Gen A อาสาแก้ปัญหาขยะยั่งยืน
“Gen A” อาสา สร้างนวัตกรรมทางปัญญา แก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืน
ปัญหาขยะล้นเมืองถือเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้นๆของประเทศไทยและเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยสถิติในการทิ้งขยะในปี 2558 มีมากถึง 49,680 ตันต่อวัน หรือ 17.8 ล้านตันต่อปี ปัญหานี้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่คนส่วนใหญ่มองข้ามและละเลย จึงเป็นเหตุให้สิ่งแวดล้อมเสียสมดุล ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งขยะจากภาคอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน รวมถึงภาคเกษตรกรรม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทุกคนต่างรับรู้เป็นอย่างดี แต่ยังไม่มีใครให้ความสำคัญและลงมือแก้ไขปัญหาขยะอย่างจริงจังเสียที
ด้วยเหตุนี้เยาวชนนักคิดจิตอาสา จากโครงการ “เชียงของเรนเจอร์” นักเรียนโรงเรียนเชียงของวิทยาคม และ โครงการ “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน ร่วมช่วยชุมชนแก้ไขปัญหาขยะ” นักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา ผู้ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาขยะและพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยทั้ง 2 โครงการนี้เป็นตัวแทนจากภาคเหนือที่ผ่านการคัดเลือกให้เป็น 28 โครงการทั่วประเทศ พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมและผลักดันให้เป็นวาระที่สังคมยอมรับและเห็นคุณค่าของพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น
โครงการ “เชียงของเรนเจอร์” และ โครงการ “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน ร่วมช่วยชุมชนแก้ไขปัญหาขยะ” นี้ เป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย Gen A : Active Citizen “รวมพลคนรุ่นใหม่หัวใจอาสา” ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิธรรมดี เพื่อเฟ้นหาโครงการจิตอาสาต้นแบบเปลี่ยนประเทศ
หัวหน้าโครงการ เชียงของเรนเจอร์ “น้องฟิวส์” หรือ นายธนวัฒน์ สุวรรณทา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเชียงของวิทยาคม เล่าว่า ปัญหาขยะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกพื้นที่ ทั้งในบ้าน โรงเรียนไปจนถึงชุมชน โดยทางโรงเรียนเชียงของวิทยาคมในโครงการเชียงของเรนเจอร์ ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะภายในโรงเรียนเป็นอันดับแรก ซึ่งผมมีความเชื่อว่าปัญหาขยะนั้นแก้ยาก แต่สามารถแก้ได้ โดยไม่ใช่วิธีการบังคับให้นักเรียนลงมือทำแล้วจบไป เพราะโครงการของเราจะเน้นให้ทุกคนเห็นถึงคุณค่าของขยะทุกชนิดโดยการเปลี่ยนขยะเป็นเงินและนำเงินนั้นไปทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ซึ่งเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกในการรักสิ่งแวดล้อมและรู้จักการให้อย่างแท้จริง นอกจากนั้นเรายังส่งต่อความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านขยะไปสู่โรงเรียนบริเวณใกล้เคียงเพื่อสร้างพฤติกรรมการทิ้งขยะที่ถูกต้อง โดยโครงการเชียงของเรนเจอร์ถือเป็นโมเดลต้นแบบในเรื่องการจัดการขยะให้กับโรงเรียนอื่นๆได้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวมต่อไป
