมินจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคจากมลภาวะทางอากาศ ใช้เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ในการออกมาตรการ เพื่อลดการเจ็บป่วย ของประชาชน ควบคู่กับการรักษา ดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับการรักษาและกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ขอให้ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงดูแลตนเองเบื้องต้นโดยรับประทานยาที่รักษาโรคประจำตัวอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงกิจกรรมในที่กลางแจ้ง ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกไปอยู่ในที่กลางแจ้ง และรีบกลับเข้าในอาคารทันทีเมื่อเสร็จธุระ เตรียมยาฉุกเฉินเช่น ยาพ่นขยายหลอดลมไว้ติดตัวตลอดเวลาหากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
21 ก.พ. 57 9,949 ครั้ง รายงานผู้ป่วยโรคตาแดงกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 35-44 ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ พัทลุง ปัตตานี นราธิวาส ปราจีนบุรี และ สงขลา