FeelFit ตัวช่วยสำคัญ ลด ‘พฤติกรรมเนือยนิ่ง’
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
แฟ้มภาพ
'พฤติกรรมเนือยนิ่ง' นับว่าเป็นพฤติกรรมเสี่ยงของคนไทย ที่นำมาสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs)และกำลังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมากในปี 2557 มีประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังถึง 36 ล้านคน หรือร้อยละ 63 ของการเสียชีวิตจากประชากรโลกทั้งหมด
ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The6th International Congress on Physical Activity and Health2016:ISPAH2016Congress)โดยมี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม มีผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกายระดับโลก เข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน จากกว่า 80 ประเทศ ภายในงาน ได้มีการแถลงข่าวเปิดตัว นวัตกรรมเครื่องวัดกิจกรรมทางกาย "FeelFit" ซึ่งเป็นที่ตื่นตาตื่นใจของผู้ร่วมงานอย่างมาก
ท่ามกลางสถานการณ์ด้านพฤติกรรมของคนไทยที่น่าเป็นห่วงนี้สสส.ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลิตเครื่องวัดระดับกิจกรรมทางกายขึ้นโดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. สะท้อนข้อมูลว่า ปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งในสัดส่วนที่สูงขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจในปี 2558 ที่ผ่านมาพบว่าคนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 13.54 ชม. พฤติกรรม4 อันดับแรกคือ นั่งดูโทรทัศน์ นั่งประชุม นั่งทำงาน/นั่งเล่นเกม และนั่งจดจ่อกับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่นำมาสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อันมีผลร้ายต่อร่างกายยิ่งกว่าการสูบบุหรี่ และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนไทยลุกขึ้นขยับเขยื้อนร่างกาย หันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง จึงต้องมีตัวช่วยที่เป็นเครื่องมือที่ทันสมัย ตอบโจทย์การมีกิจกรรมทางกายของคนไทย และนับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของคนไทยที่ผลิตเครื่อง FeelFit ตัว ช่วยวัดกิจกรรมทางกาย ตามหลักมาตรฐานสากล
ด้าน ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสาร องค์กรและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดเครื่อง FeelFit ว่า 1. FeelFit จะเป็นตัวช่วยของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สามารถดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้ โดยการออกกำลังกายด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาอาการป่วยให้ดีขึ้นเครื่อง FeelFit จะทำหน้าที่เป็นสายตาของแพทย์ที่ดูแลและกระตุ้นเตือนผู้ป่วย 2.การรำไทย หรือการแสดงของไทยนั้นนอกจากเป็นการแสดงเอกลักษณ์ประจำชาติที่งดงามแล้ว ยังเป็นกิจกรรมทางกายที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งไม่แพ้การเต้นแบบต่างชาติเลย เพียงแต่ในประเทศไทยยังไม่มี การวิจัยหรือการวัดผลค่ากิจกรรมทางกายที่แน่นอน 3.การละเล่นของไทยไม่ว่าจะเป็นเล่นซ่อนหา รีรีข้าวสาร หมากเก็บ เป็นต้น ทำให้เราได้ทำกิจกรรมทางกาย ซึ่งประเทศไทยมีสิ่งดีๆ ที่เป็นวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอยู่แล้ว เราจึงต้องมีการพิสูจน์ว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นกิจกรรมทางกายที่ดีและเกิดผลดีกับร่างกาย