“แรงบันดาลใจแรกในการคัดแยกขยะภายในโรงเรียนของเราเริ่มมาจากการสะสมแสตมป์ โดยให้นักเรียนในโรงเรียนนำขวดพลาสติกมาแยกแล้วจะได้รับแสตมป์ เมื่อสะสมแสตมป์ครบ 50 ดวงก็จะได้รางวัลเป็นกระติกน้ำ กล่องข้าวลายลิขสิทธิ์ต่างๆ โดยมีผลตอบรับเป็นอย่างดี จึงเป็นที่มาของโครงการนี้และเมื่อพลาสติกเรนเจอร์ประสบความสำเร็จ ก็ขยายผลเป็น เปเปอร์เรนเจอร์ ทีชเชอร์เรนเจอร์ สติวเดนท์เรนเจอร์ ซึ่งแต่ละเรนเจอร์ก็จะมีกิจกรรมแตกต่างกันไป จึงมีชื่อรวมเพื่อจัดการกับปัญหาขยะทุกประเภท เรียกว่า “ซีเค เรนเจอร์”
“จุดเชื่อมต่อระหว่างของรางวัลกับจิตอาสาเกิดขึ้นเมื่อทางโครงการได้เปลี่ยนแนวคิดจากการแยกขยะเพื่อหวังของรางวัลเป็นการให้เด็กทุกคนในโรงเรียนมีส่วนร่วมในการแยกขยะอย่างจริงจัง เริ่มจากการแยกภายในห้องเรียนโดยแต่ละห้องจะมีอาสาสุขภิบาลทำหน้าที่รับผิดชอบถังรีไซด์เคิลขยะทั้ง 3 ถัง ได้แก่ ถังกล่องนม ถังกระดาษและถังพลาสติก แล้วนำไปแยกที่ ซีเค เรนเจอร์ นอกจากนั้นนักเรียนแต่ละคนจะมีเขตพัฒนาเป็นของตัวเอง ในทุกวันพฤหัสบดีทุกคนจะต้องทำความสะอาดพื้นที่ของตนบริเวณรอบโรงเรียนก่อนเข้าแถว แล้วรวบรวมขยะที่ได้นำไปรวมกันเพื่อขาย ซึ่งเงินที่ได้จากการขายขยะจะถูกเก็บเป็นบัญชีและประกาศหน้าเสาธงเพื่อให้เด็กทุกคนรับทราบทั่วกันและในวันสำคัญตัวแทนโรงเรียนจะนำเงินนั้นไปบริจาคให้กับผู้ยากไร้ หรือ ซื้อของให้กับคุณตา คุณยายตามโรงพยาบาลเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับท่าน แต่สิ่งที่ทำและมีคุณค่ามากกว่าเงินหรือสิ่งของนั่นคือการได้รับคำอวยพรจากผู้ใหญ่ที่รู้สึกปลื้มใจที่มีคนเห็นความสำคัญของตน สิ่งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจและเป็นการปลูกฝังการกระทำเพื่อผู้อื่น โดยจุดประสงค์ของโครงการเชียงของเรนเจอร์นั้นจะเน้นในด้านการปลูกฝังนิสัยการรักษ์สิ่งแวดล้อมจากการเห็นคุณค่าของขยะและสอนให้เป็นผู้มีจิตอาสาเพื่อสังคมอย่างแท้จริง”
นอกจากผลงานด้านสิ่งแวดล้อมของน้องๆโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาแล้วยังมีนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับปัญหาขยะในชุมชนและพร้อมเป็นผู้ริเริ่มนโยบายเกี่ยวกับระบบการจัดการขยะบริเวณชุมชนและวัด เพื่อปรับพฤติกรรมในการทิ้งขยะของชาวบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสังคมรอบข้าง จากโครงการ ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน ร่วมช่วยชุมชนแก้ไขปัญหาขยะ
นางสาวกัญปมน เชน หรือ “น้องเฟิร์น” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยพะเยา หัวหน้าโครงการ ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน ร่วมช่วยชุมชนแก้ไขปัญหาขยะ เผยว่า มหาวิทยาลัยของเรามีปณิธานในการเป็น “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” ซึ่งเป็นการให้นิสิตได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างให้นิสิตมีจิตอาสาพัฒนาชุมชน โดยโครงการของเราได้เลือกพื้นที่ชุมชนบ้านสันจกปก ตำบลดอกคำใต้ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เป็นพื้นที่สำรวจเชิงกายภาพและเห็นถึงปัญหาในด้านการจัดการขยะมูลฝอยเป็นปัญหาสำคัญของชุมชน