SMS เสี่ยงโชค ภัยพนันหลอกเด็ก
ปัจจุบันรายการทีวี รายการวิทยุเชิญชวนผู้ชมผู้ฟังร่วมสนุกลุ้นโชค กลับกลายเป็นว่าเด็กเป็นเหยื่อของกิจกรรมชนิดนี้เป็นจำนวนมาก โครงการการสำรวจสถานการณ์การเสี่ยงโชคผ่านข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือ (เอสเอ็มเอส) ภายใต้มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน สนับสนุนโดยกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเสวนาเปิดเผยผลงานวิจัย การส่งข้อความเสี่ยงโชคเป็นการพนัน เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่ายผ่านการส่งข้อความเสี่ยงโชคจากโทรศัพท์มือถือ และหลงเชื่อโฆษณาในสื่อต่างๆ
โดยมีตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมสุขภาพจิต มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว องค์กรสื่อ สถาบันการศึกษาภาครัฐและเอกชน และหน่วยงานเกี่ยวข้อง 14 องค์กร ร่วมมือระดมหาทางออก หลายเสียงเร่งรัดให้ความรู้กับสังคม เตือนภัยโรงเรียน ผู้ปกครองให้รู้เท่าทัน ควบคู่กับรีบดำเนินมาตรการทาง กฎหมายคุมเข้มผู้ประกอบการ
จุติมาศ สุกใส นักวิจัยโครงการฯศึกษาพบว่า ในปี 54 การส่งข้อความสั้น (SMS) จะโกยเงินจากผู้บริโภคเข้ากระเป๋าผู้ประกอบการถึง 1,700 ล้านบาท ในหลากหลายช่องทาง เช่น โทรศัพท์มือถือโดยตรง โดยผู้ให้บริการส่งข้อความ SMS เพื่อให้เสี่ยงโชค, การเชิญชวนสมัครทางเว็บไซต์ ทั้งที่เต็มใจสมัคร และสมัครเพราะได้รับข้อมูลที่ไม่ตรงจากการโฆษณาเกินจริง, รายการโทรทัศน์ เช่น ตอบคำถามชิงรางวัล หรือรายการประมูลทางเคเบิลทีวี หรือกิจกรรมเฉพาะกลุ่ม เช่น การทายผลกีฬา ซึ่งยอดการเสี่ยงโชคจะพุ่งทะยานขึ้นในช่วงแข่งขันฟุตบอลยูโรและฟุตบอลโลก การโถมทุ่มการส่งข้อความ SMS สู่บรรดาลูกค้าผู้ใช้บริการมีเหตุจากการจับมือแบ่งผลประโยชน์ระหว่างเจ้าของระบบกับผู้ประกอบการ ซึ่งมีข้อความชวนเชิญดูดวง รับข่าวสั้น การเล่นเกมบนมือถือ รวมถึงการเชื่อมอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อดาวน์โหลด
จากสถิติการเติบโตของจำนวนเลขหมายโทรศัพท์มือถือในช่วงเดือนมีนาคม 2553 มี 71.2 ล้านเลขหมาย และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะโทรศัพท์มือถือได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน อีกทั้งราคาโทรศัพท์มือถือที่ถูกลงมาก ราคาส่ง SMS ครั้งละ 6-12 บาท หลายคนคิดว่าเสียเงินไม่มาก ได้รางวัลง่าย ถ้าส่ง SMS มากมีสิทธิลุ้นได้รับของรางวัลชิ้นใหญ่ เป็นภาวะที่น่าห่วงสำหรับเด็กและเยาวชนที่หลงตั้งใจส่ง SMS เสี่ยงโชคเพื่อหวังของรางวัลที่ล่อใจ ผู้ปกครองดูแลไม่ทั่วถึงเพราะไม่มีข้อมูลและตรวจสอบยากนอกจากเด็กเสียเงินแล้วยังซึมซับนิสัยการติดพนันอย่างไม่รู้ตัว
นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า เริ่มส่ง SMS ชิงรางวัลตั้งแต่อายุ เพียง 9 ขวบ เพราะอยากได้หุ่นยนต์ตามที่โฆษณา และติดการส่ง SMS ติดต่อมากขึ้นติดต่อกันจนถึงอายุ 14 ปี โดยเฉลี่ยแล้วเสียเงินส่ง SMS เดือนละประมาณ 1,500 บาท ที่ผ่านมาไม่เคยได้รับของรางวัล เพียงมีความหวังว่าสักวันจะได้รางวัลบ้าง และได้รับแรงกระตุ้นให้ส่ง SMS ชิงรางวัลมากขึ้น จากการเห็นตัวอย่างผู้ที่ได้ของรางวัลในโฆษณา และยอมรับว่ามีอารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย ไม่ยอมฟังใคร มุ่งมั่นที่จะชนะ จนในที่สุดคิดได้และค่อยๆ เลิก
พฤติกรรมการติด SMS เพื่อเสี่ยงโชค ส่วนหนึ่งมาจากพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลใกล้ชิดลูก และความรู้ความเข้าใจของผู้ปกครองเกี่ยวกับเทคโนโลยี ไม่เท่าทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องยอมรับเรื่องภัยจาก SMS เสี่ยงโชค เป็นเรื่องใหม่ที่ควรให้ความรู้กับโรงเรียนและพ่อแม่เพื่อที่จะดูแล บุตรหลานของตนเองได้ทั่วถึง
“มาตรการทางกฎหมายเพื่อดำเนินการให้สถาบันฯ ได้เสนอเรื่องต่อกรมการปกครอง เพื่อดำเนินการกับผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน ในส่วนการแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคเบื้องต้น สามารถยุติการรับ SMS กับระบบโทรศัพท์ที่ใช้บริการได้ทันที” ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์