ดร.ยศชนัน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า องค์การอนามัยโลก (WHO)ได้แบ่งค่ากิจกรรมทางกายออกเป็น 3 ระดับ คือระดับเบา: การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเป็นระดับการเคลื่อนไหวน้อยมาก เช่น การยืนการนั่ง ระดับปานกลาง:การเคลื่อนไหวออกแรงที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ มีความหนักและเหนื่อยในระดับเดียวกับการเดินเร็ว การทำงานบ้าน และระดับหนัก:การเคลื่อนไหวร่างกายที่มีการทำซ้ำและต่อเนื่อง โดยใช้กล้าม เนื้อมัดใหญ่ เช่น การวิ่ง การเดินขึ้นบันได โดยมีอาการเหนื่อยหอบและพูดเป็นประโยคไม่ได้ แต่สำหรับFeelFitได้จำแนกการวัดระดับออกเป็น 5 ระดับ เพื่อให้ใกล้เคียงกับกิจกรรมในวิถีชีวิตของเรามากขึ้น
สำหรับ อาจารย์เจษฎา อานิล ภาควิชาวิศวกรรม ชีวการแพทย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงการศึกษาและพัฒนาเครื่อง FeelFit ว่า ได้คิดค้นและพัฒนามาเป็นระยะเวลา 5 ปีแล้วโดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. เพื่อให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่มากขึ้น และห่างไกล จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
"ผมมองว่าประเทศไทยนำเข้าเครื่องวัดออกกำลังกายจากต่างประเทศมาหลายยี่ห้อ และถ้าประเทศเราไม่ริเริ่มพัฒนาเอง เราก็จะเป็นผู้ตามเทรนต่างประเทศตลอด โจทย์ของผม คือทำอย่างไรถึงจะวัดค่ากิจกรรมทางกายโดยตอบโจทย์ การดำเนินชีวิตคนไทยในแต่ละวันได้ ทีมวิจัยใช้เวลาคิดค้นและทดลองจากผู้ใช้จริง มีการแก้ไขปรับปรุงมาจนถึงเวอร์ชัน ปัจจุบันจนได้รับรองคุณภาพมาตรฐานจากทางยุโรป" อาจารย์เจษฎา กล่าว
นอกจากนี้ อาจารย์เจษฎา ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงความพิเศษของ FeelFit ว่า ใช้หลักการ 2 อย่างคือราคาไม่แพงและเป็นการออกแบบเพื่อทุกคนใช้ได้ (Universal Design) สำหรับระดับการวัดแบ่งออกเป็น 5 ระดับกิจกรรมทางกาย ซึ่งเพิ่มจากที่ WHO แนะนำมา2 ระดับ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมคนไทย คือระดับเริ่มต้นเช่นการอ่านหนังสือ การนั่งพักผ่อนระดับน้อยเช่น การเดิน ระดับปานกลาง เช่น แอโรบิกระดับมากเช่นการวิ่ง และระดับมากที่สุดเช่น การปั่นจักรยาน โดยมีการประมวลผลทั้งระดับของกิจกรรมทางกาย ปริมาณการเผาผลาญพลังงาน จำนวนก้าว ระยะทาง เวลาที่ใช้งานตัวเครื่องซึ่งแสดงค่าพฤตกรรมเนืองนิ่ง และกระตุ้นให้เราขยับเขยื้อนร่างกาย
ขณะที่อาจารย์ภาคภูมิ ไข่มุก คณะบริหารธุรกิจ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ แบ่งปันให้ฟังในฐานะของนักกีฬาผู้ที่ทดลองใช้งานว่า หลังจากที่ได้ทดลองใช้และเปรียบเทียบ FeelFit กับอุปกรณ์วัดการเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ พบว่าเครื่อง FeelFit สามารถวัดค่าได้ตั้งแต่การเคลื่อนไหวระดับเบา ไปจนถึงระดับหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการเคลื่อนไหวช้าๆ การแกว่งแขน และการออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น วิ่งและปั่นจักรยาน เป็นต้น
"คนไทยต้องการอุปกรณ์ที่วัดค่าได้ง่ายเพื่อนำไปใช้โดยทันที และที่พิเศษคือ FeelFit วัดค่าการแกว่งแขน ลดพุงลดโรค ที่สสส.ได้แนะนำให้คนไทยออกกำลังกายได้อีกด้วย ซึ่งผมได้ลองแกว่งแขนโดยวัดค่ากิจกรรมทางกายกับFeelFitพบว่าใน 1 ชม. สามารถเผาผลาญได้ 220 แคลอรี่ เพราะฉะนั้นFeelFitตอบโจทย์พฤติกรรมของคนไทย และกระตุ้นให้คนไทยลุกขึ้นมาออกกำลังกายได้อีกด้วย นับว่าเป็นความสำเร็จของนักวิจัยไทยที่สามารถผลิตนวัตกรรมที่มี ประสิทธิภาพออกมาสู่สายตาคนทั้งโลก" อาจารย์ภาคภูมิ กล่าวทิ้งท้าย