Social Network ใช้สร้างสรรค์สร้างสุขภาวะให้สังคม

เราหาเพื่อนร่วมชั้นเรียนตั้งแต่สมัยมัธยมศึกษาเจอ, นำเสนอรูปสวยๆ ให้คนอื่นได้เห็น, แจ้งปัญหาจราจรอย่างทันท่วงที และอีกหลายๆ เรื่องที่เราสามารถดำเนินการผ่าน “Social Network” หรือ สื่อสังคมออนไลน์ ได้อย่างฉับไว ซึ่งนาทีนี้หากใครที่ยังส่ายหน้าไม่รู้จักเครื่องมือชื่อ “Social Network” ก็อาจจะถูกกล่าวหาว่า “เชย” ได้

 

 

“ไกลก้อง ไวทยาการ” รองผู้จัดการแผนงานไอซีทีเพื่อสุขภาวะออนไลน์และสนับสนุนภาคีเครือข่าย เปิดเผยว่า สื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้กันอยู่หลักๆ ในปัจจุบันคือ เฟซบุ๊ก ซึ่งคนไทยใช้มากเป็นอันดับต้นของเอเชีย หรือประมาณ 7 ล้านคนซึ่งเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือ Social Networkอื่นๆ เช่น ทวิตเตอร์ และยูทูปที่มีผู้ใช้จำนวนมากอยู่ด้วยเช่นกัน

 

“Social Networkคือ สื่อที่คนสามารถใช้สื่อสารกันได้ระหว่างบุคคลถึงบุคคล โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางที่เป็นสื่อมวลชน เนื้อหาที่อยู่ในสังคมออนไลน์ก็มีทั้งข้อมูล ความรู้ ความรู้สึกนึกคิด ความคิดเห็นต่อสังคม หรือการแบ่งปันความสุข ความบันเทิง เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนได้สื่อสารกันมากขึ้น เกิดสารสนเทศจำนวนมากออนไลน์อยู่ในระบบ ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น เช่น อาจมีคนไปท่องเที่ยวในชุมชนที่ห่างไกล หรือไปที่แปลกๆ ไปเจอร้านอาหารอร่อย ไปเจอผลิตภัณฑ์ดีๆ สิ่งเหล่านี้ก็นำมาแบ่งปันทาง Social Networkได้ ทำให้มีความรู้มากขึ้น โดยบุคคลเป็นผู้แบ่งปันความรู้ระหว่างกัน” รอง ผจก.แผนงานไอซีทีฯ กล่าว

 

ไกลก้อง กล่าวอีกว่า นอกจากข้อมูลต่างๆ ที่ถูกนำมาเผยแพร่ทาง Social Networkแล้ว ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ Social Networkยังเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ในเหตุการณ์ฉุกเฉินเพื่อระดมความช่วยเหลือ เห็นได้จากคราวประเทศไทยเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ผ่านมา จะมีการแจ้งผ่าน Social Networkบอกว่าใครอยู่ในพื้นที่ไหน ต้องการความช่วยเหลืออย่างไร รวมถึงใช้รายงานว่าพื้นที่ไหนมีความช่วยเหลือเข้าไปแล้ว อีกทั้งยังสามารถใช้ Social Networkประเมินสถานการณ์ภาพรวมของเหตุการณ์นั้นๆ ได้ด้วย หรือในกรณีที่ไม่มีภัยพิบัติก็อาจแจ้งขอความช่วยเหลือ เช่น ขอบริจาคเลือดกรุ๊ปต่างๆ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จาก Social Network

 

“นพ.ประเวศ วะสี ท่านเคยกล่าวไว้ว่า Social Networkเหมือนกับเส้นประสาท เมื่อเรามีเส้นประสาทย่อยๆ อยู่ตามอวัยวะต่างๆ ก็จะสามารรับรู้ความรู้สึกต่างๆ ได้ ว่าเรามีปัญหาตรงไหน เจ็บตรงไหน Social Networkก็ทำให้คนในสังคมออนไลน์รู้ว่าตรงไหนมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้างเช่นกัน”

 

ใช่ว่า Social Networkจะมีแต่ข้อดี ข้อเสียก็มีด้วยเช่นกัน ไกลก้อง บอกว่า ข้อเสียของ Social Network คือ ข้อมูลบางอย่างที่ถูกนำเสนอไม่ได้รับการยืนยันว่าถูกต้องหรือไม่ หรือบางข้อมูลไม่อัพเดทแล้ว เพราะเมื่อเผยแพร่ข้อมูลออกไปบางอย่างมันยังวนอยู่ในระบบทั้งที่ผ่านช่วงเวลานั้นแล้ว ดังนั้น คนรับสื่อจาก เว็บไซต์ หรือ App Social Network ต้องพิจารณา ตรวจสอบความเป็นไปได้ ข้อเท็จจริง ผู้นำข้อมูลมาเผยแพร่มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ และจะสามารถหาแหล่งอ้างอิงได้อย่างไร

