Gen นี้ Me ‘สื่อ’

       เมื่อความเป็น Gen Me แฝงอยู่ในทุก Generation การเล่าปัญหาในสังคมให้  "เข้าถึง"  จึงต้องมีอะไรที่มากกว่า “ข้อมูล”


/data/content/25931/cms/e_aefjmnstxyz1.jpg


      ด้วยแรงดึงดูดบางอย่างจากโลกไร้พรมแดน ทำให้คนบางกลุ่มไม่อาจละสายตาจากจอสี่เหลี่ยมได้ หรือด้วยพฤติกรรมที่คนยุคนี้ถูกมองว่า มักจะสนใจแต่เรื่องหยาบๆ ทำให้คนบางกลุ่มไม่จดจ่ออยู่กับเรื่องยากๆ ได้นาน อาการที่พร้อมจะเปลี่ยนไปตามปัจจัยรอบตัวเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิสัยแบบ Gen Me ที่กลายเป็นพฤติกรรมที่นักการสื่อสารการตลาดคอยจับตามอง เมื่อมองเห็นทะลุในบางอย่างก็มักจะเกิดสื่อหลายรูปแบบตอบสนองอาการเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อโฆษณาในเฟซบุ๊ค เกมชิงรางวัลในโลกโซเชียล การสร้างกราฟฟิก คำคมแฝงโลโก้ในเพจสินค้า ทั้งนี้เพื่อให้ “เข้าถึง” กลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุดไม่ใช่แค่การตลาด


      พฤติกรรมของคนยุคนี้ ได้ทำให้ “การเล่าปัญหาในสังคม” ต้อง “มีดี” พอที่จะเข้าถึงใจของผู้รับสารรุ่นใหม่ให้ได้ด้วยตีสนิทกลุ่มเป้าหมาย จากพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น Gen X Gen Y (ที่มักมีพฤติกรรมแบบ Gen Me แฝงอยู่) ทำให้การบอกเล่าปัญหาสังคมได้ใช้ “สื่อดิจิทัล” มานานพอสมควร แต่สิ่งที่ต้องทดลองอยู่เรื่อยๆ ก็คือ “วิธีการเล่า” เมื่อคนยุคนี้ให้เวลากับการใช้สายตาไล่อ่านข้อมูลที่ซับซ้อนน้อยลง การเล่าเรื่องยุคนี้ก็ต้องย่อเรื่องราวให้สั้น ใช้สัญลักษณ์เก๋ๆ หรือไม่ก็ตกแต่งหน้าตาให้น่าสนใจ


      ที่ผ่านมา การรณรงค์ต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์จะไม่เป็นกระแสใหญ่ ถ้าไม่มีการสื่อสารกันผ่านเพจ ใช้การเปลี่ยนรูปประจำตัวในเฟซบุ๊คเป็นเหมือนบัตรเชิญชวนให้ทุกคนเห็นได้ถี่ๆ จนหลายคน (รวมไปถึง Gen Me ที่ถูกมองว่า สนใจแต่เรื่องตนเอง) รับรู้เรื่องข้อดีข้อเสียของเขื่อน และกลายเป็นผู้ร่วมรณรงค์ ทั้งๆ ที่มูลนิธิสืบฯ ทำงานด้านนี้มากว่า 20 ปี


 /data/content/25931/cms/e_ehlsvwyz4569.jpg    ย้อนกลับไป ช่วงสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ ความน่ารักของปลาวาฬสีฟ้าที่อยู่ในคลิปแอนิเมชันของกลุ่ม “รู้สู้ flood” ทำให้เกิดการรับข้อมูลที่จำเป็นสำหรับใช้ชีวิตในภาวะวิกฤต คลิปถูกแชร์ให้กันมากมายเพราะน่าสนใจกว่าการบอกเล่าผ่านสื่อกระแสหลัก


