Open House “เยาวชนดิจิทัลรู้ทัน-เฝ้าระวังสื่อ” เสริมทักษะเยาวชน ลดภัยคุกคามออนไลน์
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
เด็ก-เยาวชนทั่วโลก 70% เผชิญกับความเสี่ยงทางไซเบอร์ โดนคุกคามผ่านแชทคุยเรื่องลามก-ถูกบูลลี่หนักบนโลกออนไลน์ ผลสำรวจใช้สื่อออนไลน์ไทย ชี้ เด็ก 54% เคยเห็นสื่ออนาจาร 12% ถูกคุกคามทางเพศ สสส. สานพลังภาคี ติดอาวุธความรู้เยาวชน สร้างภูมิคุ้มกันภัยดิจิทัล-เสริมทักษะเท่าทันสื่อ-ลดภัยคุกคามออนไลน์
เวลา 13.00 น. วันที่ 23 ธ.ค. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาคมเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้เท่าทันดิจิทัลเทคโนโลยี (D Tech) จัดกิจกรรม Open House โครงการเยาวชนดิจิทัลรู้ทันและเฝ้าระวังสื่อ (Young Digital Citizen Creators) นำเยาวชนแกนนำนักสื่อสารรุ่นเยาว์ 24 ทีม จากทั่วประเทศ แสดงนิทรรศการโชว์ผลงานดิจิทัล ภายใต้หัวข้อ “รู้ทันภัยออนไลน์” สะท้อนศักยภาพการผลิตสื่อดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ การส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้มีทักษะรู้เท่าทันสื่อ ป้องกันการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ และลดภัยคุกคามทางไซเบอร์
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า “ดัชนีชี้วัดความปลอดภัยบนสื่อออนไลน์สำหรับเด็ก ระหว่างปี 2560-2566 จากกลุ่มตัวอย่างเด็กอายุ 8-18 ปี จำนวน 351,376 คน ทั่วโลก โดยสถาบันดีคิว (DQ Institute) รายงานว่า เด็กและเยาวชน 70% ต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางไซเบอร์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี ซึ่งประเด็นความเสี่ยงทางไซเบอร์จะแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ เช่น การรับเนื้อหาและการติดต่อที่มีความเสี่ยง การกลั่นแกล้ง และการใช้เทคโนโลยีเกินความจำเป็น สอดคล้องกับสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ปี 2565 กลุ่มตัวอย่างอายุ 9-18 ปี จำนวน 31,965 คน โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบมีเด็ก 81% ที่มีแท็บเล็ตหรือสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเอง และกว่า 85% ใช้โซเชียลมีเดียเกือบทุกวัน 54% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจาร โดยเด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป 12% เคยถูกคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์ (Online Grooming)”
“สสส. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนให้เป็นนักสื่อสารสุขภาวะที่มีทักษะเท่าทันสื่อ มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและตรวจสอบสื่อ จึงร่วมกับสมาคมเครือข่ายฯ พัฒนาโครงการ Digital Citizen Creators นำร่องในโรงเรียนระดับมัธยมสังกัดกรุงเทพมหานคร 6 แห่ง เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ 24 ทีม จำนวน 240 คน ได้พัฒนาตนเองสู่การเป็นนักสื่อสารสุขภาวะ ผ่านการออกแบบสื่อในรูปแบบคลิปวิดีโอ ภาพวาดดิจิทัล และอินโฟกราฟิก เพื่อใช้สื่อสารรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ถึง ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมเสี่ยงในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเพื่อนร่วมวัยได้ โดยผลงานของน้องๆ ทุกทีมปีนี้ สะท้อนถึงขีดความสามารถและทักษะในการสื่อสารที่โดดเด่นและแตกต่าง ทำให้ผลงานที่ออกมาสามารถใช้งานสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของสื่อดิจิทัล” นางญาณี กล่าว
นายจอห์น รัตนเวโรจน์ ประธานสมาคมเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้เท่าทันดิจิทัลเทคโนโลยี (D Tech) กล่าวว่า โครงการ Digital Citizen Creators มุ่งพัฒนาทักษะดิจิทัลในเด็กและเยาวชน และสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยพัฒนาสังคมออนไลน์ให้เป็นพื้นที่ที่มีคุณภาพ ดำเนินงานผ่านการจัดกิจกรรมเดินสาย Road Show ให้ความรู้กับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายเกี่ยวกับการรับมือภัยดิจิทัล สร้างทักษะการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ (Digital Vaccine powered by DQ) เสริมภูมิคุ้มกันให้ตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่ได้รับจากภัยดิจิทัล เช่น ข่าวลวง ภัยจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า การเท่าทันข้อมูลยุคเอไอ เพิ่มทักษะการตรวจสอบคลิป รูปภาพ รวมทั้งถึงทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลเชิง critical thinking เกิดชมรมเยาวชนอาสาสมัครเฝ้าระวังสื่อในโรงเรียนทั้ง 6 แห่ง นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้เยาวชนพัฒนาทักษะในการผลิตสื่อดิจิทัลที่สร้างสรรค์ในประเด็นมุ่งเน้นตามกรอบทิศทางการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะของ สสส. อีกด้วย
“เยาวชนทั้ง 24 ทีม ที่เข้าร่วมพัฒนาทักษะในการผลิตสื่อดิจิทัล ได้เรียนรู้กระบวนการผลิตผลงานเพื่อใช้รณรงค์ให้ข้อมูลภัยดิจิทัลในหัวข้อต่างๆ เช่น เวิร์กช้อปการใช้งานโปรแกรมตัดต่อ สำหรับสร้างสรรค์ผลงาน และกิจกรรมให้คำปรึกษาเรื่องการสร้างคอนเท้นต์ออนไลน์ โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ผลงานของเยาวชนทั้ง 24 ทีม ที่พัฒนาเสร็จสิ้นแล้ว จะเผยแพร่อย่างเป็นทางการบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ D Tech Association และสำหรับผลงาน 4 ชิ้น ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากโจทย์การผลิตสื่อประเภทภาพเคลื่อนไหว (Motion Media) ได้แก่ ทีม QEDs โรงเรียนประชานิเวศน์ ผลงานเรื่อง การรับมือกับข้อมูลเท็จ และทีม Mega ล่าฝัน โรงเรียนมัธยมบ้านบางกะปิ ผลงานเรื่อง ภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า และโจทย์การผลิตสื่อประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ (Print Media) ได้แก่ ทีม เหล่ากบอ๊บโอ่ยบินได้ โรงเรียนนาหลวง ผลงานเรื่อง ปัญหาการกลั่นแกล้งและการคุกคามทางเพศ และทีม มปณ. ก้าวไกล รู้ใช้เทคโนโลยี โรงเรียนมัธยมปุรณาวาส ผลงานเรื่อง การรับมือกับข้อมูลเท็จ จะถูกนำไปใช้ Road Show เพื่อขยายผลต่อในโรงเรียนและชุมชนทั่วประเทศ เป็นต้นแบบสื่อสารรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนเข้าใจถึงภัยอันตรายจากโลกออนไลน์ต่อไป” นายจอห์น กล่าว