NCDs อันตรายกว่าโควิด-19 คร่าชีวิตคนไทยวันละ 1,000 คน

ที่มา : เดลินิวส์


NCDs อันตรายกว่าโควิด-19 คร่าชีวิตคนไทยวันละ 1,000 คน thaihealth


แฟ้มภาพ


กลุ่มโรคไม่ติดต่อ (Non-communicable diseases : NCDs) ที่ประกอบด้วย โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคปอดเรื้อรัง เป็นภัยร้ายที่คุกคามชีวิตคนทั่วโลก


องค์การสหประชาชาติเคยประกาศในที่ประชุมสมัชชาใหญ่เมื่อ 19 ก.ย. 54 ให้ประเทศสมาชิกร่วมกันดำเนินการป้องกันและควบคุม เพราะกลุ่มโรคไม่ติดต่อ ไม่เพียงทำให้ประชาชนสุขภาพไม่ดีเท่านั้น แต่ยังทำให้การทำงานด้อยประสิทธิภาพ อาจทุพพลภาพหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างรุนแรง


ภัยร้ายจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อ ยังเกินกว่าภัยร้ายจากโรคโควิด-19 หลายเท่า เพราะคนเป็นโรคมีจำนวนมาก เป็นโรคเรื้อรังนานนับสิบปี การดูแลรักษาต้องใช้ทรัพยากรมาก ทั้งบุคลากร ยา และเครื่องมือ ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง


ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวว่า "กลุ่มโรคไม่ติดต่อเป็นภัยเงียบคร่าชีวิตคนไทย เป็นภัยเงียบที่ร้ายแรงกว่าโควิด-19 หลายเท่าตัว เพราะพบผู้เสียชีวิตจากโรคนี้วันละไม่ต่ำกว่า 1,000 คน คิดเป็นมูลค่ามหาศาลที่ระบบบริการสาธารณสุขต้องจ่ายเพื่อดูแลผู้ป่วย เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ยา และเครื่องมืออุปกรณ์"


กลุ่มโรคไม่ติดต่อเป็นโรคที่ป้องกันได้ หลักสำคัญของการควบคุมป้องกันคือการลดปัจจัยเสี่ยงจากการบริโภคที่ไม่จำเป็น ลดปัจจัยเสี่ยง อื่น ๆ และการส่งเสริมปัจจัยคุ้มครองที่จำเป็นต่อการป้องกันโรค


การลดปัจจัยเสี่ยงจากการบริโภคคือ ลดการกินอาหารปริมาณที่มากเกิน ลดการกินอาหารหวาน อาหารเค็มและอาหารไขมันสูง กำจัดหรือลดปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ประกอบด้วย งดการสูบบุหรี่ ลดการสูดอากาศที่มีควัน มีฝุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง PM2.5 งดการดื่มแอลกอฮอล์ ลดความโมโหฉุนเฉียว อารมณ์รุนแรง รวมถึงลดการเสพสื่อ หรือกิจกรรมนั่ง ๆ นอน ๆ ที่ทำให้อยู่เนือยนิ่งไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน เป็นต้น


การส่งเสริมปัจจัยคุ้มครองจากการเพิ่มพฤติกรรมดี ประกอบด้วย เพิ่มการขยับให้มีกิจกรรมทางกายให้เพียงพอในแต่ละวัน เดินให้มากขึ้น ให้ได้ 8,000-10,000 ก้าวทุกวัน เพิ่มการบริโภคผักผลไม้ที่ปลอดภัย และเพิ่มการพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ เป็นต้น


การควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อ นอกจากจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ ทำให้ประชาชนตระหนัก รัฐบาลจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการเสริมพลังให้ประชาชนในแต่ละชุมชนมีส่วนส่วนร่วมในการจัดการกับปัจจัยต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อ จึงได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ผลักดันขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ สู่วาระแห่งชาติ คุมเข้มอาหารหวานมันเค็ม ปรับระบบบริการผู้ป่วยวิถีใหม่ ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ตัดวงจรโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สร้างสุขภาวะที่ดี


"การให้ความรู้อย่างเดียวปรับเปลี่ยนพฤติกรรมยาก การควบคุมป้องกันโรค ต้องมีนโยบายสาธารณะ ในปี 2564 สสส.และภาคีเครือข่ายจะติดตามและขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายอย่างน้อย 4 ด้าน คือ 1.การจัดบริการผู้ป่วย ผู้ที่เสี่ยงต่อ NCDs  แบบวิถีใหม่ ลดความแออัด ลดการรอคอย และผู้ป่วยมีข้อมูลใช้ติดตามและปรับเปลี่ยนสุขภาพของตัวเองได้ 2.การควบคุมสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่ ยาเส้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารหวานมันเค็ม


3.ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ด้วยการเดิน โดยส่งเสริมการใช้รถขนส่งมวลชน พัฒนาสวนสาธารณะและทางเดินเท้าในเมืองและทุกท้องถิ่นให้ปลอดภัย เข้าถึงง่ายกับประชาชนทุกเพศทุกวัย 4.การส่งเสริมหน่วยงาน/องค์กรให้ดูแลสุขภาพบุคลากรในหน่วยงาน/องค์กร เพื่อให้ปราศจาก NCDs และเข้าสู่วัย สูงอายุอย่างมีคุณภาพ" ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 สสส. กล่าวสรุป.


 

Shares:
QR Code :
QR Code