Spark U เชียงใหม่ เปลี่ยน ‘พัง’ ให้เป็น ‘ปัง’
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
เพื่อเมืองในฝัน เปลี่ยนการต่อสู้แสนโดดเดี่ยวให้ทุกคนมีเอี่ยวกับการพัฒนาเมือง เหมือนเป็นเหรียญสองด้าน เชียงใหม่คือเมืองที่หลายคนหลงใหล ในขณะที่อีกหลายคนหน่ายหนี เพราะความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวของศูนย์กลางภาคเหนือ
จังหวัดนี้มีความเสื่อมโทรมและถดถอยมาคู่กันเป็นแพ็คเกจ แต่ใช่ว่าเชียงใหม่จะถูกเทให้โซซัดโซเซเพียงลำพัง ยังมีคนหลายกลุ่มพยายามผายปอด ปั๊มหัวใจ ทำ CPR ด้วยหวังว่าเชียงใหม่จะกลับมาไฉไลเหมือนเดิม (หรือกว่าเดิม)
และด้วยความที่เชียงใหม่มีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นปัญหาของเมืองเป็นไม่ได้ ต้องออกโรงมาจัดการกับปัญหานั้น เช่น ต้นไม้ในเมืองเชียงใหม่น้อยลงก็เกิดโครงการเขียว สวย หอม, คนเชียงใหม่อ่านหนังสือน้อยลง ก็เกิดโครงการเชียงใหม่อ่าน หรือศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่เริ่มสูญหาย ก็เกิดโครงการสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เป็นต้น เรียกว่าทุกปัญหามีคนเห็นและเข้าไปจัดการ เหมือนว่าจะดี แต่ยังดีไม่สุด เพราะการลงแรงแบบต่างคนต่างทำ จึงเกิดพลังแบบกระปริดกระปรอย
เห็นท่าว่าเชียงใหม่ในฝันที่แต่ละกลุ่มอยากเห็นจะเป็นแค่ฝันกลางวัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจับมือกับจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ ภาคีพันธมิตร และภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ จัดโครงการจุดประกายกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงเมืองเชียงใหม่ให้ดีขึ้น สนับสนุนโครงการสร้างสรรค์ที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งจุดประกายโครงการใหม่ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เชียงใหม่มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ในชื่อโครงการเท่ๆ ว่า Spark U เชียงใหม่ (ฟื้นใจเมือง : จุดประกายวิถีล้านนา)
ปลายปี 2559 คือจุดเริ่มต้นของประกายไฟสร้างสรรค์ หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและประชาชนในเชียงใหม่ฮอมความคิดกัน (ฮอม ภาษาเหนือแปลว่ารวมกัน ร่วมกัน) จนเกิดเป็น 'Spark U เชียงใหม่' ขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสรรค์ทั่วเมืองโดยคัดเลือกจากกิจกรรมเดิมและใหม่ เพื่อพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
"เราอยากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่ชัดเจน และมีกระบวนการคิดค้นสร้างสรรค์ให้คนลุกขึ้นมาดูแลบ้านดูแลเมืองร่วมกัน ในที่สุดก็ออกมาเป็น Spark U เชียงใหม่" ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานมูลนิธิสืบสานล้านนาและหนึ่งในคณะกรรมการ Spark U เชียงใหม่ กล่าว นอกจากนี้เขายังเล่าถึงเบื้องหลังว่าเดิมทีจะจัดเป็นงานอีเวนท์ จัดแล้วจบไปแต่ทบทวนแล้วงานอีเวนท์ทั้งเหนื่อยและไม่ค่อยได้ผล จึงมองหาว่าที่ไหนมีคน และในคนก็มีใจ เพื่อใช้ใจเหล่านั้นเป็นเชื้อไฟในการ 'จุดประกาย' จนเกิดเป็น 5 โครงการนำร่อง ได้แก่ ช่วยข่าด้วย ฟื้นฟูคลองแม่ข่าให้กลับมาใสสะอาด โดยรณรงค์ให้แต่ละครัวเรือนในเชียงใหม่ ช่วยกันแยกขยะ และติดตั้งถังดักไขมัน เพื่อบำบัดน้ำเสียตั้งแต่ต้นทาง ก่อนไหลลงสู่คลองแม่ข่ารวมทั้งสร้างกระแส #ช่วยข่าด้วย ผ่านโซเชียลมีเดีย และ Mascot 'ลูกข่า Luka' เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการให้รับรู้ในวงกว้าง
"คลองแม่ข่าเป็นชัยภูมิ 1 ใน 7 ประการของการตั้งเมืองเชียงใหม่ แต่มาถูกทุบทิ้งถูกทำให้กลายเป็นที่ระบายน้ำเสียของคนเมืองเชียงใหม่ ซึ่งก็มีความพยายามฟื้นฟูจากหน่วยงานต่างๆ มาตลอดช่วง 20 ปี แต่มันไม่เกิดการปฏิบัติการ หรือเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน" ชัชวาลย์บอก
อย่างกรณีติดตั้งถังดักไขมัน แบน แสนเมือง บรรณาธิการนิตยสาร Compass และคณะกรรมการ Spark U เชียงใหม่ อีกคน เล่าว่า ร้านอาหารแบรนด์ต่างประเทศทุกร้านมีถังดักไขมันเป็นส่วนหนึ่งของแผนผังร้าน แตกต่างกับร้านอาหารบ้านเรา ดังนั้นถ้าจะช่วยคลองแม่ข่า เขาจึงกระตุ้นร้านท้องถิ่นให้สนใจการดักไขมันก่อนปล่อยน้ำลงคูคลอง กระทั่งร้าน Local Brand หลายร้านจัดการเรื่องนี้เต็มระบบแล้ว
"ทุกคนมีส่วนทำให้คลองแม่ข่าเสีย น้ำควรจะถูกบำบัดตั้งแต่อยู่ในครัวเรือน ซึ่งถังดักไขมันนั้นอยู่ในเทศบัญญัติเลย ตอนอาข่าอาม่ายังไม่ติด เราก็แนะนำว่าจะเริ่มเป็นผู้นำไหม แล้ว Spark U ก็ไปหนุนเสริม ทำงานเป็นเบื้องหลังให้ด้วย"
เตวแอ่วเวียง ชวนคนเชียงใหม่ มาเดินเล่น ปั่นจักรยาน ชมเมือง และร่วมทำกิจกรรมสร้างสรรค์ภายในตัวเมืองเชียงใหม่ โดยใช้พื้นที่ในชุมชมดั้งเดิม และถนนในพื้นที่ เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสสัมผัสกับบรรยากาศแปลกใหม่และได้ทดลองใช้พื้นที่เพื่อการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน
แม้ว่าเชียงใหม่จะเป็นสังคมอุดมปัญหาไม่แพ้เมืองอื่นๆ แต่ด้วยความที่เชียงใหม่ก็มีดีเยอะมาก ทว่ายังถูกมองในภาพเดิมๆ ทั้งภาพการท่องเที่ยวและปัญหาเก่ามาเล่าใหม่ (เพราะแก้ไม่ได้สักที) การเกิดประกายไฟ Spark U ขึ้นที่นี่ทำให้สว่างจนมองเห็นว่าแท้จริงแล้ว เชียงใหม่เป็นสังคมอุดมปัญญา แต่ต้องหาจุดร่วมเท่านั้นเอง ประธานมูลนิธิสืบสานฯ คนเดิม บอกว่า เตวแอ่วเวียงก็เหมือนเปิดประตูบ้านให้คนข้างนอกได้สัมผัสสิ่งดีงามที่มีอยู่ แต่คนไม่มีโอกาสเจอ
