New Year New You เปลี่ยนตัวเองเป็น “คุณคนใหม่” ให้ของขวัญกับครอบครัว

ข้อมูลจาก แถลงผลการรณรงค์ ฤดูกาลสุขปลอดเหล้าและงดเหล้าเข้าพรรษา ปี 2567 “ภูมิใจ ได้คุณคนใหม่” ภายใต้สังคมสุขปลอดเหล้า เปี่ยมสุขปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยง

ภาพโดย: Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    ช่วงปีใหม่ เป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้น จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีของคนส่วนใหญ่ที่จะใช้เป็นช่วงเวลาเอาฤกษ์เอาชัยในการสร้างสิ่งดี ๆ   
                    ว่ากันว่า ช่วงเริ่มต้นปีเช่นนี้เป็ นช่วงที่ใคร ๆ หลายคนคิดอยากจะทำ “New Year Resolution” 
                    ซึ่งอีกหนึ่ง New Year Resolution ที่ดีที่สุด คือการที่เราสามารถที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือกระทำสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเราเองและครอบครัว หรือเพื่อคนที่เรารัก 
                    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างพฤติกรรมใหม่ที่ดีต่อสุขภาพกายและใจของเรา อย่างเช่นการเลิกดื่มเหล้า
New Year New You
                    ไม่เพียงเฉพาะเทศกาลเลิกเหล้าแห่งปีอย่าง “เข้าพรรษา” ที่เราจะให้เป็นฤกษ์งามยามเหมาะเพื่อการเลิกดื่ม หากปีใหม่ก็เป็นอีกช่วงเวลาที่ดีในการที่เราจะปวารณาตัวเองเพื่อเป็น “คุณคนใหม่”
ด้วยการ “งดดื่ม” หรือ “เลิกเหล้า” ซึ่งถือเป็นการมอบของขวัญสร้างสุขแก่ตัวเองและครอบครัวของเราได้อย่างคาดไม่ถึง
แต่หากใครยังลังเลในใจ ลองมาฟังประสบการณ์ของผู้ที่เคยกลับตัวกลับใจ เลิกเหล้าได้ดีกว่า
เปลี่ยนเงินค่าเหล้าเป็นทอง
                    “ก้อย” สิริรัตน์ อินทโน วัย 57 ปี เจ้าของฉายา “ก้อย 100 แก้ว” เล่าถึงอดีต เคยเป็นหนักดื่มสาวใจใหญ่สายเปย์ ใช้ชีวิตติดแกลม เธอทำสถิติจ่ายค่าเหล้าคืนหนึ่งเหยียบหมื่นบาท เปิดใจถึงเหตุผลที่ทำไมชีวิตพลิกผันกลายเป็นคนเลิกเหล้าได้ว่า
ชีวิตการดื่มของเธอเริ่มจากทำกับแกล้มให้แฟน
                    “เขาก็ส่งแก้วเหล้ามาให้ แรกๆ ก็แก้วสองแก้ว พอได้ลองเราก็ชอบ กินแล้วรู้สึกโล่ง สนุกสนานดีเราก็เลยกินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มกินหนัก จนกลายเป็นสายเปย์ เดือนละ 40,000-50,000 บาท เที่ยวทุกคืน บางทีกลับถึงบ้านตีสี่”
                    “เมื่อก่อนเราใช้ชีวิตสุดโต่ง ชอบทำตัวเป็นไฮโซโนมันนี่” เธอกล่าวพร้อมกลั้วเสียงหัวเราะ
                    “มีชีวิตสังสรรค์ดื่มตลอด ชีวิตนี้มีแต่ลั้ลลา ถามว่าดื่มหนักไหม หนักมากบางทีถึงขั้นดื่มเพียว ๆ เราชอบทำกับแกล้มและชวนเพื่อน ๆ ตั้งวงดื่มเหล้าบ่อย ๆ ยิ่งมาเปิดร้านคาราโอเกะ จากที่ดื่มน้อยก็ดื่มหนักมากขึ้นและดื่มทุกวัน ทั้งที่มีโรคประจำตัว คือ โรคภูมิแพ้ ต้องไปหาหมอบ่อยมาก ประกอบกับมีภาวะเครียด คิดมาก ลูกชายเองก็ติดเหล้า พอดีมีเพื่อนบ้านในชุมชนที่ชักชวนเรามาเข้าโครงการ ชม ช่วย เชียร์ ซึ่งตอนแรกยังดื่มอยู่ แต่เขาบอกว่าถ้าเรามาทำงานตรงนี้ ควรจะเป็นตัวอย่าง แกถามว่าอยากลองเปลี่ยนเป็นคนใหม่ดูไหม เขาไม่ได้บังคับกดดันเราให้เราสมัครใจด้วยตัวเอง” เธอว่า