     ไม่เว้นแม้แต่การผลิตงานศิลปะเพื่อสะท้อนปัญหาที่มีอยู่ในสังคม การเล่าเรื่องราวเหล่านี้ได้ขยับไปสู่การใช้วิธีการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย เพราะเชื่อว่าหากเล่าเรื่องแบบเดิมๆ จะไม่ทำให้คนหันมาสนใจ โดยเฉพาะกับ Gen Me กลุ่มที่มักถูกมองว่า โลกทั้งใบต้องหมุนตาม Gen me แบบที่ไม่สนใจอาณาบริเวณโดยรอบ การทำงานโดยเพื่อคนกลุ่มนี้จึงต้องเป็นอะไรที่ต้องเข้าไปในวงโคจรนั้นและตีสนิทได้รวดเร็ว


     ภัทร เตกิตติพงษ์ นิสิตปีที่ 3 คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่สร้างผลงานชื่อ “ลับรู้” เพื่ออธิบายปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยด้วย “เกม” โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็น “นักเรียนมัธยม” บอกว่า การที่สื่อสมัยนี้เปลี่ยนไป ก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องเปลี่ยนตามคนที่จะคุยด้วย


     “วัยรุ่นตอนนี้ ถ้าเราพูดถึงตรงๆ เราให้เขาดูข้อมูลอย่างเดียว เขาก็จบไป พวกเราก็เลยคิดว่า ทำยังไง วัยรุ่นถึงจะมาสนใจ ก็เลยต้องสร้างอะไรสักอย่างเพื่อที่จะให้มีส่วนร่วมด้วยได้ ใส่ความคิดเห็นเขาเองเข้าไปได้ หรือว่าเล่นกับมันได้ ก็เลยออกมาเป็นลักษณะที่ให้คนเข้าไปยุ่งกับมันได้ มีเกมให้เข้าไปทำอะไรบางอย่าง เสร็จปุ๊บ ก็จะให้ข้อมูลจริงๆ กับเขาในลักษณะเป็นอินโฟกราฟฟิก”


     ผลงานของนักศึกษากลุ่มนี้อธิบายการคอร์รัปชันโดยใช้ภาพวาดเล่าเรื่อง และมีการทดสอบความรู้สึกโดยให้ผู้ชมงานค้นหา “คนโกง” ที่แฝงตัวอยู่ในภาพวาดภายในกล่องสี่เหลี่ยมที่ดูด้านนอกอาจจะมองเป็นกล่องธรรมดา จากนั้นก็ให้ช่วยกันวาดภาพตัวเองลงในกระดาษเป็นสัญลักษณ์แทนเมืองใหม่ที่ปราศจากการโกง พร้อมลงรูปเหล่านั้นในอินสตราแกรมหรือเฟซบุ๊ค เพื่อให้คนอื่นในโลกโซเชียลได้ “ลับรู้” ปัญหานี้ไปพร้อมกัน


     กัญญลักษณ์ เจริญพิมลกุล นักศึกษาที่รวมสร้างผลงานชิ้นนี้ อธิบายเสริมว่า ก่อนจะเริ่มผลิตงานต้องเก็บข้อมูลก่อนว่านักเรียนมัธยมฯ สนใจทำอะไร ซึ่งก็เป็นจริงตามข้อสันนิษฐานว่า เด็กกลุ่มนี้นั้น “สนใจตัวเอง” อยากแสดงความเป็นตัวเอง ไอเดียของการลงรูปพร้อมติดแฮชแท็ก (hashtag) จึงเกิดขึ้นเพราะเห็นว่าทุกคนมีพื้นที่ในโซเดียลมีเดียที่พร้อมจะบอกว่าตัวเองเป็นใคร แต่ในการ “เล่น” นั้นต้องไม่ลืมที่จะให้ขั้นตอนสำคัญก็คือ การให้ข้อมูลโดยสรุปให้น่าสนใจ


