“Hackathon” ไอเดียคนรุ่นใหม่ สร้างสรรค์นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ

เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก การประกวด “Hackathon on Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2022”

ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th

                  ทุกสังคมต่างล้วนมีปัญหาด้านสุขภาพที่ต้องการแก้ไขไม่มากก็น้อยแตกต่างกันไป จะดีกว่าไหม ถ้ามีใครลุกขึ้นมาสิ่งประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมต่างๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม วิถีชีวิต และสภาพแวดล้อมไปสู่สังคมสุขภาวะอย่างยั่งยืน

                  นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ปีที่ 5 “Hackathon on Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2022” โดยในปีนี้ สสส. ได้ขยายกลุ่มเป้าหมายของรางวัล Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2022 กลุ่มบุคคลทั่วไป หรือ Startup และ กลุ่มภาคีเครือข่าย สสส.  เพื่อร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ

                  “ไอเดียความคิดสร้างสรรค์เพื่อช่วยแก้ปัญหาสุขภาวะ ถ้าทำได้จริงและถูกนำไปใช้ได้จริง จะมีผู้คนได้รับประโยชน์อีกมากมาย” เป็นมุมมองของ ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สสส.

                  ดร.ณัฐพันธุ์ อธิบายว่า สสส. เห็นความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ โดยเฉพาะความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ จึงจัดการประกวดมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ จากเดิมที่เป็นกลุ่มนักเรียนสายสามัญและนักศึกษาอาชีวะ ซึ่งปีนี้ได้เพิ่มอีก 2 กลุ่ม  คือ กลุ่มบุคคลทั่วไป หรือ Startup และ กลุ่มภาคีเครือข่าย สสส. ซึ่งจัดเป็นครั้งแรก เพราะคนกลุ่มนี้ก็มีไอเดียนวัตกรรมที่น่าสนใจ และสามารถนำมาต่อยอดพัฒนาได้เช่นกัน โดยมีทีมที่สมัครกว่า 60 ทีม และผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 10 ทีม มีผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่หลากหลาย ครอบคลุมประเด็นการทำงานของ สสส. ที่ได้ขับเคลื่อนมาตลอด 20 ปี

                  โจทย์การคิดค้นนวัตกรรมแก้ปัญหาสุขภาวะ จะต้องสามารถตอบโจทย์อธิบายได้ว่ามีประโยชน์ในการสร้างเสริมสุขภาวะของผู้คนได้อย่างไร ซึ่งถ้าเป็นไอเดียก็ต้องจับต้องได้ อธิบายได้ ทำออกมาแล้วมีประโยชน์น่าเชื่อถือ มีกระบวนการที่เป็นไปได้ มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และมีคนสนใจมาลงทุนเชิงพาณิชย์จากนวัตกรรมชิ้นดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าไอเดียสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมจะทำสำเร็จหรือไม่ อยากให้ทำต่อไป อย่าจบเพียงแค่การประกวด โดย สสส. ยังมีโครงการให้ทุนพัฒนา เพื่อทำให้ผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะใช้ได้จริง” ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าว

                  ด้าน นายสวยศ ด่านบรรพต วิทยากรและผู้เชี่ยวชาญการวางแผนธุรกิจ จาก Vitamin Brain ให้มุมมองสำหรับไอเดียนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อต่อยอดสู่อาชีพและธุรกิจว่า

                  1. สิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรมนั้น ต้องแข็งแรงพอที่จะเป็นธุรกิจ

                  2. มีคนต้องการใช้งานหรือบริการนี้จริง ๆ

                  3. มีหลากหลายช่องทางที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก

                  4. นวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์นั้น ช่วยแก้ปัญหาอะไรให้กับใคร

                  5. ไอเดียความคิดสร้างสรรค์นี้ ทำได้จริงหรือไม่

                  6. คุ้มกับการลงทุนทำในเชิงธุรกิจหรือไม่

         

                  ขณะที่ นายนิพิฐพนธ์ ทองพันธุ์ จากทีม Rambler เล่าว่า มีไอเดียทำน้ำปั่นผักผลไม้ออร์แกนิก จำหน่ายผ่านตู้ Vending Machine โดยวัตถุดิบทั้งหมดมาจากเครือข่ายเกษตรกรท้องถิ่นซึ่งปลูกผักและผลไม้อินทรีย์แบบผสมผสานตามฤดูกาล โดยทุกเมนูถูกคิดค้นร่วมกับนักโภชนาการและนักกำหนดอาหาร 5 เมนู โดยมีเครือข่ายเกษตรกรมากกว่า 20 ครัวเรือนจากจังหวัดนครปฐมและสุพรรณบุรี มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ กลุ่มคนอายุ 20-35 ปี ในกรุงเทพฯ และมีทดลองขายผ่านหน้าร้านและบริการ Delivery และทดลองขายผ่าน Vending Machine สำหรับคนเมือง เพื่อให้มีการกินผักมากขึ้น