บรรณาธิการ Compass เล่าให้ฟังว่า "โครงการนี้เกิดจากแนวคิดว่าคนเชียงใหม่ควรมีพื้นที่เดินเล่น เหมือนอย่างกินซ่า ประเทศญี่ปุ่น ที่มีวันปิดถนนทั้งสาย เมืองจะเงียบและมลพิษหายไป เราก็ลองทำดูสักครั้งหนึ่งปรากฏว่าได้ผล"
เหมืองฝายพญาคำ พลิกฟื้นความทรงจำ ศรัทธา และความร่วมไม้ร่วมมือของผู้คนต่อฝายพญาคำ เพื่อนำมาสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณค่า และความจำเป็นที่ต้องร่วมกันดูแลฝาย รวมไปถึงความสำคัญขององค์ความรู้ มรดกภูมิปัญญาการจัดการน้ำ ผ่านแผนแม่บทการพัฒนาเหมืองฝายพญาคำ และศูนย์การเรียนรู้ฝายพญาคำ
"ฝายพญาคำเป็นฝายโบราณที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ เป็นระบบฝายหินทิ้งที่หล่อเลี้ยงที่นาร่วม 2-3 หมื่นไร่ แต่ผู้คนไม่รู้แล้ว ไม่สนใจแล้ว ทั้งที่มันอยู่แค่หน้าค่ายกาวิละเอง เราจึงต้องจุดประกายให้คนได้เห็นภูมิปัญญาการดูแลน้ำ เพราะเราเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ พอดีกับที่เรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่งมาร่วม มีชาวบ้านมาร่วม การประสานงานนี้จึงปลุกขึ้น" ชัชวาลย์ อธิบาย
สวนชวนอ่าน กิจกรรมการออกแบบพัฒนาพื้นที่ที่มีความพร้อมทางกายภาพ ทัศนียภาพที่สวยงาม บนทำเลที่ตั้งเหมาะสม เพื่อจุดประกายความคิดอย่างสร้างสรรค์ด้วยการให้บริการ และการจัดกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจหลากหลาย ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายทุกเพศทุกวัย ด้วยเครือข่ายความร่วมมือของชุมชน และทุกภาคส่วน
สืบสานสร้างสรรค์ สืบสาน ส่งต่อ และปลุกเร้าจิตวิญญาณแห่งวัฒนธรรมล้านนา สู่มิติการทำงานในรูปแบบใหม่ ที่ท้าทาย น่าสนใจ และเต็มไปด้วยพลังและแรงบันดาลใจ เพื่อส่งต่ออัตลักษณ์ล้านนาสู่สากล และกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่หันมาร่วมใจกันอนุรักษ์ และสืบสานวัฒนธรรมล้านนาให้ร่วมสมัย และอยู่คู่เชียงใหม่อย่างยั่งยืน
ประธานมูลนิธิสืบสานฯ ขยายความให้ฟังว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของโฮงเฮียนสืบสานล้านนา เป็นเวลากว่า 20 ปีที่โฮงเฮียนสืบสานล้านนาได้สร้างคุณูปการยิ่งใหญ่ให้แวดวงคนรักษ์วัฒนธรรมล้านนา ทั้งการเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างคุณค่าและความหมายให้องค์ความรู้ล้านนาได้กลับมาเป็นเรื่องราวที่ร่วมสมัยและทรงคุณค่าทางจิตใจ
"แต่ต่อไปนี้คุณค่าและภูมิปัญญาล้านนาต้องแสดงตัวตนออกมาเพื่อรับใช้ปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเราอยากเห็นคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน เรียนรู้ แลกเปลี่ยน"
แน่นอนว่ากว่าที่ Spark U จะจุดติดในพื้นที่เชียงใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่าย อาจเปรียบได้กับการจุดไฟกลางสายฝน ถ้าดันทุรังจุดไปอย่างนั้นรับรองว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ไฟจะติด