     “ด้วยข้อมูลที่มันมีค่อนข้างมาก บางทีเราอยากให้เขาเข้าใจด้วยการอ่านแค่ไม่กี่นาที เพราะว่าถ้าเกิดเราเอาหนังสือให้เขาเล่มหนึ่งเขาคงไม่อ่าน ก็เลยต้องย่อให้เป็นตัวอักษรสั้นๆ ให้มันเข้าใจง่ายที่สุด แล้วก็มีภาพประกอบ


      งานเราเลยเป็นเหมือนบัตรเชิญที่นำไปสู่ข้อมูลใหญ่ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเรา เขาไม่มีทางเห็นข้อมูลตรงนั้นได้ เราต้องมาทำให้เขาสนใจก่อน และค่อยๆ ป้อนทีละนิด” สาริณ สถิรพิพัฒน์กุล นิสิตในกลุ่มร่วมอธิบาย และเห็นว่า แม้งานของเขาจะเป็นงานเชิงทดลอง แต่ก็เป็นวิธีการสื่อสารที่ดีกว่าใช้สื่อหนักๆ หรือรุนแรงกว่านี้


     “แต่งตัว” ให้ข้อมูล


      นอกจากโลกออฟไลน์ หลายงานทั้งจากผู้ผลิตที่เป็นศิลปินตัวจริง และสมัครเล่นได้สร้างขึ้นเพื่อบอกเล่าปัญหาผ่านโลกออนไลน์ เพจในโซเชียลเน็ตเวิร์คหลายเพจเกิดขึ้นเพื่อเชื่อมโยงปัญหากับคนให้รู้สึกใกล้ตัวมากขึ้น คลิปแอนิเมชันจับข้อมูลที่เป็นปัญหามาเล่าให้ง่ายขึ้นจนคนกดดูเรื่อยๆ อินโฟกราฟฟิกที่ให้ข้อมูลสะท้อนปัญหาสังคมถูกแชร์ต่อจนเกิดการรณรงค์เคลื่อนไหวจริงๆ เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะ “วิธีการ” ที่โดนใจและเข้าถึงผู้รับสาร


     ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Creative Move และผู้เริ่มสร้างอินโฟกราฟฟิกเพื่อกระตุ้นให้คนเห็นปัญหาที่อยู่รอบ/data/content/25931/cms/e_deghmprsv248.jpgตัว ทั้งเรื่องประเด็นปัญหาสังคม การศึกษา สิ่งแวดล้อม สุขภาพ มองว่า อินโฟกราฟฟิกจะช่วยให้คนเข้าใจปัญหาได้ง่ายขึ้น และสามารถทำให้เกิดการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงร่วมกันได้


      “ในต่างประเทศมันมีมาตั้งนานแล้ว แล้วเพิ่งมาถึงไทยเมื่อไม่นานมานี้ หลักๆ ที่เห็นก็จะเป็นช่วงน้ำท่วม ที่มี คลิปปลาวาฬ บอกวิธีการอพยพออกจากบ้าน จากนั้นเราก็เริ่มมองว่า อินโฟกราฟฟิกมันน่าจะทำให้คนเห็นปัญหา สังคม สิ่งแวดล้อมได้ เราก็เลยศึกษาการทำอินโฟกราฟฟิก เพื่อที่จะมาทำข้อมูลให้คนรู้” โดยก่อนจะสร้างอินโฟกราฟฟิกที่เล่าเรื่องหนึ่งเรื่องต้องผ่านการศึกษาข้อมูล จนไปสู่ขั้นตอนของการสร้าง “หน้าตา”ของสารที่ต้องน่าสนใจ


       “มีการวิเคราะห์ก่อนว่า จะทำอินโฟกราฟฟิกแต่ละชิ้นจะทำยังไง ให้คนมีขนาดตัวหนังสือของข้อมูลในพื้นที่ขนาดที่เรากำหนดไว้ แล้วก็มูลต้องไม่แน่นเกินไป จนคนไม่อยากอ่าน รูปร่างน่าสนใจ ดูแล้วสบายตา ต้องมีสีหลักๆ 2-4 สี รูปกราฟฟิกน่าสนใจ” เจ้าของไอเดียอินโฟกราฟฟิกเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม อธิบาย  