 

“สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งสำหรับการใช้ Social Network คือ การกระพือกระแสสังคมเรื่องเชิงลบ หรือความเกลียดชังที่เป็นได้อย่างรวดเร็ว ต้องระวังเพราะบางทีคนเรามีอารมณ์ด้านลบ มีอารมณ์โกรธ เกลียด บางครั้งเมื่อปล่อยออกมาทาง Social Networkทำให้เกิดปัญหา เพราะจะดึงคนในสังคมไปในทางด้านลบ และขาดสติในการยั้งคิดหรือมองเรื่องบางเรื่องในมิติที่หลากหลายแง่มุมไป”รอง ผจก.แผนงานไอซีทีฯ กล่าว

 

ส่วนกลุ่มคนที่ ไกลก้อง ให้ความเป็นห่วงในการใช้ Social Networkมากที่สุด หนีไม่พ้นกลุ่มเด็กและเยาวชน เนื่องจากวุฒิภาวะและประสบการณ์ด้านสังคมยังน้อยบางครั้งเมื่อได้รับข้อมูลมาแล้วเชื่อตามในทันที และไม่มีทักษะในการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งการใช้ Social Networkที่ถูกต้องขณะนี้เริ่มทีรายการโทรทัศน์หลายๆ รายการนำเสนอการใช้ไอทีให้ถูกต้องมากขึ้นแล้ว ถือเป็นเรื่องที่ดี

 

รองผู้จัดการแผนงานไอซีทีฯ ฝากถึงน้องๆ ที่นิยมใช้ Social Networkด้วยว่า ขอให้ระมัดระวังการโพสต์ข้อมูลส่วนตัว รูปภาพต่างๆ และต้องคำนึงว่าไม่เฉพาะเพื่อนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ เนื่องจากบางคนไม่ได้ตั้งค่าความปลอดภัยหรือความเป็นส่วนตัว ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทั้งหมด ดังนั้น หากจะใช้ Social Networkควรต้องศึกษาคุณสมบัติของ Social Networkแต่ละตัวให้ดีก่อน และหากมีผู้ส่งคำเชิญ (invite) ให้เข้าร่วมให้ใช้ application ต่างๆ หากไม่แน่ใจอย่าเพิ่งตอบรับ เพราะการเข้าร่วมอาจถูกดึงข้อมูลส่วนตัวไปใช้ทำเรื่องอื่นได้ ซึ่งความห่วงใยข้อนี้ ไกลก้อง ฝากไปถึงผู้ใช้ Social Networkทุกคน ไม่เพียงแต่เด็กและเยาวชนเท่านั้น เพราะหลายคนเลือกที่จะตอบรับการเชิญจากทุกกลุ่มทั้งหมดโดยไม่อ่านรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อน

 

สุดท้าย ไกลก้อง แนะนำวิธีใช้ Social Network สร้างสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมได้ด้วยวิธีง่ายๆ คือ

 

1.แบ่งปันเรื่องดีๆ ให้กันเมื่อใครเจอเรื่องดีๆ อะไรก็แบ่งปันให้กับผู้ใช้อื่นๆ เป็นการสร้างเนื้อหาที่ดี ให้ความรู้ใหม่ๆ สถานที่ใหม่ๆ หรือมีคำพูดที่ดีๆ ก็สามารถแบ่งปันให้ผู้อื่นได้เลย

 

2.ถ้ารู้เกี่ยวกับเรื่องการช่วยเหลือสังคมจิตสาธารณะ งานอาสาสมัคร กิจกรรมเพื่อสังคม ให้รีบแบ่งปันทันทีเป็นการชักชวนให้คนอื่นทำความดี

 

3.เมื่อมีปัญหาในชุมชนก็อาจนำเสนอปัญหาของกลุ่มหรือชุมชนมาขอความเห็นผ่าน Social Networkได้ เช่น การสร้างหน้าแฟนเพจของกลุ่มให้คนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน หรือผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันนำเสนอแง่มุม ทางออก ก็จะได้มุมมองความคิดใหม่ๆ

 

“การใช้  Social Networkเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีในสังคมนั้น เป็นเรื่องง่าย เริ่มจากการแบ่งปันเรื่องดีๆ ชักชวนคนทำดี และเราเป็นผู้ริเริ่มในการทำกิจกรรมดีๆ ด้วยตัวเองครับ”

 

 

 

เรื่องโดย : คีตฌาณ์ ลอยเลิศ Team content www.thaihealth.or.th

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code