         

                  ส่วน นายวชิรวิทย์ อินทิม จากทีม Hope อธิบายว่า COPE & TRASH เป็นแอปพลิเคชันที่รับมือและจัดการเกี่ยวกับปัญหาขยะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะรีไซเคิล หรือขยะอันตราย แอปพลิเคชันจะให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ การแปรรูปขยะ และการจัดการขยะ รวมทั้งบริการ Cleaner man (ผู้รับซื้อขยะ) กลุ่มเป้าหมายคือ ชุมชนเคหะออมเงิน เขตสายไหม กรุงเทพฯ

         

                  ด้าน นายประสิทธิ์ ป้องสูน จากทีมฟาร์มเก๋า เล่าว่า มีไอเดียทำชุดโรงเรือนขนาดเล็กติดตั้งง่าย พร้อมระบบรดน้ำอัตโนมัติและอีก 3 บริการเสริมที่จะช่วยให้กิจกรรมปลูกผักธรรมชาติกลายเป็นกิจกรรมฟาร์มบำบัด ได้แก่ ร้านค้าออนไลน์เฉพาะสมาชิก พี่เลี้ยงเกษตรกร ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ ด้วยมาตรฐาน SDGs PGS และตลาดสินค้าออร์แกนิกสำหรับเป็นช่องทางขายผลผลิต กลุ่มเป้าหมาย ผู้สูงอายุ กลุ่มคนตาบอด ที่สนใจทำเกษตรอินทรีย์ หรือหน่วยงานที่ดูแลและสนับสนุนกิจกรรมผู้สูงอายุในจังหวัดปทุมธานี         

                  นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่น่าสนใจ ได้แก่ Care Seat แพลตฟอร์มการยืมใช้หรือระดมคาร์ซีทมือสองที่มีคุณภาพดีมาจัดตั้งเป็นคลังคาร์ซีต สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี หรือมีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร โดยให้ผู้ปกครองที่มาใช้บริการ ณ โรงพยาบาลสามารถยืมใช้คาร์ซีตที่เหมาะกับอายุ น้ำหนักและส่วนสูงของเด็ก ซึ่งคาร์ซีตที่อยู่ในคลังจะมีการตรวจสอบคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ มีการแนะนำวิธีการติดตั้งและวิธีการใช้ กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ใช้บริการโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น

                  ทีม SafeTrip ระบบนำทางที่ช่วยแจ้งเตือนอุบัติเหตุล่วงหน้าแก่ผู้ขับขี่ โดยนำข้อมูลอุบัติเหตุจากทั่วประเทศมาวิเคราะห์ เพื่อหาจุดเสี่ยงอุบัติเหตุที่จะใช้แจ้งเตือนผู้ขับขี่ด้วยหลักการ Road Safety ด้านวิศวกรรมจราจร ได้แก่ ป้าย เครื่องหมายจราจร และข้อมูล GIS

                  ทีม Khun car จัดทำ Application Khun car (คุณคาร์) ใช้งานคู่กับผู้ที่มี QR Code จากป้ายภาษีรถยนต์ ในการเริ่มต้นผู้ขับขี่ทุกท่านจะได้รับโมเดลรถมาตรฐานและคะแนน 100 คะแนนทุกคัน หลังจากนั้นจะบวกลบเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมการขับขี่และวินัยจราจร ผู้ใช้งานสามารถแจ้งเบาะแสการทำผิดกฎจราจรด้วยการถ่ายภาพ หรือบันทึกภาพถ่ายที่เห็นป้ายทะเบียนชัดเจน

                  เชื่อว่าไอเดียนวัตกรรมสร้างสรรค์เหล่านี้ จะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาวะที่นับวันยิ่งจะมีความซับซ้อนได้อย่างเป็นรูปธรรม สสส. และภาคีเครือข่าย ขอสนับสนุนทุกนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้คนไทยทุกคนมีสุขภาวะดี

Shares:
QR Code :
QR Code