                    “ตอนที่ได้อบรม Care Giver ประมาณสองสัปดาห์ เขาพาเราไปดูเคสเห็นคนป่วยวิกฤติ อุบัติเหตุเมาแล้วขับ ก็มาคิดว่าเราจะเป็นแบบนี้ไหม”
พี่ก้อยจึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา สัญญากับลูกอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนใหม่ และเป็นแบบอย่างที่ดี ปัจจุบันได้ส่งลูกชายไปบำบัดแล้ว งดเหล้า 3 เดือนสุขภาพดีมาก ไม่เหนื่อยง่าย อาการภูมิแพ้หาย
“เลิกตอนแรก ๆ กระวนกระวายนะ มันทรมานมากกว่าจะเลิกได้ แต่พอทําได้ ภูมิใจมาก” พี่ก้อยกล่าว พร้อมรอยยิ้ม
จากคู่รักสายนักดื่ม สู่ “คู่รักพักเหล้า”
                    สองคู่รักนักดื่มที่พบรักในวงเหล้า อัญญารัตน์ โกติรัมย์   เล่าว่า แรกเริ่มเธอเองไม่ใช่นักดื่มหนัก แต่พอเห็นสามี ธีรัช จันทร์หอม ดื่มก็เลยดื่มตามด้วยเพราะอยากสนุกสนานกับเพื่อนๆ
                    “แรกเริ่มเดิมที เราเป็นคู่รัก เป็นคนทํางานประจำทั่วไป แต่ครั้งแรกก็เจอกันที่ร้านเหล้าค่ะ” อัญญารัตน์เล่าพร้อมหัวเราะ
                    “หลังเป็นแฟนกัน เราก็ดื่มด้วยกันมาตลอด เลิกงานก็ไปสังสรรค์ไปดื่มถึงแม้ว่าไม่มีเพื่อนเราก็ดื่ม 2 คน”
ทั้งสองคนยอมรับว่า พอมีเพื่อนเลยดื่มกันหนักมาก
                    “ตอนนั้นใช้ชีวิตแบบสนุก เงินมันได้มาง่าย พอเงินออกแล้วก็ไปสังสรรค์ มีอยู่ครึ่งหนึ่งเราพบวิกฤต ประสบอุบัติเหตุจากการดื่มเหล้าเนี่ยแหละค่ะ เราไปดื่มกับเพื่อนหนักมากจนแฟนขับรถหลับในไปทั้ง 2 คน ล้มคว่ำกลางทางแต่หลังจากนั้น เราก็ยังไม่ได้เลิก ยังดื่มอยู่ เรียกว่ายังไม่ถึงขั้นไม่เห็นโลงศพก็ไม่หลั่งน้ำตา แต่พอเรากลับมาอยู่บ้านที่พัทลุง เราไม่มีอาชีพไม่ได้ทํางานแล้ว แต่ถึงรายได้ไม่ดีก็ยังดื่ม คือเราเหงาไม่มีเพื่อนไม่รู้จะคุยกับใคร ก็เลยดื่มเบียร์ แต่ลดลงจาก 3 ขวด 5 ขวด เหลือคนละหนึ่งขวด พอดีพี่สะใภ้มาบอกผู้หญิงที่หมู่บ้านนี้เขาไม่ดื่มกันนะ คือเขาไม่ว่าอะไรนะ แต่ก็มีแอบมอง เราเองก็อึดอัด ทีนี้เราเริ่มเกรงใจลุงแล้วก็เกรงใจแม่สามีด้วย”
ข้างฝ่ายสามีช่วยเสริมข้อมูลบ้าง โดยกล่าวว่า เหตุผลที่เขาเลิกได้เพราะคำว่า “โอกาส”
                    “ผมเข้าร่วมโครงการ อาจจะเป็นกุศโลบายของคุณลุง ที่แกเป็นประธานชมรมคนเลิกเหล้า คนหัวใจเพชร อยู่ แต่เริ่มแรก ท่านไม่ได้ชวนให้เรามาเลิกเหล้าโดยตรง แต่ชวนให้ผมไปช่วยทํากิจกรรม จ้างเราไปทำน้ำสมุนไพรให้ลุงหน่อย แต่พอเข้าไปแล้วมันได้ซึมซับไงครับ” ธีรัช เปิดใจเล่า
“คุณลุงให้โอกาสเราหลายอย่าง ช่วยหางานสร้างรายได้ หางานให้ไปกรีดยาง แม้ไม่ได้บังคับให้เราเลิกดื่ม แต่การได้มีโอกาสไปเรียนรู้เกี่ยวกับชุดกิจกรรม โปรแกรม SoBrink SoClub ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะแกนนำเราได้เข้าร่วมอบรมวิทยากรหน้าเพื่อที่จะนำความรู้ถ่ายทอดข้อมูลตรงนี้ไปสู่สังคมแล้วก็ไปสู่เพื่อนรอบข้าง แต่ทีนี้มันก็เริ่มมีคำถามในใจตามมาว่า “วิทยากรทําไมยังดื่มเบียร์ดื่มเหล้า” เราจะไปบอกเขายังไงล่ะว่า สุขภาพเรามันดีเพราะการงดเหล้า ก็เริ่มละอายใจเลยชวนกันเลิก”
