Life Saver โปรเจคดีๆ ที่ผลิตเยาวชน มาผลิตสื่อสุขภาพส่งต่อความรู้คนรุ่นใหม่ให้เท่าทันภัย NCDs

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจาก สสส.


Life Saver โปรเจคดีๆ ที่ผลิตเยาวชน มาผลิตสื่อสุขภาพส่งต่อความรู้คนรุ่นใหม่ให้เท่าทันภัย NCDs thaihealth


"ทำอย่างไรที่เด็กรุ่นใหม่จะตระหนัก ก็ต้องเอาเด็กรุ่นใหม่มาเสนอความคิด เราอยากได้สื่ออะไรที่จะสื่อถึง เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ดูแล้วประทับใจ ดูแล้ว เชื่อว่าเป็นอย่างนี้จริงๆ" ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทย ปลอดบุหรี่ กล่าวถึงที่มาของการจัดกิจกรรม The Life Saver อบรมเชิงปฏิบัติการและการประกวดคลิปวีดีโอหนังสั้นเพื่อสร้างสุขภาพ สำหรับเยาวชน


ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังกว่า 14 ล้านคน และโรคกลุ่มนี้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี เช่น  โรคเบาหวาน ไต ความดันโลหิตสูง  ถุงลมโป่งพอง เป็นต้น ซึ่งต้นเหตุมาจากบุหรี่ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเหล่านี้


ย้ำอีกรอบด้วยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ร้อยละ 70 ของประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในขณะที่ปี 2560 พบว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังถึงร้อยละ 75 การรับมือในการเตรียมความพร้อมในการป้องกัน กลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ คือ "เยาวชน" ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักและเป็นกำลังสำคัญในการรณรงค์สร้างเสริมสุขภาพ


Life Saver โปรเจคดีๆ ที่ผลิตเยาวชน มาผลิตสื่อสุขภาพส่งต่อความรู้คนรุ่นใหม่ให้เท่าทันภัย NCDs thaihealth


"การที่จะให้เขาทำสื่อ เราต้องให้ความรู้เขา จึงจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ก่อน ว่าส่งผลเสียอย่างไร ซึ่งเราไม่ได้เน้นบุหรี่อย่างเดียว ยังมี แนวคิด ก ข ค ง กินน้อย ขยับบ่อย คลายเหล้า และงดบุหรี่ เพราะฉะนั้นเราต้องการให้ทำสื่อเพื่อจะสอนคนรุ่นใหม่ ให้ความรู้ในเรื่องเนื้อหาและสอนการถ่ายทำ จนผลิตชิ้นงานเพื่อประกวด" ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี กล่าว


Life Saver โปรเจคดีๆ ที่ผลิตเยาวชน มาผลิตสื่อสุขภาพส่งต่อความรู้คนรุ่นใหม่ให้เท่าทันภัย NCDs thaihealth

ผศ.บุญเลี้ยง แก้วนาพันธ์ ประธานสาขามีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงเทคนิคในการผลิตคลิปวีดีโอสร้างเสริมสุขภาพว่า  องค์ประกอบที่สำคัญในการผลิตวีดีโอเรื่องสุขภาพ คือ เนื้อหาข้อมูลต้องชัดเจนว่า จะสื่อสารเรื่องอะไร สุขภาพมีหลากหลาย  เช่น อยากจะพูดเรื่องบุหรี่ ต้องให้ข้อมูล ให้ครบถ้วน เพื่อให้ผู้ชมได้ตระหนัก  เพราะถ้าข้อมูลไม่ถูกต้อง จะทำให้เข้าใจผิด  องค์ประกอบถัดมาคือ ต้องสนุก มีสาระบันเทิง เพื่อให้คนดูติดตาม และคล้อยตาม แต่ถ้าดูแล้วไม่สนุก ก็ไม่ไปดูต่อ ทำให้ไม่เกิดประโยชน์อะไร


"ในครั้งนี้จะไม่คาดหวังผลงานชิ้นเอกอะไรมาก เพียงแต่อยากให้น้อง ๆ เข้าใจเรื่องการสื่อสารในเชิงสุขภาพ ให้เข้าใจบริบทว่าการสื่อสารสุขภาพต้องทำอย่างไร และให้พวกเขารู้จักการมีเครือข่ายในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงอยากเห็นโครงเรื่อง อยากเห็นความคิดของ เด็กรุ่นใหม่ว่าคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร" ผศ.บุญเลี้ยง กล่าว


Life Saver โปรเจคดีๆ ที่ผลิตเยาวชน มาผลิตสื่อสุขภาพส่งต่อความรู้คนรุ่นใหม่ให้เท่าทันภัย NCDs thaihealth

ฟากฝั่งคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมกิจกรรม ศุภทิศา รอดดารา นักศึกษาสาขาเทคโนโลยี การศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  ให้เหตุผลหลักในการเข้าร่วมกิจกรรมว่ากิจกรรมในครั้งนี้มีประโยชน์ดี และที่สำคัญตนเองเรียนด้านสุขภาพมาอยู่แล้ว จึงอยากนำความรู้มาต่อยอดพัฒนา


"ปัจจุบัน สื่อ มีความสำคัญมาก เพราะ สังคมยังขาดจุดนี้อยู่ในการสื่อสารในเรื่องที่เข้าใจยาก เพราะมีช่องว่างที่ประชาชนทั่วไปยังไม่เข้าใจมากนัก อยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเติมเต็มช่องว่างในสังคม"


การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง The Life Saver และประกวดคลิปวีดีโอหนังสั้นเพื่อสร้างสุขภาพ สำหรับเยาวชน เป็นการอบรมให้ความรู้เรื่องสุขภาพ เพื่อนำไปต่อยอดในการผลิตคลิปวีดิโอสร้างเสริมสุขภาพ ความยาวไม่เกิน  3 นาที กิจกรรมจัดขึ้น 3 วัน ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 1 กันยายน 2562 โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมอบรมกว่า 60 คน จำนวน 13 ทีม จากมหาวิทยาลัย ทั่วประเทศ


สำหรับคลิปวีดีโอหนังสั้นที่ได้รับ คัดเลือก 3 รางวัล แบ่งเป็นรางวัล ยอดเยี่ยม 1 รางวัล และรางวัลดีเด่น  2 รางวัล จะได้รับโล่รางวัลพร้อม เกียรติบัตร และผลงานจะได้รับการเผยแพร่ตามเว็บไซต์เครือข่ายและมหาวิทยาลัยภาคี


เชื่อแน่ว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมแห่งการ สร้างเสริมสุขภาพและช่วยลดสถิติ ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของไทย

Shares:
QR Code :
QR Code