 /data/content/25931/cms/e_acghknwyz478.jpg ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ นักเขียนการ์ตูนวัย 24 เจ้าของนามปากกา “สะอาด” เป็นคนหนึ่งที่หันมาจับประเด็นเชิงสังคมมากขึ้น โดยใช้ “แก๊ก” ที่เขาถนัด เพราะเขาเห็นถึงความสำคัญของสื่อในมือตัวเอง เรื่องราวผ่านภาพของสะอาดจึงไม่ได้มีแค่เรื่องความรัก ความฝัน แต่ยังเพิ่มการเล่าเรื่องปัญหาของการศึกษา การเมือง สิ่งแวดล้อม เพศศึกษา สื่อ ศาสนา หรือตามกระแสสังคมที่ปนไปกับ “ความตลก” ซึ่งบรรดาแฟนการ์ตูนของเขาก็มีตั้งแต่เด็กมัธยมฯ ไปจนถึงคนทำงาน


      “เราเกิดความเข้าใจว่า การ์ตูนของเราเองคือสื่อหนึ่ง และเพจของเราก็คือพื้นที่สำหรับสื่อสารกับสาธาณะรูปแบบหนึ่ง เราก็อยากให้การ์ตูนเป็นพื้นที่ที่อาจจะชวนให้คนได้คิดถึงประเด็นปัญหาต่างๆ มากขึ้น และปัญหาเหล่านี้ อาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่สื่อกระแสหลักหยิบขึ้นมาพูดเท่าไร แต่บางทีมันก็เป็นความอัดอั้นของเราที่มีสังคมส่วนหนึ่งด้วย เลยต้องปลดปล่อยออกมาผ่านการ์ตูน เพียงแต่พยายามจะนำเสนอให้มันมีชั้นเชิง และระมัดระวังเรื่องอคติมากขึ้น”


สะอาดยังเห็นว่า พื้นที่ครึ่งหน้ากระดาษของแก๊กที่มีจำกัดเหมาะกับการหยิบประเด็นทางสังคมมาเล่า โดยที่คนจะเข้าใจประเด็นเหล่านั้นได้เร็ว ยิ่งถ้าได้แชร์แก๊กนั้นผ่านเพจก็จะเข้าถึงคนได้ง่ายกว่า เร็วกว่า และสื่อสารกับคนจำนวนมากได้ในทันที


     สร้าง “สื่อของฉัน”


      นอกจากจากพฤติกรรมของผู้รับสารที่ทำให้ “วิธีการ” สื่อสารปรับเปลี่ยนไป “มุมมอง”ต่อสื่อของผู้ผลิต โดยเฉพาะที่เป็นคนรุ่นใหม่ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน กรณีนี้ รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ที่ทำงานกับคนรุ่นใหม่ที่สร้างสื่อเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม (Active Citizen and Media for change) มองว่า คนรุ่นใหม่มองสื่อต่างจากเดิม โดยสื่อที่เขาจะทำได้ คือ “My Media” ที่มีตัวเองเป็นเจ้าของ


     “โดยภาพรวม ความต่างก็คือว่า เขาจะใช้หลายช่องทางมากขึ้น แล้วที่สำคัญก็คือว่า มันจะเป็นสื่อที่สะท้อนความเป็นตัวตนของเขา เป็นสื่อของเขา เมื่อก่อนนี้ เวลาเราพูดถึงสื่อมันก็คือสื่อของสาธารณะ สื่อของมวลชน แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ เขาเรียกว่า สื่อของฉัน ที่เป็นตัวตนของเขา คำว่า สื่อของฉันก็คือสื่อที่เขาครีเอทขึ้นได้ด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นโซเชียลมีเดียในรูปแบบต่างๆ ฉะนั้นช่องทางในการรับ ในการแลกเปลี่ยนหรือในการสร้างเนื้อหาก็จะผ่านทางช่องทางที่เขาคิดว่าเป็นสื่อของเขาเอง”