ฟ้าหลังฝน กับการเป็น “คุณคนใหม่”
                    เสียงสะท้อนของทั้งสามต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า ชีวิตที่หลุดพ้นวงจรการดื่มเปรียบเสมือนชีวิตฟ้าหลังฝน ทันทีที่เลิกดื่ม
ก้อย สิริรัตน์ เล่าวว่าโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้น คือการที่เธอได้เข้าร่วมกับโครงการพัฒนาต่าง ๆ. อีกมากมาย เป็นแกนนำ เป็น อสม.ที่คนในชุมชนให้ความรักและชื่นชม แถมมีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อเปลี่ยนเป็นคนใหม่สู่ชีวิตคนงดเหล้าได้ 3 เดือน
                    “พอเลิกได้ ผิวพรรณกลับมาสดใส หน้าเราอิ่มเอิบ จากนอนตีสี่ตื่น เปลี่ยนเป็นนอนไวตื่นเช้า 6 โมงแทน สามีบอกเหมือนได้ภรรยาใหม่ ซึ่งตัวเขาเองก็ดื่มลดลง เราไม่บังคับให้เขาเลิกนะ แต่ทุกวันนี้ เพื่อนบางคนยังโทรมาชวนเขาไปดื่ม พอเราบอกไม่ไป เขาก็เลยบอกไม่ไปดีกว่า”
เธอเอ่ยว่า อีกสิ่งที่ไม่น่าเชื่อคือ แค่เพียงไม่ดื่มหนึ่งพรรษา กลับประหยัดค่าเหล้าได้อย่างนึกไม่ถึง เพราะสามารถซื้อทอง 2 บาท และปิดหนี้บัญชีผ่อนรถฟอร์จูนเนอร์ รวมทั้งวันนี้ เธอกลายเป็น Care Giver มือหนึ่งของชุมชนพิมาน
ขณะที่ ธีรัชเอ่ยว่า ภายหลังเลิกดื่ม รู้สึกว่าร่างกายสดชื่นขึ้น ไม่ค่อยเหนื่อยง่ายเหมือนเมื่อก่อน เลยตั้งใจจะเลิกดื่มต่อไป ที่สำคัญเขาได้รับการยอมรับจากบุคคลในชุมชนมากขึ้น มีเงินเหลือเก็บเพิ่มขึ้น
จากงดเหล้าเข้าพรรษา สู่ SoBrink SoClub 
                    ความสำเร็จของทั้งสามต้นแบบด้านบน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฤดูกาลสุขปลอดเหล้าและงดเหล้าเข้าพรรษา หนึ่งในโครงการซึ่ง สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดขึ้นต่อเนื่อง เพื่อเฟ้นหาอาสาสมัครใจเพชรที่มีความตั้งใจจริงที่อยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง
 โดยแต่ละปีมีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการ สามารถลด หรือเลิกดื่มเหล้าได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2567 ที่ผ่านมา พบมีผู้งดดื่มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน (2566) ถึงกว่า 3 ล้านคน ช่วยประเทศประหยัดเงินในช่วงเข้าพรรษาปีนี้ถึง 10,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6 พันล้านบาท
                    พิมพ์มณี เมฆพายัพ ผู้จัดการโครงการฤดูกาลสุขปลอดเหล้าและงดเหล้าเข้าพรรษาปี 67 กล่าวว่า SoBrink SoClub เป็นโมเดลช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลสุขภาพชุมชนในช่วงเข้าพรรษา ที่เป็นการต่อยอดจากโครงการฤดูกาลสุขปลอดเหล้าและงดเหล้าเข้าพรรษา
                    “ที่จริงโครงการไม่ได้รณรงค์ให้คนงดเหล้าเพียง 3 เดือนในช่วงเข้าพรรษา แต่ดำเนินการตลอดปี โดยชมรมคนหัวใจเพชร และกลุ่มพลังหญิงในแต่ละภูมิภาค พัฒนาเป็นชุดกิจกรรม โปรแกรม SoBrink SoClub เสริมพลังตับ ฟื้นพลังชีวิต สำหรับล้างพิษและฟื้นฟูตับ ด้วยอาหารท้องถิ่นตามฤดูกาลและสมุนไพรไทย เกิดโมเดลศูนย์เรียนรู้ 8 แห่งฯ โปรแกรมครอบครัวสุขปลอดเหล้า โปรแกรมลดเหล้า ออมเงิน สร้างสุขในครอบครัว”