ไฟ หมายถึงความสำเร็จของโครงการ ส่วนสายฝน คืออุปสรรคมากมาย ทั้งความไม่เข้าใจของประชาชน ทั้งการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ แม้กระทั่งการจับมือกันให้แน่นแฟ้นของคนในโครงการเอง
วิธีง่ายๆ ที่จะจุดไฟให้ติดโดยไม่โดนฝนดับ คือ กางร่มและป้องลม แต่อะไรจะเป็นร่มและสิ่งที่ใช้ป้องลมสำหรับการ Spark ชัชวาลย์บอกว่าต้องระดมสมองคิดกันหนักมากว่าจะต้องทำแล้วดูดี ทรงคุณค่า และได้ใจผู้คน เพราะโครงการต่างๆ หรือกิจกรรมเพื่อสังคมที่ทำกันอยู่เดิมมีรูปแบบเรียบง่ายสไตล์เชยๆ พอจับมาแต่งหน้าทาปากและใส่ไอเดียที่คิดแล้วคิดอีก จึงเปลี่ยนความ 'พัง' เป็นความ 'ปัง' อย่างมีลีลา
"เชียงใหม่มีความเป็นเมืองมาก และคนเป็นแบบต่างคนต่างอยู่ อยากทำอะไรเพื่อตัวเองเยอะกว่าคนชนบท สิ่งสำคัญของเมืองคือทำอย่างไรให้คนเห็นคุณค่าของเมือง ตอนนี้ของดีที่เรามีอยู่เดิมเหมือนเป็นของธรรมดาไปแล้ว คนที่เห็นกำแพงเมืองทุกวันก็เฉยๆ ทำนองนี้ เราจึงทำให้คนหันมามองคุณค่าของสิ่งดีที่มีอยู่ผ่านการคิดสร้างสรรค์ เช่น ถนนท่าแพไม่มีต้นไม้เลย อยู่ๆ ก็มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นมาเต็มเลยในคราวเดียว นี่คือกระบวนทำให้คนอึ้ง ให้คนร้องว้าว พอเกิดกระแสแล้วคนอื่นก็จะสนใจด้วย"
ในโครงการ Spark U เชียงใหม่ จึงจะไม่ได้เห็นการทำงานแบบย้วยๆ โบราณๆ ทำนองว่า ผู้หลักผู้ใหญ่มาเปิดงาน กล่าวรายงาน เปิดป้าย
มุมมองของคนทำงานคลุกวงในอย่างบรรณาธิการ Compass มองว่าตอนนี้เชียงใหม่จุดประกายติดแล้ว และไม่น่าจะเป็นแบบติดๆ ดับๆ ตัวอย่างเช่นการดูแลเมืองให้สะอาด การปลูกต้นไม้โครงการหมุดไม้หมายเมืองที่เริ่มปลูกมานานนมเพียงแต่ไม่ดังเปรี้ยงปร้าง จนกระทั่ง Spark U เข้าไปสนับสนุนให้ 'ทำทันที' ตามคอนเซปต์ของโครงการ ซึ่งการจุดประกายนี้ช่วยทลายกรอบเก่าๆ ไปทุกภาคส่วนไม่เว้นภาครัฐ ซึ่งคนส่วนมากเชื่อว่ามีหน้าที่ต้องทำสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว
"เรามักจะเกี่ยงกันว่านี่เป็นหน้าที่ส่วนนั้นส่วนนี้ แต่จริงๆ หน้าที่มีทั้งหน้าที่แบบตรงๆ และหน้าที่แบบรวมๆ คนชอบว่าภาครัฐที่มีหน้าที่ตรงๆ ว่าทำช้าบ้าง ไม่ทำบ้าง แต่อย่าลืมว่าหน้าที่ของประชาชนทั่วไป คือ ทำอะไรได้ก็ทำไปเถิด ไม่ต้องรอใครหรอก บางทีภาครัฐอาจมีเงื่อนไข เช่น งบประมาณน้อย เพราะฉะนั้นทำได้ทำเลย…ทำทันที" ตอนนี้การ Spark จุดไฟติดแล้ว อย่างน้อยคนทำงานทุกกลุ่มก็มารวมตัวกันได้การประสานงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชนเกิดขึ้นจริง และคนเชียงใหม่จำนวนไม่น้อยตื่นตัวและลงมือจัดการปัญหากันมากขึ้น
มองไปข้างหน้า คำว่า 'ยั่งยืน' คงไม่ไกล และเชียงใหม่ 'ปัง' ก็เป็นจริงได้แน่นอน