      ผู้ดูแลโครงการ Active Citizen and Media for change ให้ข้อมูลว่า เรื่องที่คนรุ่นใหม่สนใจจะหยิบขึ้นมาเพื่อบอกสังคมมักจะมองจากตัวเองเป็นหลัก เช่น ทำไมเขาต้องเสี่ยงกับความไม่ปลอดภัยของอาหาร ทำไมเขาต้องโดยสารรถสาธารณะที่ไม่มีคุณภาพ ทำไมเขาต้องอยู่บนถนนที่ไม่รู้ว่ามันจะเกิดอุบัติเหตุเมื่อไร ทำไมเขาต้องซื้อของแพง ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้นี่แหละที่จะถูกบอกเล่าผ่านสื่อของเขาเอง


  /data/content/25931/cms/e_cilmqrtvwy47.png   “คนสมัยนี้ คนปัจจุบัน เขานิยมดูคลิป ดูจากยอดวิว คลิปวิดีโอในเฟซบุ๊ค คนไลค์เป็นหมื่น เป็นแสน เช้าๆ ในรายการข่าวก็เอาคลิปวิดีโอมาออก ก็เลยคิดว่า ถ้าเราทำวิดีโอเองน่าจะถึงคนได้เร็วที่สุด เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ดูยูทูป ใครๆ ก็มีเฟซบุ๊ค มันน่าจะทันสมัยแล้วก็ถึงกลุ่มเป้าหมายของเราดีที่สุด” ธิติพงศ์ ทั่งทอง นักศึกษาปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร จากทีมสร้างสื่อ “คัดผัก” เล่า


      ธิติพงษ์ บอกว่า พวกเขาอยากสนับสนุนเกษตรกรที่ปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์จึงพูดถึง “ผัก” ในรูปแบบอินโฟกราฟฟิกที่รวบรวมการรับรองตราของผักที่ได้มาตรฐาน อย่างเช่น ผักปลอดสาร ผักไฮโดรโพนิคส์ ผักออร์แกนิค และทำแอนิเมชัน “ปลุกผัก”เพื่อให้คนรู้ข้อมูลเชิงลึกของผัก โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ คนวัย 25-50 ปี เพราะว่าคนวัยนี้จะเป็นกลุ่มที่ซื้อผัก และก็เป็นกลุ่มคนที่เล่น “โลกโซเชียล” ทำให้สื่อสารถึงง่าย


     “มันเป็นความเปลี่ยนแปลง ค่านิยมความสนใจ แล้วก็แนวโน้มของเทคโนโลยีของการสื่อสารด้วย หัวใจสำคัญก็คือต้องทำให้เขาสร้างแรงบันดาลใจด้วยตัวเอง แล้วก็อาจจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจไปเรื่อยๆ เพราะโอกาสที่มันจะมอดก็มีเพราะเด็กรุ่นนี้มีวัฒนธรรมของเขาที่จะไม่ยึดติดอยู่กับอะไรนานๆ พวกงานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ น่าจะเป็นตัวจุดประกายที่น่าสนใจ


     ฉะนั้นใครก็ตามที่อยากจะชวนเด็กรุ่นใหม่ แล้วเตรียมเขาเพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้นำ อาจจะใช้วิธีเดิมๆ ไม่ได้แล้ว” รศ.ดร.วิลาสินี ผู้ทำงานกับคนรุ่นใหม่ ให้ความเห็น


     สื่อรุ่นใหม่ โดยคนรุ่นใหม่ เพื่อคนรุ่นใหม่ อาจจะต้องหาวิธีการที่โดนใจสักหน่อย เพื่อบอกเล่าปัญหาในสังคมแต่วิธีการแบบนี้นี่แหละที่จะช่วยสร้างแรงกระเพื่อมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า


 


 


      ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ


      ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code