ซึ่งการดำเนินงานมุ่ง 3 เป้าหมาย 1. พัฒนาคนดื่มที่ตัดสินใจเลิกเหล้า สู่คนหัวเพชร และพัฒนาศักยภาพให้เป็นนักสื่อสารและสร้างเสริมหัวใจเพชร 2. พัฒนา                    ชุมชนงดเหล้าเข้าพรรษา สู่ชุมชนคนสู้เหล้า ชุมชนสุขปลอดเหล้า และชุมชนเปี่ยมสุขปลอดภัยปัจจัยเสี่ยง ตามลำดับ ภายใต้แนวทางชุมชนจัดการตนเองอย่างมีส่วนร่วม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ค่านิยม และสภาพแวดล้อม “สุขปลอดเหล้า และปลอด(ภัย)ปัจจัยเสี่ยงสุขภาวะ” ขับเคลื่อนโดยชมรมคนหัวใจเพชร 3.พัฒนาชมรมคนหัวใจเพชร ให้เป็นกลไกกลางในการขับเคลื่อน ทั้งด้านพัฒนาศักยภาพว่าที่คนหัวเพชร สู่นักสื่อสาร สร้างเสริมสุขภาวะหัวเพชร จัดระบบสนับสนุนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของ คนเลิกเหล้าและครอบครัว อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม รวมทั้งเปิดพื้นที่และประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน ในการจัดการชุมชนแต่ละระดับ
สุขปลอดเหล้า ไม่เฉพาะเข้าพรรษา
                    หลังผุดโมเดล SoBrink SoClub ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลสุขภาพชุมชนในช่วงเข้าพรรษา นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า “จากการประเมินโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2567 โดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ(SAB) พบว่า มีผู้เปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ เลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษาปีนี้ มีจำนวน รวม 13,154,239 คน (เพิ่มขึ้น 3 ล้านคนเมื่อเทียบจากปี 2566) จำแนกเป็น ผู้ที่งดตลอดเทศกาลเข้าพรรษา จำนวน 7,646,408 คน (ร้อยละ 58.1) งดเป็นบางช่วง จำนวน 2,681,000 คน (ร้อยละ20.4) และ ไม่งดแต่ลดการดื่มลง จำนวน 2,826,831 คน (ร้อยละ 21.5) สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ยคนละ 1,959.74 บาท (เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 452.77 บาท)  ซึ่งประมาณการได้ว่า จำนวนเงินโดยรวมที่ประเทศประหยัดได้ในช่วงเข้าพรรษาปีนี้ เป็นจำนวนถึง 10,280,763,315 บาท (เพิ่มขึ้นกว่า 6 พันล้านบาท เมื่อเทียบ กับปีที่แล้ว ที่ประมาณการไว้ 4,227,770,171 บาท)”
                    ความสำเร็จที่เกิดขึ้น พิมพ์มณีเอ่ยว่า ไม่เพียงได้คนที่เลิกเหล้ารายบุคคลเท่านั้น หากยังได้ขยายผลกลายเป็นชุมชนเลิกเหล้าและชุมชนสุขภาวะ มีคนเลิกเหล้าได้ 1,010 ชุมชน ทั้งยังมีอาสาสมัครที่ร่วมอุดมการณ์ ชักชวนคนให้หันมาเลิกเหล้าได้อีกกว่า 5,000 ราย “
สำหรับใครที่อยากเปลี่ยนตัวเองนาทีนี้ ไม่ต้องรอถึงเข้าพรรษา
                    มาเริ่มต้นปีใหม่ 2568 นี้ อีกหนึ่งไอเดีย New Year Resolution ที่อาจโดนใจใครที่ยังเป็น “สายดื่ม” วันนี้ลองชวนกันมางดเหล้า เพื่อเปลี่ยนแปลงเป็น “คุณคนใหม่” เอาชนะใจตัวเองกันดูสักที
Shares:
QR Code :
QR Code