ซึ่งปัญหาขยะที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะองค์การบริหารส่วนตำบลดอกคำใต้ยังไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการจัดการขยะในบริเวณนี้ ทำให้ชุมชนไม่ได้มีสวัสดิการด้านรถขยะ ชาวบ้านจึงจัดการขยะด้วยวิธีของตนเอง เช่น การเผาทำลาย การฝังกลบหรือแม้แต่การนำขยะไปทิ้งบริเวณข้างวัด ส่งผลให้สภาพแวดล้อมภายบริเวณวัดมีขยะจำนวนมากและไม่สามารถย่อยสลายได้ทันซ้ำยังส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชนอีกด้วย
“หลังจากที่ได้พูดคุยกับชาวบ้านเราจึงทราบถึงความต้องการที่แท้จริงนั่นคือ ชาวบ้านต้องการพื้นที่สำหรับทิ้งขยะในชุมชน เพราะไม่มีคนเก็บและไม่มีบริเวณที่กำจัดขยะอย่างเหมาะสมสักที จึงนำขยะไปทำลายด้วยการเผาทิ้งหรือนำไปทิ้งบริเวณข้างวัด เหตุนี้ทำให้ชุมชนเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชนที่มีตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุในระยะยาว”
“โครงการของเราจึงวางแผนการแก้ปัญหาเป็นขั้นตอน เริ่มตั้งแต่พูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไปจนถึงการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านให้มีความเข้าใจในการคัดแยกขยะ รวมถึงการจัดการขยะให้ใช้ประโยชน์ได้ในหลายๆด้าน เช่นการจัดอบรมการเรียนรู้ร่วมกันและการประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ชุมชน เกี่ยวกับการจัดการขยะรีไซเคิลที่สามารถนำไปขายหรือกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น การแยกขวดพลาสติกออกจากฝา ซึ่งสามารถแบ่งขายได้ในราคาที่ต่างกับขายทั้งขวด การจัดการขยะอินทรีย์ที่นำเศษอาหารหรือใบไม้ไปหมักเป็นปุ๋ยเพื่อใช้บำรุงต้นไม้ได้ การจัดการขยะอันตราย เช่น แบตเตอรี่โทรศัพท์ควรรวบรวมไว้แล้วส่งให้โรงงานผู้รับบริการกำจัดสิ่งปฎิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เป็นต้น นอกจากจะให้ความรู้แล้วเรายังอธิบายให้เห็นถึงโทษของการทำลายขยะผิดวิธีที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนในระยะยาวอีกด้วย โดยผลตอบรับจากชาวบ้านเป็นที่น่าพอใจและพร้อมให้ความร่วมมือ เพื่อให้ชุมชนมีโมเดลการจัดการขยะที่ดีและสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม”
ขยะ เป็นปัญหาที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ เมื่อสร้างสิ่งใดแล้วสิ่งนั้นหมดประโยชน์ก็กลายเป็นขยะที่ไร้ค่า ในปัจจุบันที่โลกต้องเผชิญภัยพิบัติมากมาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมนุษย์ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างตั้งใจ เพียงแค่คำว่า “ไม่ใช่หน้าที่ของตน” แต่ยังมีพลังเล็กๆที่อาสาสร้างจิตสำนึกใหม่ในการรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่จะทำให้โลกน่าอยู่มากยิ่งขึ้น เห็นแล้วว่าแม้เยาวชนของชาติที่ยังขาดทุนทรัพย์ในการทำความดีแต่ไม่ขาดปัญญาและความเป็นจิตอาสาเพื่อตอบแทนสังคม โครงการ Gen A ขอเป็นอีกหนึ่งพลังที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศให้ประเทศไทยเป็นเมืองแห่งสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา: สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